สปาร์ฟลอกซาซิน (Sparfloxacin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

สปาร์ฟลอกซาซิน (Sparfloxacin) คือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน(Fluoroqui  nolone) ที่นำมาใช้รักษาอาการอักเสบจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย โดยตัวยาสามารถกระจายตัวเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้ดีไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง อวัยวะส่วนต่างๆในระบบทางเดินหายใจ อวัยวะของระบบสืบพันธุ์ น้ำนมมารดา น้ำดี  ถุงน้ำดี เป็นต้น

ยาสปาร์ฟลอกซาซิน มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน ดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 45% ก่อนที่จะถูกส่งไปยังอวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16 - 30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ประโยชน์และสรรพคุณหลักๆของยาสปาร์ฟลอกซาซินได้แก่ การรักษาการติดเชื้อของไซนัส/ไซนัสอักเสบ หลอดลม/หลอดลมอักเสบ ไปจนถึงอาการปอดบวม แต่สามารถใช้ได้ผลกับเชื้อแบคที เรียที่ตอบสนองกับยานี้เท่านั้น

สำหรับอาการข้างเคียงที่ดูจะโดดเด่นของยานี้นั้นเป็นอาการทางผิวหนังโดยยาจะกระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงแดดได้มากขึ้น

ก่อนการสั่งใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน แพทย์อาจมีคำถามประกอบกับการพิจารณาเพื่อการสั่งจ่ายยาอาทิ

  • เคยแพ้ยาตัวนี้หรือไม่
  • อายุ: เพราะในทางคลินิกแนะนำให้ใช้ยากับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • รับประทานยาอะไรอยู่บ้างด้วยสปาร์ฟลอกซาซินสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นได้หลายรายการ (กล่าวถึงในหัวข้อ ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มีโรคประจำตัวอะไรบ้างเพราะยาสปาร์ฟลอกซาซินอาจทำให้อาการโรคเหล่านั้นมีอาการ รุนแรงมากขึ้นเช่น โรคสมอง  โรคไขสันหลัง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคไต

เมื่อแพทย์มีคำสั่งจ่ายยาสปาร์ฟลอกซาซิน ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมเช่น ยานี้รับประทานช่วงท้องว่างหรือพร้อมอาหาร อาจจะรับประทานพร้อมกับนมหรือกาแฟก็ได้ ทางเภสัชกรรมจะแนะนำให้รับประทานพร้อมน้ำดื่มที่สะอาดเป็นปริมาณมากพอเพื่อช่วยลดผล กระทบบางประการของยา

สำหรับขนาดรับประทานของยานี้จะขึ้นกับอาการป่วยและชนิดของโรค/แบคทีเรีย โดยทั่วไปยานี้สามารถรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง และใช้เวลาของการรับประทานตามคำสั่งของแพทย์ ผู้ป่วยต้องมีวินัยต่อการใช้ยาชนิดนี้กล่าวคือ รับประทานตรงเวลา ถูกขนาด ไม่ปรับลดหรือเพิ่มขนาดการรับประทานด้วยตนเอง เมื่อมีการรักษาด้วยยานี้หากไม่ทำให้อาการป่วยจากการติดเชื้อดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน ผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาใหม่โดยเร็ว

สปาร์ฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

สปาร์ฟลอกซาซิน

ยาสปาร์ฟลอกซาซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาอาการของโรคปอดบวม
  • รักษาภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

สปาร์ฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาสปาร์ฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยว ข้องกับสารพันธุกรรมในตัวแบคทีเรียที่มีชื่อว่า DNA gyrase ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถจำลองโครง สร้างสารพันธุกรรมของตัวเองได้ ส่งผลให้หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

สปาร์ฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสปาร์ฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด

สปาร์ฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

 ยาสปาร์ฟลอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานวันแรก 400 มิลลิกรัม วันถัดมาให้รับประทาน 200 มิลลิ กรัมครั้งเดียว/วันเป็นเวลา 9 วัน สามารถรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ไม่แนะนำการใช้ยานี้ด้วยยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในผลข้างเคียงของยานี้ในคนกลุ่มอายุนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสปาร์ฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสปาร์ฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาสปาร์ฟลอกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามการลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้งอาจทำให้อาการโรคทรุดลงอีกทั้งเสี่ยงต่อการ ดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย

สปาร์ฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสปาร์ฟลอกซาซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

  • อาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อย: เช่น มีอาการคันตามผิวหนัง, ผิวหนังมีลักษณะเป็นปื้นแดง, แสบผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด, มีผิวบวม
  • อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยพบเห็นแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้: เช่น ปวดหรือเป็นตะคริวที่ท้อง, ถ่ายเหลวจนบางครั้งอาจมีเลือดปน (อุจจาระเป็นเลือด), มีไข้, ปวด, รู้สึกคล้ายเกิดการอักเสบ (ปวดบวม แดง ร้อน) ของไหล่และมือ
  • อาการข้างเคียงบางประเภทหากเกิดขึ้นแล้วควรต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เกิดภาวะทางจิตอย่างเช่น ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีภาวะตัวสั่น

อนึ่ง: อาการข้างเคียงหลายอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ยาให้เหมาะสม อาการข้างเคียงเหล่านั้นก็อาจหายไปได้เอง เช่น การรับประทานยาพร้อมอาหารสามารถลดและบรรเทาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร-ลำไส้, หรือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงในช่วงที่มีการใช้ยานี้ก็สามารถลดความเสี่ยงหรือผลกระทบทางผิวหนังได้

มีข้อควรระวังการใช้สปาร์ฟลอกซาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับยาที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม (Aluminium เช่น Aluminium hydroxide), แคลเซียม (เช่น Calcium carbonate), แมกนีเซียม (Magnesium เช่น Magnesium hydroxide), หรือกลุ่มวิตามิน, อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ, หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านั้นร่วมกันควรเลี่ยงและรับประทานยากลุ่มดังกล่าวให้ห่างจากการรับประทานยาสปาร์ฟลอกซาซินประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงโดยเฉพาะในช่วงเวลา 10 - 15 นาฬิกา กรณีจำเป็นต้องออกแดดให้ ใช้ร่ม ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ใส่หมวก สวมแว่นกันแดด หรือจะใช้โลชั่นป้องกันแสงยูวีร่วมด้วยก็ได้
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน หากมีอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยานี้สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงประเภทหนึ่งคือ เกิดภาวะเส้นเอ็นของผู้ป่วยปริแตก(ปวดในตำแหน่งนั้นมากจนไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อ/ข้อนั้นๆได้) หากพบอาการดังกล่าวต้องหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

 

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสปาร์ฟลอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

สปาร์ฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสปาร์ฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น        

  • การใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของเกลืออะลูมิเนียม แมกนีเซียม รวมถึงยาที่มีส่วนประกอบของธาตุสังกะสี ธาตุเหล็ก อาจทำให้การดูดซึมและการกระจายตัวในร่างกายของยาสปาร์ฟลอกซาซินลดลง ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline อาจทำให้ปริมาณของยาขยายหลอดลมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยา Methotrexate อาจทำให้ไตกำจัดยา Methotrexate ออกจากร่างกายได้น้อยลงจึงอาจส่งผลเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายจากการรักษาได้ หากจำเป็นต้อง ใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาสปาร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับยา Probenecid สามารถทำให้ยาสปาร์ฟลอกซาซินอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นซึ่งการใช้ร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาสปาร์ฟลอกซาซินอย่างไร?

ควรเก็บยาสปาร์ฟลอกซาซิน: เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

สปาร์ฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสปาร์ฟลอกซาซิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Sparx (สปาร์ก) Wockhardt
Sparinta (สปารินตา) Intas
Zagam (ซาแกม) Mylan Pharmaceuticals Inc.

 

บรรณานุกรม

1 https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sparfloxacin-oral-route/description/drg-20066071  [2021,Dec18]  

2 https://www.mims.com/India/drug/info/sparfloxacin/?type=full&mtype=generic#Dosage   [2021,Dec18] 

https://www.mims.com/india/drug/info/sparfloxacin?type=full&mtype=generic   [2021,Dec18] 

4 https://www.mims.com/India/drug/info/SPARX/SPARX%20tab  [2021,Dec18] 

5 https://www.mims.com/India/drug/info/SPARINTA/SPARINTA%20tab   [2021,Dec18]