ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องรักษา “ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น” (ตอนที่ 1)
- โดย ปราง เทพินทราภิรักษ์
- 9 มกราคม 2556
- Tweet
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว ว่าโรงพยาบาลศิริราชประสบความสำเร็จเป็น แห่งแรกในเอเชีย ในการผ่าตัดทารกในครรภ์ด้วยการส่องกล้อง รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น
โรงพยาบาลศิริราชทำการผ่าตัดแยกทารกแฝดที่มีการถ่ายเลือดระหว่างกันได้ เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2552 จึงพัฒนาการผ่าตัดทารกในครรภ์ ซึ่งป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การทำหัตถการระบายน้ำท่วม ช่องเยื่อหุ้มหัวใจของทารกในครรภ์ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 300 ราย จนมาถึงผู้ป่วยรายนี้ที่มี ปัญหาภาวะอุดกั้นในกระเพาะ ปัสสาวะ
แต่ปัญหาคือ ยังอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้การผ่าตัดลำบากมาก แต่หากไม่รักษาโอกาสเสียชีวิตสูง จึงมีการพัฒนา เทคนิคการส่องกล้องผ่าตัดทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยกล้องและ เครื่องมือขนาดเล็ก ที่เรียกว่า ฟีโตสโคป (Fetoscope) เพื่อ ช่วยชีวิตของทารกขึ้น จนสามารถผ่าตัดรักษาทารกในครรภ์ที่ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย
ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น (Posterior Urethral Valve) เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ทารกบางคนมีความ ผิดปกติในพัฒนาการ เกิดเป็นเนื้อเยื่อส่วนเกิน ที่เจริญเติบโตมากกว่าที่ควรจะเป็น ในบริเวณท่อปัสสาวะ ใกล้กับกระเพาะ ปัสสาวะ เนื้อเยื่อส่วนเกินดังกล่าวนั้น ไปขัดขวางการทำงานของท่อปัสสาวะ ไม่ให้สามารถลำเลียงปัสสาวะจากกระเพาะ ปัสสาวะไปยังปลายอวัยวะเพศชาย เพื่อปล่อยออกนอกร่างกายได้
เมื่อปัสสาวะ ไม่ได้รับการปล่อยออกจากร่างกาย ตามปกติ อวัยวะต่างๆของทางเดินปัสสาวะ (ไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต และท่อปัสสาวะ) อาจเกิดการบวมหรือพองได้ ซึ่งหากอวัยวะต่างๆ ดังกล่าว เกิดอาการบวมพองขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถ ก่อให้เกิดความเสียหาย ร้ายแรงแก่เนื้อเยื่อและเซลล์ ต่างๆของอวัยวะเหล่านี้
เมื่อพูดถึงความร้ายแรงของภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นนั้น แต่ละคนหรือแต่ละกรณีก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับ ระดับความเสียหายในท่อปัสสาวะของเด็ก ในกรณีไม่ร้ายแรง อาการของเด็กอาจยังไม่ปรากฎจนกระทั่งอายุ 10 ปี หรือมาก กว่านั้น อาการในเด็กของกรณีนี้จะไม่ร้ายแรง และอาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection)
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีความยากลำบากในการปัสสาวะ หรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ร่วมด้วย ในกรณีร้ายแรง หากทารกแรกเกิดมีอาการไตบวม (Hydronephrosis) ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นจะถูกวินิจฉัย ภายในเวลาไม่นานหลัง คลอด
แต่สำหรับปัจจุบัน ที่มีการทำ อัลตราซาวด์ก่อนคลอด (Prenatal ultrasound) กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็มีการตรวจพบภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น ระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้นเรื่อยๆ การตรวจพบแต่เนิ่นๆแบบนี้ ย่อมหมายถึงการรักษาอาการต่างๆ ได้ทัน ก่อนที่จะร้ายแรง หรือก่อความเสียหาย มากขึ้น
แหล่งข้อมูล:
- ศิริราช ผ่าตัดทารกในครรภ์ รักษากระเพาะปัสสาวะอุดกั้น http://www.naewna.com/local/36115 [2013, January 8].
- Posterior urethral valves. http://www.childrenshospital.org/az/Site1471/mainpageS1471P1.html [2013, January 8].