วาโซเพรสซิน แอนาล็อก (Vasopressin analoque)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วาโซเพรสซิน แอนาล็อกอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ปัสสาวะรดที่นอน (Bedwetting)
- เบาจืด (Diabetes insipidus)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- เดสโมเพรสซิน (Desmopressin)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ: คือยาอะไร
วาโซเพรสซิน แอนาล็อก (Vasopressin analoque) คือ ยาที่เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์คล้าย ฮอร์โมนชื่อ ‘วาโซเพรสซิน (Vasopressin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมีหน้าที่ร่วมกับไตเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย)’ โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างทางเคมีที่ใกล้เคียงกันก็ได้
ทางคลินิก นำยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกมาใช้รักษาอาการปัสสาวะรดที่นอน, อาการปัสสาวะบ่อยและถี่ในตอนกลางคืน, อาการโรคเบาจืด, รวมถึงบำบัดอาการเลือดแข็งตัวช้าที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีเลือดออกมาก
ปัจจุบัน อาจจำแนกกลุ่มยาวาโซเพรสซินแอนาล็อกออกเป็นรายการย่อย เช่น
- Desmopressin: เป็นยาชนิดสังเคราะห์โดยเลียนแบบฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ใช้รักษาอาการโรคเบาจืด อาการปัสสาวะรดที่นอน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งชนิดยาฉีด ยารับประทาน และยาพ่นสเปรย์ทางจมูก อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยานี้ คือ ปวดหัว ใบหน้าแดง คลื่นไส้ เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ รวมถึงมีอาการชัก, ในต่างประเทศจะพบเห็นภายใต้ชื่อการค้าว่า Desmo Melt, Minirin, Melt, Octim และ Stimate
- Felypressin: มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว มักจะนำไปผสมร่วมกับยาชาเฉพาะที่อย่าง เช่น Prilocaine
- Ornipressin: เป็นอนุพันธุ์สังเคราะห์ของฮอร์โมนวาโซเพรสซินอีกตัวหนึ่ง ถูกนำมาทดแทนการใช้ยา Epinephrine ที่ใช้ห้ามเลือดของบาดแผล ด้วย Ornipressin มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า
- Selepressin: เป็นยาที่จัดว่ามีฤทธิ์แรง ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาที่ชื่อว่า Ferring pharmaceuticals นำมาใช้บำบัดอาการความดันโลหิตต่ำที่มีเหตุจากภาวะช็อกจากติดเชื้อ (Septic shock)
- Terlipressin: ถูกนำมาบำบัดอาการความดันโลหิตต่ำ ถูกนำมาใช้เมื่อยา Norepinephrine ไม่สามารถรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำได้ นอกจากนี้ยังนำมาบำบัดอาการ หลอดเลือดขอด/โป่งพองที่หลอดอาหาร ชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ Teripress และ Glypressin
อนึ่ง: ยาบางรายการในกลุ่มนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย อาทิ Desmopressin โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ทั้งยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่นสเปรย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีถือเป็นข้อจำกัดการใช้ยาวาโซเพรสซินแอนาล็อก เช่น
- ผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่มนี้
- ผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติตั้งแต่ระดับกลางไปจนกระทั่งรุนแรง
- มีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์โดยมีการตรวจร่างกายผู้ป่วยก่อนเสมอ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลของยากลุ่มวาโซเพรสซินแอนาล็อกได้จากแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรที่ประจำอยู่ในสถานพยาบาลหรือตามร้านขายยาโดยทั่วไป
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการปัสสาวะรดที่นอน
- บำบัดอาการโรคเบาจืด
- ภาวะโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia A)
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลุ่มยาวาโซเพรสซินแอนาล็อกมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต ทำให้จำกัดปริมาณน้ำในร่างกายไม่ให้ถูกส่งผ่านออกไปเป็นปัสสาวะ, เพิ่มการดูดกลับของน้ำจากปัสสาวะ, นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดเกิดการหดตัว, จึงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และช่วยทำให้ลดภาวะเลือดออก, จากกลไกที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาพ่นสเปรย์ทางจมูก
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยา/การบริหารยาในกลุ่มวาโซเพรสซินแอนาล็อกต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะอาศัยชนิดของโรคและสภาพอาการของผู้ป่วยมาประกอบเพื่อสั่งจ่ายยาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นขนาดการใช้ยาจึงแตกต่างกันในแต่ละกรณี จึงไม่ขอกล่าวในบทความนี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวาโซเพรสซินแอนาล็อก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อก สามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา/ใช้ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกให้ตรงเวลา
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มวาโซเพรสซินแอนาล็อกสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- รู้สึกสับสน
- มีอาการชัก
- วิงเวียน
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปวดหัว
- กระหายน้ำ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ใบหน้า-มือบวม
- อ่อนเพลีย
- บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
- ความจำเสื่อม
- รวมถึงอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้วาโซเพรสซิน แอนาล็อกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วาโซเพรสซิน แอนาล็อก: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยานี้ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง
- *หยุดการใช้หากพบอาการแพ้ยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มวาโซเพรสซิน แอนาล็อกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยา Desmopressin ร่วมกับยา Hydrocodone จะทำให้เกิดอาการบวมน้ำ รวมถึงมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ยาบางตัวสามารถรบกวนการทำงานของยา Desmopressin ทำให้ฤทธิ์ในการต้านการขับ ปัสสาวะลดลง ยาดังกล่าว เช่นยา Lithium, Heparin, Demeclocycline, Noradrenaline, รวมไปถึงแอลกอฮอล์, ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยา Desmopressin
ควรเก็บรักษาวาโซเพรสซิน แอนาล็อกอย่างไร?
ควรเก็บยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อก: เช่น
- เก็บยาภายใต้เงื่อนไขตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
วาโซเพรสซิน แอนาล็อกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวาโซเพรสซิน แอนาล็อก มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DesmoMelt (เดสโมเมลท์) | Ferring GmbH |
Glypressin (ไกลเพรสซิน) | IS Pharma |
Selepressin (ซีเลเพรสซิน) | Ferring |
Teripress (เทอริเพรส) | MEDICON PHARMA LAB |
Minirin (dDAVP) (มินิริน) | Ferring |
Minirin Melt (มินิริน เมลท์) | Ferring |
Apo-Desmopressin Spray (เอโป-เดสโมเพรสซิน สเปรย์) | Apotex |
Apo-Desmopressin Tablet (เอโป-เดสโมเพรสซิน แท็บเล็ท) | Apotex |
Octostim (อ็อกโทสทิม) | Ferring |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vasopressin_analogue [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Vasopressin_receptor_agonists [2022,Sept10]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18683484/ [2022,Sept10]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/vasopressin-injection-route/description/drg-20066681 [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Desmopressin [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Felypressin [2022,Sept10]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8214531/ [2022,Sept10]
- https://www.drugeruptiondata.com/drug/id/1365 [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/vasopressin?mtype=generic [2022,Sept10]