วัคซีนฮิบ (Haemophilus b vaccine: Hib Vaccine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือวัคซีนอะไร?
- วัคซีนฮิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้อย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีขนาดการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งฉีดวัคซีนควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดวัคซีนฮิบควรทำอย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนฮิบย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวัคซีนฮิบอย่างไร?
- วัคซีนฮิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัคซีนคอตีบ (Diphtheria vaccine)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- วัคซีนโปลิโอ(Polio vaccine)
- วัคซีนไอกรน (Pertussis vaccine)
- วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
บทนำ:คือวัคซีนอะไร?
วัคซีนฮิบ (Hib Vaccine)คือ วัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus influenzae type b (ย่อว่า’ฮิป/Hib’), เชื้อฮิปเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่สามารถอาศัยอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนที่มีสุขภาพดีโดยไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ, แบคทีเรียฮิบจะแพร่กระจายในลักษณะคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยเชื้อฮิบจะผ่านไปกับละอองของเหลวจากการไอและจามของมนุษย์, การติดเชื้อฮิบในทารกและเด็กเล็กสามารทำให้เกิดโรคปอดบวม, กล่องเสียงอักเสบ, หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้อย่างง่ายดาย, ดังนั้นปัจจุบันจึงใช้เป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือกโดยเฉพาะในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อฮิบ
เชื้อฮิบ เป็นแบคทีเรียที่มีเปลือกหรือแคปซูลห่อหุ้มตัว บนเปลือก/แคปซูลจะมีโครงสร้างของสารโพลีแซ็กคาไรด์เป็นส่วนประกอบหลัก นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่าบนแคปซูลของเชื้อHib ยังมีสารที่เรียกว่า พอลิไรโบซิล ไรบิทอล ฟอสเฟต(PRP) นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่าแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ต่อต้านสารPRP น่าจะป้องกันการติดเชื้อฮิบได้
จากการวิจัยทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาวัคซีนฮิบออกมา 3 แบบ ดังนี้
1. วัคซีนชนิดโพลีแซ็กคาไรด์: เป็นวัคซีนฮิบตัวแรกที่ได้รับอนุมัติให้วางตลาด ครั้งแรกในปีพ.ศ.2528 โดยมีกลไกการทำงานคล้ายวัคซีนโพลีแซ็กคาไรด์ชนิดอื่น แต่พบว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า18 เดือนไม่ดีพอ ทำให้วัคซีนชนิดโพลีแซ็กคาไรด์ถูกถอนออกจากตลาดในเวลาต่อมา(พ.ศ.2531)
2. วัคซีนคอนจูเกต: ด้วยข้อบกพร่องของวัคซีนชนิดโพลีแซ็กคาไรด์ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์หาหนทางพัฒนาวัคซีนแบบคอนจูเกตโดยเพิ่มโปรตีนจากเชื้อก่อโรคบางชนิดลงบนโพลีแซ็กคาไรด์ของเชื้อฮิบ โปรตีนดังกล่าวช่วยเพิ่มความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันวัคซีนคอนจูเกตยังแบ่งเป็น3 ประเภทโดยใช้โปรตีนพาหะจากเชื้อก่อโรคที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนด เช่น โปรตีนจาก’สารชีวพิษเชื่อง(Toxiod/ทอกซอยด์)’ของเชื้อบาดทะยัก, โปรตีนจากเชื้อคอตีบกลายพันธุ์, และโปรตีนจากเชื้อก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
3. วัคซีนรวม: โดยนำวัคซีนฮิบผสมร่วมกับ ‘วัคซีนคอตีบ-วัคซีนบาดทะยักชนิด ท็อกซอยด์-วัคซีนไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-และวัคซีนตับอักเสบบี’, องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้รับรองการผสมผสานวัคซีนฮิบดังกล่าว และนำมาใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
ข้อจำกัดประการหนึ่งของวัคซีนฮิบ คือ “ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus influenzae ชนิดอื่น, นอกจาก ‘type b’ เท่านั้น ”
อนึ่ง: ทางการแพทย์กำหนดการฉีดวัคซีนฮิบเข้าทางกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาของ’เด็กทารก’ ดังนี้:
- เข็มแรกฉีดที่อายุ 2 เดือน, เข็มที่2 ฉีดอายุเข้า 4 เดือน, เข็มที่3 ฉีดที่อายุ 6 เดือน
- หากจำเป็น สามารถฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อทารกมีอายุ 12-15 เดือนโดยเป็นไปตามความเห็นของแพทย์
หมายเหตุ: หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนฮิบ อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด หรือ มีไข้
วัคซีนฮิบที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน มีทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยว เช่น ActHIB , Hiberix, และVaxem-Hib, ส่วนวัคซีนฮิบแบบรวมที่ประกอบด้วยวัคซีนชนิดอื่น เช่น วัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ และโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารพบเห็นในตลาดยา อาทิเช่น INFANRIX-IPV/Hib , INFANRIX Hexa , PEDIACEL , PENTAXIM และ Quinvaxem, เป็นต้น
ทั่วไป ทารกที่ได้รับวัคซีนฮิบเข็มที่ 2 หรือ 3 มักจะสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า95%, แม้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนฮิบจะอยู่กับร่างกายได้ยาวนานก็จริง, แต่ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะอยู่กับร่างกายไปตลอดชีวิตหรือไม่
วัคซีนฮิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้อย่างไร?
วัคซีนฮิบใช้ป้องกันการติดเชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type b) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ปอดบวม, กล่องเสียงอักเสบ, เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ, ข้ออักเสบติดเชื้อ, กระดูกอักเสบ, เยื่อบุหัวใจอักเสบ, และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, ซึ่งทางการแพทย์แนะนำใช้ ’วัคซีนฮิบกับเด็ก’ที่มี ‘ช่วงอายุ 2-59 เดือน’
วัคซีนฮิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
Hib เป็นแบคทีเรียที่มีเปลือกหุ้ม(Polysaccharide capsule) วัคซีนฮิบจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน ที่มีความจำเพาะในการจับกับเปลือกหุ้มของเชื้อฮิบ ทำให้แอนติบอดีดังกล่าวเข้าไปทำลายโครงสร้างของเชื้อฮิบจน เป็นเหตุให้เชื้อดังกล่าวไม่สามารถดำรงชีวิตได้อีกต่อไป
วัคซีนฮิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบจำหน่ายของวัคซีนฮิบ:
- วัคซีนเดี่ยวที่มีองค์ประกอบของเชื้อตาย(Hib capsular polysaccharide): ลักษณะเป็นผงแห้ง ขนาดบรรจุ 0.5 มิลลิลิตร, ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ, และมีสารละลายโซเดียมคลอไรด์เป็นตัวทำละลาย
- วัคซีนรวมกับ วัคซีนคอตีบ วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ วัคซีนไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนโปลิโอ
วัคซีนฮิบมีขนาดการใช้อย่างไร?
ขนาดการใช้วัคซีนฮิบ:
- วัคซีนเดี่ยวฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ช่วงอายุ 2, 4และ 6 เดือน, สามารถกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มที่อายุ 15 ถึง 18 เดือน อาจให้วัคซีนฮิบในทารกที่มีอายุ 6 สัปดาห์ ขึ้นไปโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- วัคซีนฮิบชนิดรวม ให้ฉีดตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยาของ ผลิตภัณฑ์
***หมายเหตุ:
- ห้ามใช้วัคซีนฮิบกับทารกมี่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์
- ****ขนาดและระยะเวลาในการใช้วัคซีนที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้วัคซีนของแพทย์ได้, การใช้วัคซีนหรือยาใดๆสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งฉีดวัคซีนควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งฉีดวัคซีนทุกชนิดที่รวมถึงวัคซีนฮิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำลาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเลือด, โรคมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะวัคซีนฮิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ใน’ภาวะตั้งครรภ์’ หรือ ‘กำลังให้นมบุตร’ เพราะยา/วัคซีนหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดวัคซีนฮิบควรทำอย่างไร?
กรณีลืมมารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย สามารถติดต่อสถานพยาบาลหรือคลินิก เพื่อทำการนัดหมายวันรับการฉีดวัคซีนใหม่
วัคซีนฮิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
วัคซีนฮิบสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต่อระบบต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ง่วงนอน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ระคายเคือง ปวด/เจ็บ บวม แดงเล็กน้อย บริเวณที่ฉีดวัคซีน
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนฮิบย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้วัคซีนฮิบ: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดนี้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์, สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร, เด็ก, และผู้สูงอายุ, โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้วัคซีนโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้วัคซีนที่หมดอายุแล้ว
- ศึกษาเรื่อง ขนาดการฉีดวัคซีน, ผลข้างเคียง, ข้อห้าม, ข้อควรระวัง, ด้วยความ เข้าใจ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีนฮิบ
- กรณีพบอาการแพ้วัคซีนฯ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, ตัวบวม, ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- แจ้งแพทย์ถึงประวัติ โรคประจำตัว, และมียาชนิดใดที่ใช้อยู่บ้างโดยละเอียด, ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- และควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมวัคซีนฮิบด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, และสมุนไพรต่างๆ เพราะยา/วัคซีนมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/วัคซีนทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ‘ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)’ รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
วัคซีนฮิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ทางคลินิก การใช้วัคซีนฮิบ’ชนิดเดี่ยว’ร่วมกับ’วัคซีน’ป้องกัน ’โรคหัด, คางทูม, หัดเยอรมัน, หรือ โรคไวรัสตับอักเสบบี,’ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละชนิด, เพียงแต่การฉีดวัคซีนเดี่ยวมากกว่าหนึ่งชนิดควรเปลี่ยนตำแหน่งฉีดบนร่างกาย, ห้ามฉีดวัคซีนซ้ำในบริเวณเดิม
การใช้วัคซีนฮิบร่วมกับยาประเภท แอนติเมทาโบไลท์(Antimetabolites), Alkylating agents, Cytotoxic drugs , Corticosteroids, รวมถึงรังสีรักษาสามารถทำให้การตอบสนองของร่างกายต่อวัคซีนลดลง
ควรเก็บรักษาวัคซีนฮิบอย่างไร?
ควรเก็บรักษาวัคซีนฮิบ: เช่น
- เก็บวัคซีนภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(๐C)
- ห้ามเก็บวัคซีนในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ห้ามใช้วัคซีนที่เปิดใช้แล้วเกิน 24 ชั่วโมง
- เก็บวัคซีนในที่มิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บวัคซีนในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บวัคซีนให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ทิ้งวัคซีนที่หมดอายุลงบนพื้นดินและแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
- ไม่เก็บวัคซีนที่หมดอายุ
วัคซีนฮิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
วัคซีนฮิบมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย |
ActHIB (แอกฮิบ) | Sanofi Pasteur |
Hiberix (ไฮเบอริกซ์) | GlaxoSmithKline |
Vaxem-Hib (วาเซ็มฮิบ) | Biogenetech Co., Ltd. |
INFANRIX-IPV/Hib (อินแฟนริกซ์-ไอพีวี/ฮิบ) | GlaxoSmithKline |
INFANRIX Hexa (อินแฟนริกซ์ เฮกซา) | GlaxoSmithKline |
PEDIACEL (พิไดอะเซล) | Sanofi pasteur |
PENTAXIM (เพนตาซิม) | Sanofi pasteur |
QUINVAXEM (ควินวาเซ็ม) | Biogenetech Co., Ltd. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hib_vaccine [2022,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Haemophilus_influenzae [2022,June11]
- https://www.drugs.com/cg/hib-vaccine.html [2022,June11]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1062410028811C-SPC.pdf [2022,June11]
- https://www.drugs.com/monograph/haemophilus-b-vaccine.html#patient-advice [2022,June11]
- https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/hib/hcp/about-vaccine.html [2022,June11]
- https://www.pdr.net/drug-summary/Hiberix-haemophilus-b-conjugate-vaccine--tetanus-toxoid-conjugate--1312 [2022,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hib_vaccine#Mechanisms_of_action [2022,June11]
- https://www.fda.gov/media/74395/download [2022,June11]
- https://www.fda.gov/files/vaccines,%20blood%20&%20biologics/published/Package-Insert---HIBERIX.pdf
- https://pidst.or.th/userfiles/33_%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%9A.pdf [2022,June11]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Summary/1C_128_44_N_Vaxem-Hib.pdf [2022,June11]
- https://ca.gsk.com/media/6248/infanrix-ipv-hib.pdf [2022,June11]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR2C1062450001611C-SPC.pdf [2022,June11]
- https://pdf.hres.ca/dpd_pm/00015723.PDF [2022,June11]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR2C1062470002211C-SPC.pdf [2022,June11]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Summary/2C_4_52_NBC_QUINVAXEM%20pdf [2022,June11]
- http://nvi.go.th/index.php/vaccine-knowledge/optional-vaccine [2022,June11]