วัคซีนไอกรน (Pertussis vaccine)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 23 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- วัคซีนป้องกันไอกรนมีกี่ประเภท?
- ประเภทของวัคซีนรวมที่มีวัคซีนป้องกันไอกรนผสมอยู่ด้วย
- มีข้อบ่งใช้ของวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
- มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันไอกรนมีอะไรบ้าง?
- ตารางเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- การใช้วัคซีนป้องกันไอกรนช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- กรณีผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือรับวัคซีนไม่ครบ
- มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
- วัคซีนป้องกันไอกรนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- วัคซีน (Vaccine)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- วัคซีนคอตีบ (Diphtheria vaccine)
- วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
บทนำ
โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bordetella pertussis การติดต่อโรคไอกรนเกิดจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อฯดังกล่าวเข้าไปโดยการสัมผัสกับน้ำลายหรือเสมหะเช่น การไอ จาม หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ บางครั้งเกิดจากการใช้ภาชนะร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน
โรคไอกรนในเด็กโตและในผู้ใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่ในเด็กเล็กอาการไอจะรุนแรงจนเด็กอาจหยุดหายใจได้ การที่โรคนี้วินิจฉัยได้ยากในเด็กโตและในผู้ใหญ่เพราะอาการไม่ค่อยชัดเจนและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยต้องใช้การเพาะเชื้อเพื่อตรวจรหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียโรคนี้ ซึ่งการตรวจเหล่านี้มักไม่สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทั่วไปจึงทำให้การวินิจฉัยโรคไอกรนส่วนใหญ่เป็นการวินิจฉัยจากอาการที่ไอติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์โดยมีลักษณะอาการอย่างน้อย 1 ใน 3 ข้อดังนี้คือ
- ไอเป็นชุดๆอย่างรุนแรง (Paroxysms)
- อาการหายใจเข้ามีเสียงดัง (Whooping)
- มีอาการอาเจียนจากการไอ
วัคซีนโรคไอกรนสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายจึงทำให้เด็กโตและผู้ใหญ่ มักเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็ก จากข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของประเทศไทย โรคไอกรนใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปีพ.ศ. 2545 - 2554) มักพบผู้ป่วย 5 - 25 รายต่อปีคิดเป็นอัตราป่วย 0.01 - 0.04 ต่อประชากร 1 แสนคน ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยน้อยลงมาก ซึ่งวิธีการป้องกันโรคไอกรนนี้ ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน/วัคซีนไอกรน (Pertussis vaccine)
วัคซีนป้องกันไอกรนมีกี่ประเภท?
วัคซีนป้องกันไอกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท/ชนิดตามชนิดการผลิตของวัคซีนคือ
1. วัคซีนไอกรนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine หรือ Killed vaccine): คือวัคซีป้องกันไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell vaccine) โดยเป็นชนิดวัคซีนที่ทำจากเชื้อแบคทีเรียโรคไอกรนทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว วัคซีนชนิดนี้มักทำให้เกิดปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด บางครั้งหลังฉีดวัคซีนนี้อาจมีไข้ร่วมด้วย อาการมักจะเริ่มหลังฉีด 3 - 4 ชั่วโมงและจะคงอยู่ประมาณ 1 วัน
2. วัคซีนไอกรนชนิดที่ทำจากบางส่วนเฉพาะที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกัน (Subunit vaccine) ของแบคทีเรียโรคไอกรน: คือวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular vac cine) ซึ่งวัคซีนกลุ่มนี้มักมีปฏิกิริยาภายหลังการฉีดวัคซีนน้อย
กลไกการทำงานของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะเหมือนกันคือ จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ โดยร่างกายผู้ได้รับวัคซีนนี้เป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันนั้นเองที่เรียกว่า Active immunization วัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันโรคไอกรน ถึงแม้ว่าจะป้องกันโรคไม่ได้ทั้งหมดแต่ทำให้อัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคลดลง
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไอกรนไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนป้องกันไอกรนชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูป วัคซีนชนิดรวมโดยวัคซีนหนึ่งเข็มจะประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ และอาจมีวัคซีนคอตีบประกอบอยู่ด้วย
ประเภทของวัคซีนรวมที่มีวัคซีนป้องกันไอกรนผสมอยู่ด้วย
ปัจจุบันไม่มีวัคซีนป้องกันไอกรนชนิดเดี่ยวจำหน่าย แต่จะเป็นวัคซีนประเภท/ชนิดรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนไอกรนรวมกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆดังนี้
1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell) หรือเรียกว่าวัคซีน DTwP: เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ/สารชีวพิษ (Toxin) ของแบคทีเรียคอตีบและของแบคทีเรียบาดทะยักและทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีที่เรียกว่า ท็อกซอยด์ Toxoid และจากตัวแบคทีเรียของเชื้อไอกรนทั้งเซลล์ที่ทำให้ตาย (Inactivated pertussis vaccine) ซึ่งวัคซีนรวมนี้ใช้สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี
2. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular) หรือเรียกว่า วัคซีน DTaP: เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ (Toxin) และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีเรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ของเชื้อฯคอตีบและบาดทะยัก ส่วนเชื้อไอกรนทำจากส่วนประกอบเฉพาะบางส่วนของตัวเชื้อไอกรนวัคซีน DTaP จะมีปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ต่างๆน้อยกว่าวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) เช่น ไข้ อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน และวัคซีนรวมชนิดนี้ใช้สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีได้เช่นกันกับชนิดแรก
ทั้งนี้ทั้ง DTwP และ DTaP มีขนาดและวิธีใช้ที่เหมือนกัน แต่ DTaP มีราคาแพงกว่าโดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และ DTaP ไมได้บรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข DTaP จะถูกเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของ DTwP โดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไข้เช่น เด็กที่มีโรคทางสมองเช่น เด็กโรคลมชัก หรือเด็กที่เคยมีปฏิกิริยามากมาก่อนต่อ DTwP
3. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular) สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่หรือเรียกว่า วัคซีน Tdap: เป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีนในข้อ 2 แต่มีการปรับลดปริมาณ ท็อกซอยด์ของเชื้อคอตีบและปริมาณของเชื้อไอกรนลดลง แต่คงปริมาณท็อกซอยด์ของเชื้อบาดทะยักไว้เท่าเดิม ซึ่งการให้วัคซีนชนิดนี้เหมาะสมกับเด็กโตและผู้ใหญ่เพราะเด็กโตและผู้ใหญ่มีความไว/การตอบสนองต่อวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าในเด็กเล็ก จึงสามารถลดปริมาณเชื้อฯลงได้เพื่อลดผล ข้างเคียงของวัคซีน แต่ยังคงกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีข้อบ่งใช้ของวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
ข้อบ่งใช้ของวัคซีนไอกรนคือ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็ก (Primary immunization) ปัจจุบันวัคซีน ชนิดนี้อยู่ในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อฉีดให้แก่เด็ก โดย 3 เข็มแรกฉีดเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน วัคซีนดังกล่าวจะเป็นวัคซีนรวมประกอบด้วยวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และอาจมีวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย ดังนั้นทำให้การฉีดวัคซีนชุดแรกนี้จะทำให้เด็กได้รับภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนและโรคอื่นๆจากวัคซีนรวมด้วยเช่นกัน ภายหลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นชนิดวัคซีนรวม (คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน) อีก 2 ครั้งเมื่อเด็กอายุ 18 เดือนและในช่วงอายุ 4 - 6 ปีตามลำดับ
การใช้วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular vaccine) สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่หรือเรียกว่า วัคซีน Tdap ให้ผลภูมิคุ้มกันโรคต่อทั้ง 3 โรคได้เป็นอย่างดีในเด็กตั้งแต่อายุ 4 - 6 ปี เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนชนิด DTaP และชนิด DTwP
ภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนภายหลังการได้รับวัคซีนรวมนี้พบว่าในระยะยาวที่มากกว่า 10 ปี ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไอกรนของวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนนี้ชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell; DTwP) มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคไอกรนดีกว่าวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular; DTaP) แต่ในภาพรวมแล้วทั้งวัคซีน DTwP และ DTaP มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไอกรนไม่แตกต่างกัน โดยภูมิคุ้มกันนี้สามารถอยู่เหนือระดับที่ป้องกันโรคไอกรนได้นาน 2 - 5 ปี
มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
วิธีการฉีด/บริหารวัคซีนป้องกันไอกรนจะโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection) โดยมีตำแหน่งในการฉีดที่แนะนำคือ
- ในทารกและในด็กวัยหัดเดิน แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก และ
- สำหรับเด็กวัยอื่นและในผู้ใหญ่ แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ทั้งนี้ไม่แนะนำฉีดวัคซีนไอกรนเข้ากล้ามเนื้อสะโพกเพราะการฉีดวัคซีนบริเวณดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนเส้นประสาทบริเวณสะโพกได้
ไม่ควรฉีดวัคซีนนี้ให้เด็กที่กำลังป่วยด้วยโรคอื่นๆหรือกำลังมีไข้สูง แต่ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อยเช่น เป็นไข้หวัดชนิดไม่มีไข้ ให้ฉีดได้ตามปกติ
วัคซีนไอกรนจะถูกเก็บรักษาในตู้เย็น ดังนั้นก่อนบริหารยา/ฉีดยาให้ผู้ป่วย ควรตรวจสอบสภาพของสารละลายวัคซีนทุกครั้ง วัคซีนที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเป็นน้ำใส และห้ามใช้วัคซีนที่มีลักษณะขุ่น หรือมีตะกอน รวมถึงควรปรับอุณหภูมิของวัคซีนโดยการคลึงกระบอกยาด้วยฝามือทั้งสองข้างประมาณ 1 - 2 นาทีเพื่อให้อุณหภูมิวัคซีนเท่ากับร่างกายก่อนฉีดให้ผู้ป่วย
มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไอกรนเช่น
1. ห้ามใช้วัคซีนไอกรนกรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดรวมที่ประกอบด้วยวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ วัคซีนคอตีบ วัคซีนไอกรนแล้วเกิดอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนที่รุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยอาการคือ มีผื่นคันตามร่างกาย มีอาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ต่ำเรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า “อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock)” หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และต้องหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนนั้นต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น
2. ห้ามใช้วัคซีนรวมที่มีวัคซีนป้องกันไอกรนทั้งชนิดแบบทั้งเซลล์และแบบไร้เซลล์เป็นส่วนประกอบในเด็กที่มีโรคสมองที่ยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง (Progressive neurological disorder) ซึ่งยังควบคุมโรคได้ไม่ดี หรือเคยได้รับวัคซีนที่มีไอกรนผสมอยู่แล้วเกิดความผิดปกติทางสมอง (Encephalopathy) ภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีนนั้น ดังนั้นเด็กที่มีอาการทางสมองหรือมีอาการชัก และเด็กอายุครบตามตารางที่ต้องได้รับวัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยักแล้ว ก็ควรพิจารณาฉีดวัคซีนเฉพาะที่ปราศจากเชื้อไอกรนคือ วัคซีนคอตีบและบาดทะยักชนิดสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี (วัคซีน DT) หรือหากอายุเกิน 7 ปีแนะนำให้ใช้วัคซีน dT แทน อย่างไรก็ตามหากอาการทางสมองหรือโรคชักได้รับการรักษาและสามารถควบคุมอาการได้แล้วสามารถให้วัคซีนไอกรนได้
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไอกรนเช่น
1. ห้ามฉีดวัคซีนไอกรนเข้าหลอดเลือดดำ โดยวิธีการฉีดวัคซีนไอกรนที่ถูกต้องคือฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ที่ฉีดให้ควรเป็นพยาบาลที่มีความชำนาญเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนป้องกันไอกรนฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง เพราะการฉีดวัคซีนไอกรนเข้าหลอดเลือดดำอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิด ภาวะช็อก (shock: หมดสติ) ได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) นี้ภายหลังได้รับวัคซีนนี้โดยเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 20 นาที หากเกิดอุบัติเหตุฉีดวัคซีนดังกล่าวเข้าหลอดเลือดดำควรเฝ้าติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
2. เลี่ยงการใช้วัคซีน DTwP ในเด็กที่มีโรคสมอง โรคชัก หรือมีประวัติเคยมีปฏิกิริยารุนแรงหลังได้รับวัคซีน DTwP โดยพิจารณาใช้วัคซีน DTaP แทน
3. ควรเลือกใช้วัคซีน DTaP จากบริษัทเดียวกันจนครบจำนวนเข็มการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาการใช้วัคซีน DTaP ต่างบริษัทมาทดแทนกัน ดังนั้นในการใช้วัคซีน DTaP 3 ครั้งแรกเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ถ้าเป็นไปได้ควรใช้วัคซีนของบริษัทผู้ผลิตเดียวกัน แต่ถ้าไม่สามารถใช้ของผู้ผลิตเดิมได้ก็อนุโลมให้ใช้ต่างผู้ผลิตได้
อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันไอกรนมีอะไรบ้าง?
ปฏิกิริยาหรืออาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ภายหลังฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนคือ
ก. อาจเกิดอาการเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรง: เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บริเวณที่ฉีดบวม แดง กดแล้วเจ็บ รู้สึกแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน
ข. ปฏิกิริยาทั่วๆไป: เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
*ทั้งนี้กรณีรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ ไม่สบายตัว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) เพื่อบรรเทาอาการได้
ค. นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อวัคซีนไอกรนอย่างรุนแรง คือ อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการคือ ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตกเรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า “อะนาไฟแลกซิส ช็อก (anaphylacitc shock)”
อีกอาการหนึ่งที่รุนแรงภายหลังได้รับวัคซีนไอกรนคือ การเกิดความผิดปกติทางสมอง (Encepha lopathy) หรือมีอาการชักซึ่งสามารถพบได้ภายใน 7 วันภายหลังการได้รับวัคซีนไอกรน
นอกจากนี้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนไอกรนที่มาคู่กับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์บ่อยเกินไป อาจเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “Arthus reaction” ได้ ซึ่งจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดวัคซีนภายใน 2 - 8 ชั่วโมง หากเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรประคบเย็นบริเวณที่ฉีด และให้ยาแก้ปวดรักษาตามอาการ ปฏิกิริยานี้ไม่มีอันตราย ซึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข็มถัดไปอย่างน้อย 10 ปี
ตารางเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ตารางเวลาในการฉีดวัคซีนไอกรนสำหรับป้องกันโรคไอกรน โดยวิธีการฉีดวัคซีนขึ้นกับจุดประสงค์และอายุของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด ทั้งนี้จะกล่าวถึงตารางเวลาในการฉีดวัคซีนชนิดรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันไอกรนประกอบอยู่ดังนี้
1. เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี: ฉีดวัคซีนชนิดรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (เรียกว่า วัคซีน DTwP) หรือวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (เรียกว่า วัคซีน DTaP) โดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดที่อา ยุ 2, 4, 6 และ 18 เดือนและฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งที่อายุ 4 ปี
วัคซีน DTaP สามารถเลือกใช้แทนวัคซีน DTwP ได้ทุกครั้ง และควรเลือกใช้วัคซีน DTaP ในเด็กที่มีโรคสมอง โรคลมชัก หรือมีประวัติเคยมีปฏิกิริยารุนแรงหลังได้รับวัคซีน DTwP สำหรับเข็มกระตุ้นที่อายุ 4 ปีอาจเลือกฉีดวัคซีนชนิด DTwP, DTaP หรือ Tdap
ทั้งนี้ในเด็กที่มีโรคสมองและยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง (Progressive neurological disorder) ซึ่ง ยังควบคุมโรคไม่ได้ดี หรือเคยได้รับวัคซีนที่มีไอกรนผสมอยู่แล้วเกิดอาการทางสมอง (Encephalopa thy) ภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน ถือเป็นข้อห้ามของวัคซีนไอกรนทั้งชนิดแบบทั้งเซลล์และไร้เซลล์ ดังนั้นเด็กที่มีอาการทางสมองหรือมีอาการชัก และอายุของเด็กครบตามตารางที่ต้องได้รับวัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยักแล้วก็ยังคงควรพิจารณาฉีดวัคซีนที่ปราศจากเชื้อไอกรน แต่ยังคงฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยักชนิดสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี (วัคซีน DT) หรือหากอายุเกิน 7 ปีแนะนำให้ใช้วัคซีน dT แทน
2. เด็กอายุมากกว่า 7 ปีและผู้ใหญ่:
2.1 เด็กอายุ 7 - 10 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนรวมคอ ตีบ-บาดทะยักสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีน dT) หรือวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีน Tdap) โดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap เป็นเข็มแรก จากนั้นเข็มที่ 2 และ 3 สามารถเลือกได้ทั้ง dT หรือ Tdap
2.2 เด็กอายุ 11 - 18 ปีที่ได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนครบตามจำนวน แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน Tdap ณ ช่วงอายุที่ 11 - 12 ปี ทั้งนี้สาเหตุที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนด้วย แต่กรณีเด็กได้รับวัคซีนชนิด dT ไปแล้วแทน Tdap ไม่ถือเป็นข้อห้าม แต่หากพิจารณาแล้วพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน dT มีความเสี่ยงต่อการติดโรคไอกรนสูงเช่น อยู่ในช่วงที่มีโรคไอกรนระบาด อาจพิจาณาให้วัคซีน Tdap อีกครั้งโดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่างจากการฉีดวัคซีน dT ครั้งก่อน ยกเว้นถ้าเคยมีประวัติปฏิกิริยาที่เรียกว่า Arthus reaction ซึ่งจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดภายใน 2 - 8 ชั่วโมง หากเคยเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข็มถัดไป อย่างน้อย 10 ปี
2.3 ผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปที่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนในวัยเด็กข้างต้นครบแล้ว แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปี และให้ใช้วัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้ง หากยังไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาก่อนเลยโดยเฉพาะบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีควรได้รับวัคซีน Tdap ก่อนสัมผัสใกล้ชิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
2.4 ผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาในวัยเด็กข้างต้นมาก่อน ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนเลย ให้ฉีดวัคซีน dT จำนวน 3 ครั้งโดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap 1 ครั้งใน 3 ครั้งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไอกรน และเมื่อมีโอกาสควรฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปี
การใช้วัคซีนป้องกันไอกรนช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
การใช้วัคซีนป้องกันคอตีบไม่ถือเป็นข้อห้ามระหว่างการตั้งครรภ์และต่อการให้นมบุตร อีกทั้งวัคซีนป้องกันคอตีบยังเป็นหนึ่งในวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันคอตีบมาก่อนอีกด้วย โดยวัคซีนที่แนะนำให้ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกครรภ์, มารดาหลังคลอดบุตร และมารดาที่ให้นมบุตรคือ วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular) สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่า วัคซีน Tdap
1. ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติได้รับ Tdap ไม่ว่าจะเคยรับ dT หรือ T มาครบถ้วนหรือไม่ก็ตามแพทย์ จะพิจารณาให้ Tdap ระหว่างตั้งครรภ์ได้โดยแนะนำให้ 1 เข็มเมื่ออายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ห่างจากวัคซีนบาดทะยักหรือคอตีบเข็มล่าสุดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันส่งผ่านถึงทารกได้มากที่สุด หากไม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ควรให้เร็วที่สุดหลังคลอด
2. ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ทราบประวัติรับวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อบาดทะยักและคอตีบแก่แม่และทารก หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักและคอตีบ (dT) จำนวน 3 ครั้งโดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อมาฝากครรภ์ทันที จากนั้น 4 สัปดาห์ต่อมาจึงฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นให้ฉีดเข็มที่ 3 อีก 6 - 12 เดือนต่อมาจากเข็มที่ 2 โดยสามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 3 ครั้ง ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไอกรนให้แก่มารดาและทารก โดยแนะนำพิจารณาฉีดวัคซีนรวม Tdap ในช่วงอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์
3. ในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนมา แล้ว 1 เข็มไม่ว่านานเท่าใด แนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักและคอตีบ (dT) จำนวน 2 ครั้ง โดยฉีดเข็มที่ 1 ห่างจากเข็มล่าสุดที่เคยได้รับมาอย่างน้อย 1 เดือน จากนั้น 6 เดือนถัดมาภายหลังได้รับเข็มที่ 1 จึงรับการฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี โดยสามารถพิจารณาฉีดวัค ซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 2 ครั้งซึ่งเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไอกรนให้แก่มารดาและทารก โดยแนะนำให้พิจารณาฉีดวัคซีนรวม Tdap ในช่วงอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์
กรณีผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือรับวัคซีนไม่ครบ
กรณีผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือรับวัคซีนไม่ครบ ควรปฏิบัติดังนี้
ก. กรณีผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มที่ 1 แล้วไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มที่ 2 ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด การได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีหลักการดังนี้
- หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าต้องฉีดวัคซีนไอกรนเข็มที่ 2 โดยระยะเวลาที่นึกขึ้นได้อยู่ในช่วงน้อยกว่า 5 ปีหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นการฉีดวัคซีนใหม่ตั้งแต่เข็มแรก จากนั้นฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตามตารางเวลาต่อไป
- หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าต้องฉีดวัคซีนไอกรนเข็มที่ 2 โดยระยะเวลาที่นึกขึ้นได้อยู่ในช่วงมากกว่า 5 ปีหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก แนะนำเริ่มต้นการฉีดวัคซีนไอกรนใหม่ทั้งหมดจำนวน 3 เข็มโดยฉีดเข็มแรกทันที จากนั้นฉีดวัคซีนเข็มต่อไปจนครบตามตารางเวลาที่กำหนด
ข. กรณีผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ตรงตามเวลาที่กำหนด แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มที่ 3 ไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด แนะนำว่าสามารถฉีดวัคซีนเข็ม ที่ 3 ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ห่างจากเข็มที่ 2 และไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นการฉีดวัคซีนไอกรนใหม่ตั้งแต่เข็มแรก
มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไอกรนอย่างไร?
วัคซีนป้องกันไอกรนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดน้ำใสสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วิธีการเก็บ คือ เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ห้ามแช่แข็งเพราะจะทำให้เชื้อที่ออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดเสื่อมคุณภาพ และควรเก็บวัคซีนในบรรจุภัณฑ์เดิมที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสว่าง นอกจากนั้นต้องพิจารณาใช้วัคซีนภายหลังการเปิดขวดวัคซีนทันที วัคซีนส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ให้พิจารณาทิ้งไป
วัคซีนป้องกันไอกรนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
วัคซีนป้องกันไอกรนที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามชนิดของวัคซีนคือ
1. วัคซีนไอกรนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine หรือ Killed vaccine) คือวัคซีนป้องกัน ไอกรนชนิดที่ผลิตจากแบคทีเรียไอกรนทั้งเซลล์ (Whole cell: wP) โดยเป็นชนิดวัคซีนที่ทำจากแบค ทีเรียทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว (Whole cell vaccine) วัคซีนชนิดนี้มักทำให้เกิดปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด บางครั้งอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการมักจะเริ่มภายหลังฉีดวัคซีน 3 - 4 ชั่วโมงและอาการดังกล่าวจะคงอยู่อีกประมาณ 1 วัน
2. วัคซีนไอกรนชนิดที่ทำจากบางส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน (Subunit vaccine) ของแบคทีเรียฯ คือวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular: aP) ซึ่งวัคซีนชนิดนี้มักมีปฏิกิริยาภายหลังการฉีดวัคซีนน้อย
วัตถุประสงค์หลังการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไอกรน ถึงแม้ว่าจะป้องกันโรคไอกรนไม่ได้ทั้งหมด แต่สามารถทำให้อัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคลดลง
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไอกรนไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนป้องกันไอกรนชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดรวม โดยวัคซีนหนึ่งเข็มจะประกอบด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อไอกรน และวัคซีนบาดทะยักชนิด ท็อกซอยด์ และอาจประกอบด้วยวัคซีนคอตีบประกอบอยู่ด้วย
ทั้งนี้วัคซีนไอกรนที่จำหน่ายในประเทศไทยมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 137th ed. Bangkok: UBM Medica; 2014
- กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
- กำพล สุวรรณพิมลกุล, กมลวรรณ จุติวรกุล, เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ และคณะ. Infectious Disease Emergencies. กรุงเทพฯ: ตรีเทพบุ๊คโปรเสส; 2559
- โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558