ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เพอริแอคติน (Periactin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล/และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?
- ยาไซโปรเฮปตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- มะเร็ง (Cancer)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาเจริญอาหาร (Appetite Enhancers)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine หรือรู้จักกันดีในชื่อ ‘เพอริแอคติน/Periactin’) คือยาใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ (เช่น โรคภูมิแพ้), นอกจากนี้ ยังใช้ป้องกันไมเกรนในเด็ก, รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน, ใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหารและช่วยทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, รูปแบบยาจะเป็นยารับประทาน
ไซโปรเฮปตาดีน เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้(Antihistamine), หลังการรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึม และเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ, การคงระดับยานี้ในร่างกายอยู่ที่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง, จากนั้นยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะและอุจจาระ
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง การใช้ยานี้จึงสมควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกรที่ร้านขายยา
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- กระตุ้นความอยากอาหาร/ยาเจริญอาหาร รวมถึงกระตุ้นการอยากอาหารในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- รักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น อาการผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไซโปรเฮปตาดีนจะออกฤทธิ์ โดยเข้าไปแข่งขันแย่งพื้นที่ของตัวรับ (Receptor) กับสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง)ในบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้เล็ก, นอกจากนี้ ยาไซโปรเฮปตาดีนยังออกฤทธิ์แข่งขันและแย่งการรวมตัวของสารฮิสตามีนกับตัวรับ, ซึ่งจากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้ยาไซโปรเฮปตาดีนมีฤทธิ์ในการรักษาอาการของโรคได้
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาไซโปรเฮปตาดีน:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 4 มิลลิกรัม
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 2 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร/ 1 ช้อนชา
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ ½- 1 เม็ด ก่อนอาหาร, ขนาดรับประทานสูงสุด ไม่เกิน 5 มก./น้ำหนักตัว1กก./วัน
- เด็กอายุ 2 – 6 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 2 มก. ก่อนอาหาร, ทุก 8-12 ชั่วโมง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 12 มก./วัน
- เด็กอายุ 7-14 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 4 มก. ก่อนอาหาร, ทุก 8-12 ชั่วโมง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มก./วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโปรเฮปตาดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอื่นอยู่ เพราะยาไซโปรเฮปตาดีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซโปรเฮปตาดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงของยาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น
- ง่วงนอน
- ปากคอแห้ง
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- ปัสสาวะติดขัด
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ใจสั่น
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาไซโปรเฮปตาดีน เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรคบางโรครุนแรงขึ้นได้ ซึ่งข้อควรระวัง: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคท่อปัสสาวะอุดตัน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคต่อมลูกหมากโต
- ระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคไทรอยด์ ชนิด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจรุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาอาจผ่านมาทางน้ำนมจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
- การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาไซโปรเฮปตาดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยานี้ ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการ วิงเวียน อ่อนแรง และ ง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยานี้ ร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล จะส่งผลให้เพิ่มผลข้างเคียงจากยารักษาอาการวิตกกังวลได้ เช่น อาการง่วงนอน และมีฤทธิ์สงบประสาทมากขึ้น, ยารักษาอาการวิตกกังวลดังกล่าว เช่นยา Diazepam, Lorazepam
- การใช้ยานี้ ร่วมกับยารักษาอาการแพ้/ยาแก้แพ้ต่างๆสามารถทำให้มีอาการง่วงนอนได้มากยิ่งขึ้น, ยาแก้แพ้ดังกล่าว เช่น ยา Brompheniramine, Chlorpheniramine (ซีพีเอ็ม/CPM)
ควรเก็บรักษายาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น
- สามารถเก็บยาได้ที่อุณหภูมิห้อง
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไซโปรเฮปตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้าอื่น และชื่อบริษัทผู้ผลิต ของยาไซโปรเฮปตาดีน เช่น
ชื่อทางการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Anpro (แอนโปร) | The Forty-Two |
Cycodine (ไซโคดีน) | Utopian |
Cyheptine (ไซเฮปทีน) | Greater Pharma |
Cyprocap (ไซโปรแคป) | SSP Laboratories |
Cyprodine (ไซโปรดีน) | A N H Products |
Cyprogin (ไซโปรจิน) | Atlantic Lab |
Cyproheptadine Asian Pharm (ไซโปรเฮปตาดีน เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Cyproheptadine Asian Union (ไซโปรเฮปตาดีน เอเซียน ยูเนียน) | Asian Union |
Cyproheptadine K.B. (ไซโปรเฮปตาดีน เค.บี.) | K.B. Pharma |
Cyproheptadine MacroPhar (ไซโปรเฮปตาดีน มาโครฟาร์) | MacroPhar |
Cyproheptadine Medicine Products (ไซโปรเฮปตาดีน เมดิซีน โปรดักซ์) | Medicine Products |
Cyproheptadine Medicpharma (ไซโปรเฮปตาดีน เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
Cyproheptadine T Man (ไซโปรเฮปตาดีน ที แมน) | T. Man Pharma |
Cypronam (ไซโปรแนม) | SSP Laboratories |
Cyprono (ไซโปรโน) | Milano |
Cypropicco (ไซโปรพิคโค) | Picco Pharma |
Cyprosian (ไซโปรเซียน) | Asian Pharm |
Cyprotec (ไซโปรเทค) | Chew Brothers |
Periactin (เพอริแอคทิน) | M & H Manufacturing |
Polytab (โพลีแทบ) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
- https://www.rxlist.com/consumer_cyproheptadine/drugs-condition.htm [2022,Oct15]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyproheptadine?mtype=generic [2022,Oct15]
- https://www.drugs.com/mtm/cyproheptadine.html [2022,Oct15]
- https://www.drugs.com/mtm/cyproheptadine.html#interactions [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cyproheptadine [2022,Oct15]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cyprogin/?q=cyproheptadine&type=brief [2022,Oct15]