คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คลื่นไส้ (Nausea) และอาเจียน (Vomiting) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ซึ่งทั้งสองอาการมีกลไกการเกิด สาเหตุ การดูแลรักษาเหมือนๆกัน และมักเกิดควบคู่กันเสมอ โดยมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ดังนั้น ทั้งสองอาการจึงมักถูกกล่าวถึงพร้อมๆกัน ควบคู่กันไปเสมอ

 

คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่ง พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่สถิติการเกิด คลื่นไส้ อาเจียนที่แท้จริง ไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากมักเป็นอาการไม่ค่อยรุนแรง ผู้ป่วยจึงดู แลตนเองที่บ้านได้ และจะมาพบแพทย์เฉพาะต่อเมื่อมีอาการรุนแรง ซึ่งมีรายงานจากประเทศออสเตรเลียพบว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน คิด เป็น 1.6% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ทั้งหมด

 

คลื่นไส้อาเจียนเกิดได้อย่างไร?

คลื่นไส้-อาเจียน

คลื่นไส้ เป็นอาการที่อยากจะอาเจียน ส่วนอาเจียน คือ การที่ อาหาร และ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบนถูกขับออกมาอย่างรุนแรงจากกระ เพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบน ผ่านทางหลอดอาหาร เข้าสู่ช่องปาก โดยเกิด ขึ้นจากแรงบีบตัวทันทีของ กล้ามเนื้อของ กะบังลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทรวงอก และของหน้าท้อง

 

สมองที่ควบคุมอาการคลื่นไส้ คือ สมองใหญ่ (Cerebral cortex) ส่วนสมองที่ควบคุมการอาเจียน คือ ก้านสมอง (Brain stem)

 

ตัวกระตุ้นสมองให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีได้ทั้ง

  • จากสิ่งต่างๆที่ก่อการระคายเคืองหรือกระตุ้นโดยตรงต่อ ลำคอ คอหอย กระเพาะอาหาร และลำไส้ เช่น อาหาร
  • จากยาหรือสารบางชนิดที่อยู่ในกระแสโลหิต (เลือด) ซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น ยาเคมีบำบัดที่รักษาโรคมะเร็ง หรือสารต่างๆที่คั่งอยู่ในเลือดในภาวะไตวาย
  • จากการกระตุ้นประสาทหูในส่วนที่ทำหน้าที่ในการทรงตัว เช่น การเมาคลื่น/เมารถ เมาเรือ
  • จากการเห็นภาพต่างๆบางประเภท เช่น ภาพที่น่ากลัว หรือน่ารังเกียจ
  • หรือจากกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นคาว กลิ่นเหม็นเน่า
  • รวมทั้งจากจินตนาการของผู้นั้นเอง

 

คลื่นไส้อาเจียนมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของอาการคลื่นไส้ อาเจียน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ สาเหตุจากความผิดปกติในช่องท้อง, สาเหตุจากความผิดปกตินอกช่องท้อง, และสาเหตุอื่นๆ เช่น จากผลข้างเคียงของยา โรคต่อมไร้ท่อ และ/หรือ ความผิดปกติในกระบวนการสันดาป /การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย

 

ก. สาเหตุจากความผิดปกติในช่องท้อง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้องจาก ไวรัส หรือแบคทีเรีย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไส้ติ่งอักเสบ
  • จากมีการอุดตันในทางเดินอาหาร เช่น ภาวะลำไส้อุดตัน
  • จากมีการอักเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง

 

ข. สาเหตุจากความผิดปกตินอกช่องท้อง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคต่างๆของหูชั้นใน รวมทั้งความผิดปกติในการทรงตัว เช่น เมารถ เมาเรือ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคของหู’ และเรื่อง ’เวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน’)
  • โรคทางสมอง เช่น โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง และโรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปวดศีรษะไมเกรน
  • อารมณ์ จิตใจ จินตนาการ และ โรคทางจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึม เศร้า

 

ค. สาเหตุอื่นๆ: เช่น จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด, โรคต่อมไร้ท่อบางโรค, และ/หรือ ความผิดปกติในกระบวนการสันดาปของร่างกาย ที่พบบ่อย เช่น

  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาฮอร์โมบางชนิด(เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด)
  • สารพิษบางชนิด: เช่น แอลกอฮอล์
  • ในบางภาวะหรือบางโรคของต่อมไร้ท่อ, หรือในการสันดาปของร่าง กาย: เช่น
    • การตั้งครรภ์
    • โรคต่อมไทรอยด์
    • โรคของต่อมหมวกไต

 

แพทย์หาสาเหตุคลื่นไส้ อาเจียนอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียน ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจการทำงานของตับ และของไต
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม โดยขึ้นกับ อาการผู้ป่วย, ผลจากการตรวจร่างกาย, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจต่างๆเพื่อวินิจฉัยโรคของหู และ/หรือ
    • การตรวจภาพอวัยวะช่องท้อง หรือสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

รักษาคลื่นไส้ อาเจียนอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน คือ การบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

ก. การบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน: มักเป็นยากินในกลุ่ม ยาแก้คลื่นไส้ หรือถ้าอาการรุนแรงมาก จะเป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ

 

ข. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ
  • การรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เมื่อสาเหตุเกิดจากปวดศีรษะไมเกรน
  • หรือปรับเปลี่ยนชนิดของยา เมื่อสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

 

ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • ให้สารอาหาร หรือ น้ำเกลือ ทางหลอดเลือดดำเมื่ออาเจียนมากจนกินไม่ได้ หรือ จนร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และ/หรือ
  • ให้การรักษาทางการแพทย์สนับสนุน เช่น การฝังเข็มในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้ยาเคมีบำบัดและมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก เป็นต้น

 

คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการคลื่นไส้อาเจียน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • รุนแรงน้อยเมื่อเกิดจากการจินตนาการ
  • รุนแรงปานกลางเมื่อเกิดจากลำไส้อุดตัน
  • แต่รุนแรงมากเมื่อเกิดจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง

 

และในส่วนผลข้างเคียงจาก คลื่นไส้อาเจียน เช่น

  • ขาดอาหาร กรณีอาจียนต่อเนื่อง
  • อ่อนเพลีย จาก กิน ดื่ม และพักผ่อนได้น้อย
  • ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากอาเจียน จนเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย ใจสั่น วิงเวียน เป็นลม
  • และถ้าอาเจียนรุนแรง อาจอาเจียนเป็นเลือดได้จากหลอดเลือดในกระเพาะอาหาร หรือ ในหลอดอาหารแตก

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่

  • การพักผ่อนเต็มที่
  • ในขณะมีอาการ ไม่ควรนอนราบ ควรนอนเอนตัว เพื่อป้องกันการสำ ลักอาหารจากอาเจียนเข้าหลอดลมและปอด
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ โดยจิบน้ำ หรือ น้ำผลไม้บ่อยๆ
  • กินอาหารครั้งละน้อยๆ โดยเพิ่มมื้ออาหาร ไม่ควรกินในช่วงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาหารควรเป็นอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว หรืออาหารน้ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) ขึ้นกับว่ากินอาหารประ เภทไหนได้บ้าง เลือกประเภทอาหารที่ไม่มีกลิ่น และไม่กระตุ้นให้เกิดอาการฯ
  • ควรอยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้ดี สะอาด ไม่มีกลิ่น ไม่สว่างมาก ไม่ร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะเวลานอน และขณะรับประทานอาหาร
  • สังเกตตัวกระตุ้นอาการฯเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยง
  • สังเกตลักษณะของอาเจียน เช่น ขม(จากมีน้ำดีปน) หรือมีเลือดปน เพื่อแจ้งแพทย์ พยาบาล เพราะแพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุอาการฯ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง
  • กินยาบรรเทาอาการฯ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น กินตรงตามเวลาโดยไม่ขึ้นกับการกินอาหาร (เช่น ทุก 6 ชั่วโมง เป็นต้น) หรือ กินก่อนอาหาร
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
    • อาการอาเจียนไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังดูแลตนเอง
    • กิน หรือ ดื่มได้น้อย
    • มีอาการของภาวะขาดน้ำ
    • กังวลในอาการ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อคลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับ
    • มีไข้สูง
    • ปวดท้องมาก
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • ปวดศีรษะมาก, คอแข็ง, แขนขา อ่อนแรง (อาการของโรคทางสมอง)

 

ป้องกันคลื่นไส้อาเจียนได้อย่างไร?

การป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน คือ ในกรณีที่รู้สาเหตุ และแพทย์แนะนำกินยาป้องกัน เช่น เมื่อได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง หรือในโรคปวดศีรษะไมเกรน ควรกินยาสม่ำเสมอ ตรงเวลา และครบถ้วน ตามแพทย์แนะนำเสมอ

 

นอกจากนั้น คือ การป้องกันสาเหตุต่างๆที่ป้องกันได้ของอาการคลื่นไส้ อาเจียน ดัง กล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
  • การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง
  • และการรักษาสุขภาพจิตเพื่อป้องกันปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า (โรคซึมเศร้า: สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า) เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Scorza, K. et al. (2007). Evaluation 0f nausea and vomiting. Am Fam Physician. 76, 76-84.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Vomiting [2019,Jan12]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Nausea [2019,Jan12]