ยาแก้ปวดท้อง ยาบรรเทาอาการปวดท้อง (Antispasmodic drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

ยาแก้ปวดท้อง

ยาแก้ปวดท้องคือยาอะไร?มีคุณสมบัติอย่างไร?

 ยาแก้ปวดท้อง(Antispasmodic drugs)ในที่นี้หมายถึง ยาที่ลดอาการปวดท้องที่มีลักษณะบิดเกร็ง/ปวดบีบ (Colicky pain) จากโรคทางเดินอาหาร   ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Antispasmodic drug

ทางเภสัชแบ่งยาแก้ปวดท้องเป็นประเภทใดบ้าง?

ทางเภสัชแบ่งยาแก้ปวดท้องเป็นประเภท/ชนิดต่างๆ เช่น

  1. ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิก (Antimuscarinic หรือ Anticholinergic): เป็นยาที่ช่วยลดการบีบเกร็ง/ปวดบีบของกล้ามเนื้อเรียบในทางเดินอาหาร (กล้ามเนื้อของผนังกระเพาะอาหารและลำไส้) ที่ยาออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท เช่น ยาอะโทรปีน (Atropine), ไดไซโคลมีน (Dicyclomine) หรือ ไดไซโคลเวอรีน (Dicycloverine), ไฮออสซีน (Hyoscine) หรือสโคโปลามีน (Scopolamine), คลิดิเนียม (Clidinium), ออกซีเฟนไซคลิมีน (Oxyphencyclimine), โพรแพนธีลีน (Propantheline)
  2. ยาแก้ปวดเกร็ง/ปวดบีบประเภทอื่น (Other antispasmodic): คือ ยาอื่นๆ ที่ตัวยาออกฤทธิ์ช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้โดยตรงเช่น ยามีบีเวอรีน (Mebeverine), อัลเวอรีน (Alverine), โดรทาเวอรีน (Drotaverine), ฟีโนเวอรีน (Fenoverine), ไพโตฟีโนน (Pitofenone), ทิโรพราไมด์ (Tiropramide)

ยาแก้ปวดท้องจำหน่ายในรูปแบบใดบ้าง?

ยาแก้ปวดท้องมีจำหน่ายในรูปแบบต่างๆเช่น

  • ยาเม็ด (Tablets) เช่น ยาไดไซโคลมีน
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrups) เช่น ยาไฮออสซีน
  • ยาเตรียมปราศจากเชื้อสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ (Sterile solutions for injection) เช่น ไฮออสซีน (ยาเตรียม/Pharmaceutical preparations คือ ยาที่ผสมใช้เป็นคราวๆไป)

 

ยาแก้ปวดท้องมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาแก้ปวดท้องมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณรักษา:  เช่น

  1. ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ในกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น/โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome - IBS)
  2. บรรเทาอาการปวดในโรคไดเวอร์ติคูลัม/โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticulosis)
  3. ลดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหาร
  4. บรรเทาอาการบีบเกร็งแบบฉับพลัน และการบีบเกร็งระหว่างกระบวนการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องมือเช่น การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้

มีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดท้องอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดท้อง เช่น

  1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  2. ห้ามใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ยกเว้นใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส/Cholinesterase inhibitors/ยาต้านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ), ผู้ป่วยลำไส้อุดตัน, ทางเดินปัสสาวะอุดตัน, หลอดอาหารอักเสบจากโรคกรดไหลย้อน, ลำไส้อืดเป็นอัมพาต (ลำไส้ไม่บีบตัว), กระเพาะอาหารส่วนปลายตีบ, โรคหืด, ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน), โรคตับ หรือโรคไต
  3. ห้ามใช้ยามีบีเวอรีนในผู้ที่มีลำไส้อืดเป็นอัมพาตหรือเป็นโรคตับขั้นรุนแรง

 

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดท้องอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดท้อง เช่น

  1. ระวังการใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยในกลุ่มอาการดาวน์ (ดาวน์ซินโดรม/ Down's syndrome) เพราะเป็นกลุ่มที่เกิดผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดท้องได้ง่าย
  2. ระวังการใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกในผู้ที่ท้องร่วง/ท้องเสีย เพราะไม่มีประโยชน์แน่ชัดว่าช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากท้องเสียได้และอาจเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียก่อโรคได้ด้วย
  3. ไม่ควรใช้ยาอะโทรปีนเป็นยาแก้ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงจากยามากกว่าประโยชน์ ยกเว้นการใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการท้องร่วงจากยาไอริโนทีแคน (Irinotacan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง) ระยะแพร่กระจาย (Metastatic colorectal cancer )
  4. ระวังการใช้ยาไฮออสซีนในผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria, โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย จากมีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง)

 

การใช้ยาแก้ปวดท้องในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ปวดท้องในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  1. หญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากได้รับยาอะโทรปีนต้องวัดอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์เสมอ ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกที่แพทย์อาจเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรคือ ยาเม็ดไฮออสซีน เพราะพบว่ายานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก
  2. ยาแก้ปวดท้อง/ปวดแบบเกร็ง/ปวดบีบอื่นๆยังไม่มีการศึกษาเพียงพอในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ดังนั้นควรใช้เมื่อจำเป็นตามแพทย์ผู้รักษาสั่งเท่านั้น
  3. ห้ามใช้ยาไดไซโคลมีนในหญิงให้นมบุตรเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

การใช้ยาแก้ปวดท้องในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

 ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มียาต้องใช้หลายชนิด เนื่องจากอาจมีโรคประจำตัวที่ตรงกับข้อห้ามใช้ของยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกอยู่แล้ว นอกจากนั้น ควรระวังระวังการใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกตัวต่างๆร่วมกัน เพราะยากลุ่มนี้มีหลายชนิดและหลายข้อบ่งใช้ ตัวอย่างยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกอื่นที่ผู้สูงอายุอาจใช้อยู่แล้วเช่น เบนซ์โทรปีน (Benztropine) ที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มต้านฤทธิ์มัสคารินิกนี้ร่วมกันหลายชนิดอาจทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดจากยาเพิ่ม ขึ้นจนเกิดอันตรายได้

การใช้ยาแก้ปวดท้องในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ปวดท้องในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  1. ไม่ควรใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ควรใช้เมื่อจำเป็นตามแพทย์สั่งเท่านั้น และต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา
  2. ห้ามใช้ยาไดไซโคลมีนในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนเนื่องจากมีผลข้างเคียงรุนแรงเช่น ชัก หมดสติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจผิดปกติ เป็นต้น

 

อาการไม่พึงประสงค์จากยาแก้ปวดท้องเป็นอย่างไร?

 อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา จากยาแก้ปวดท้องมีได้หลากหลายอาการมาก ขึ้น กับแต่ละตัวยา ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดท้อง จึงควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือของเภสัชกร และก่อนใช้ยาควรอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยควรต้องสอบถามเภสัชกรหรือแพทย์ผู้รักษา

 ในที่นี้ขอยกตัวอย่างอาการไม่พึงประสงค์จากยาแก้ปวดท้องกลุ่มยาต้านฤทธิ์มัสคารินิก ดังนี้เช่น

 การใช้ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่น กระสับกระส่าย ประสาทหลอน ความดันในลูกตาเพิ่มเนื่องจากรูม่านตาขยาย ผิวแห้งเพราะเหงื่อไม่ออก/ออกน้อย หัวใจ เต้นช้าชั่วขณะ (ตามด้วยอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด

ข้อควรจำ

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้ปวดท้องด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ภิเษก ยิ้มแย้ม. ยาที่ใช้บ่อยในโรคระบบทางเดินอาหาร. วารสารกุมารเวชศาสตร์ (มกราคม – มีนาคม 25556) : 13-18.
  2. Wells B.G., et al. Pharmacotherapy Handbook. 8. The McGraw-Hill, 2012.
  3. Schaefer C., Peters P., Miller R.K. Drug During Pregnancy and Lactation: Treatment Options and Risk Assessment. 3. Elsevier. 2015
  4. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names
  5. in dex. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.
  6. http://dmsic.moph.go.th/index/detail/6790 [2021,Nov20]