โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulosis and Diverticulitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ?
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีอาการอย่างไร?
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้ออย่างไร?
- รักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้ออย่างไร?
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคถุงลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร?
- ป้องกันโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
- ท้องผูก (Constipation)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
บทนำ
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticulosis หรือ Diverticular disease) คือโรคที่ผนังลำไส้ใหญ่มีการโป่งพองออกเป็นถุงขนาดต่างๆ อาจทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีถุงเดียวหรือหลายถุง ทั้งนี้ช่องหรือโพรงของถุงยังคงติดต่อ ต่อเนื่องกับช่องทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถุงนี้เกิดการติดเชื้อ จะก่อให้เกิดการอักเสบ เรียกว่า “โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulosis)”
ถุงผนังลำไส้ใหญ่ อาจพบได้เพียงถุงเดียว หรือหลายๆถุง (พบได้สูงกว่าการเกิดเพียงถุงเดียว) อาจเป็นสิบๆถุง หรือเป็นร้อยถุง โดยทั่วไปมักจะเป็นถุงเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประ มาณ 5-10 มิลลิเมตร (มม.) แต่อาจใหญ่ถึง 2 เซนติเมตร (ซม.)ได้ และเคยมีรายงานว่ามีขนาดใหญ่ได้ถึง 25 ซม.
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ พบได้ในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน พบได้สูงขึ้นในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดก็ยิ่งสูงขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า พบโรคได้น้อยกว่า 10% เมื่ออายุต่ำกว่า 40 ปี แต่พบโรคได้ประมาณ 50-66% เมื่ออายุมากกว่า 80 ปี
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่พบเกิดในคนตะวันตกมากกว่าในคนเอเชีย มีรายงานพบโรคนี้ในคนจีนในสิงคโปร์ 0.14 รายต่อประชากร 1 ล้านคน แต่พบโรคนี้ได้ในคนยุโรป 5.41 รายต่อประชา กร 1 ล้านคน ทั้งนี้ในคนเอเชีย มักเกิดโรคนี้กับลำไส้ใหญ่ด้านขวา แต่ในคนตะวันตกมักเกิดโรคนี้กับลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายโดยเฉพาะ ลำไส้ใหญ่ส่วนที่ เรียกว่า ลำไส้คด (Sigmoid colon)
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เกิดได้อย่างไร?
สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า โรคมีกลไกเกิดจาก
- การมีความดันเพิ่มขึ้นในลำไส้ใหญ่อย่างต่อเนื่องเรื้อรังจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ(ดังจะกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ร่วมกับการเสื่อมของเนื้อเยื่อผนังลำไส้ใหญ่ตามอายุ เมื่อมีความดันเพิ่มขึ้น จึงดันให้ผนังในส่วนที่เสื่อมมากและเป็นส่วนที่อ่อนแอ คือ ส่วนเยื่อบุผนังลำไส้ตรงตำแหน่งที่หลอดเลือดผ่านเข้าผนังลำไส้ ก่อให้เกิดการโป่งพองออกไปตามแรงดัน จนเกิดเป็นถุงขึ้น
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- อายุ ยิ่งสูงอายุ โอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้น ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นในบทโรคเกิดได้อย่างไร จากการที่เซลล์ผนังลำไส้เสื่อมลงตามธรรมชาติ
- เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ในคนตะวันตกสูงกว่าในคนเอเชีย
- การกินอาหารที่ขาดใยอาหาร คือขาดผัก ผลไม้ กินแต่โปรตีน แป้งและไขมัน จะส่งผลให้ลำอุจจาระมีขนาดเล็ก ลำไส้ใหญ่จึงต้องเพิ่มแรงบีบตัว ขับถ่ายกากอา หารที่มีลำขนาดเล็ก จึงส่งผลให้มีแรงดันในลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีบางการศึกษาพบว่า โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ไม่น่ามีสาเหตุจากการกินอาหารมีใยอาหารต่ำ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาและแพทย์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การกินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้
- ท้องผูกเรื้อรัง เพราะการเบ่งอุจจาระ เพิ่มแรงดันในลำไส้ใหญ่
- มีโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เพราะส่งผลให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เป็นผนังลำไส้ อ่อน แอ จึงโป่งพองได้ง่าย เช่น โรค Marfan syndrome [เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย โดยผู้ป่วยมีความผิดปกติต่างๆ เช่น กระดูกสันหลังคด แก้วตาเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งปกติ โรคของลิ้นหัวใจ และเนื้อเยื่อปอดแตกได้ง่าย ก่อให้เกิดภาวะปอดแตก คือมีอากาศขังอยู่ในปอด (ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ หรือ Pneumothorax)] เป็นต้น
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ?
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ พบได้ประมาณ 5% ของผู้ป่วยโรคถุงลำไส้ใหญ่ทั้ง หมด โดยกลไกการเกิด เชื่อว่าเกิดจากมีก้อนอุจจาระเข้าไปอุดที่ปากถุง จึงก่อให้เกิดการอัก เสบของถุง และมีการติดเชื้อตามมา
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบติดเชื้อ คือ
- ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อจะสูงขึ้น โดยพบมีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้นเพียงประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคถุงลำไส้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี อีก 80 % พบในคนอายุมากกว่า 50 ปี
- การกินใยอาหารต่ำ
- ในอดีตเคยเชื่อว่า การกิน ลูกนัท (Nut) ถั่ว ข้างโพดคั่ว เป็นปัจจัยเสี่ยง แต่การศึก ษาในปัจจุบันพบว่า การกินอาหารดังกล่าวไม่ส่งผลทั้งด้านบวกหรือด้านลบต่อการเกิดอักเสบของถุงผนังลำไส้ใหญ่ แต่แพทย์ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยต้องคอยสังเกต อาหาร เครื่องดื่ม ที่กินเสมอ และเมื่อจะกินอาหาร เครื่องดื่มที่ต่างไปจากที่เคยกิน ให้กินทีละอย่าง และในปริมาณน้อยๆก่อน แล้วสังเกตอาการ และปรับตัวไปตามนั้น
- คนที่ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- สูบบุหรี่
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีอาการอย่างไร?
อาการโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ คือ
ก. ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคอื่นๆของลำไส้ เช่น ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือจากตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยประมาณ 80-85% ของผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนที่เหลือ(15-20%)จะมีอาการ
ข. กรณีมีอาการ:
- ส่วนใหญ่ของผู้มีอาการ มักเป็นอาการที่เกิดจาก ‘ถุงฯอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ’ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง กล่าวคือ เป็นอาการพบได้ทั่วไปในโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น
- ปวดท้องตอนล่างๆ (ช่องท้องส่วนที่อยู่ต่ำกว่าสะดือ) เรื้อรัง โดยเป็นๆหายๆ อาจเป็นด้านซ้าย หรือด้านขวา ขึ้นกับตำแหน่งที่มีโรค
- อาการปวดท้องนี้มักเกิดสัมพันธ์กับการกินอาหาร
- อาการปวดท้องมักดีขึ้นเมื่อได้ผายลม
- บางรายอาจมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ และ/หรือ ท้องผูก
- ส่วนน้อยประมาณ 5% ของผู้ป่วย จะมีอาการจาก’ถุงฯอักเสบติดเชื้อ’ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อต่อไป) ซึ่งในกลุ่มผู้ติดเชื้อบางราย จะเกิดผลข้างเคียงจากการอักเสบของถุงฯ เช่น
- เลือดออก
- เป็นหนอง
- ลำไส้อุดตัน
- หรือเกิดรูทะลุของถุง ทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคถุงลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อที่พบบ่อย คือ
- อาการปวดท้องช่วงล่าง (ต่ำกว่าสะดือ) รุนแรง อาจปวดข้างซ้ายหรือข้างขวา ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดถุง อาการปวดท้องอาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็นพักๆ อาจร่วมกับมีอุจจาระเป็นเลือด (พบได้น้อย) มักร่วมกับ คลื่น ไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้
- การตรวจร่างกายจะพบว่า ผู้ป่วยจะเจ็บในท้องตรงตำแหน่งที่แพทย์ตรวจคลำ/กด และอาจคลำได้ก้อนเนื้อทางหน้าท้องจากการอักเสบรุนแรงของถุงฯจนเป็นหนอง
- การตรวจทางทวารหนัก อาจคลำได้ก้อนเนื้อเช่นกัน
- และเมื่อตรวจเลือดซีบีซี (CBC) จะพบมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ
- ในรายที่รุนแรง อาจมีความดันโลหิตต่ำ และเกิดภาวะช็อกได้
ทั้งนี้ อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ ไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจง แต่อาการจะคล้ายกับการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะต่างๆในช่องท้อง เช่น
- ไส้ติ่งอักเสบ
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคนิ่วในท่อไต
- และในผู้หญิง ต้องแยกเพิ่มเติมจากโรคในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น
- ภาวะก้อนเนื้องอกรังไข่บิดตัว/รังไข่บิดขั้ว
- ภาวะถุงน้ำรังไข่แตก
- ภาวะท้องนอกมดลูก
- และภาวะการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการดังกล่าวในทั้ง2 หัวข้อ เรื่อง ‘อาการฯ’
แพทย์วินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้ออย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ โดย
ก. ในผู้ป่วยที่ ‘ไม่มีอาการ’ การวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ มักเป็นการวินิจฉัยโดยบังเอิญจากตรวจโรคต่างๆของลำไส้ใหญ่ หรือโรคต่างๆของอวัยวะในช่องท้อง ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจเอกซเรย์สวนแป้ง (Barium enema) และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพช่องท้อง เช่น ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ การตรวจหาระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
ข. ในผู้ป่วย ‘ที่มีอาการ’ แพทย์วินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญคือ ประวัติอาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำช่องท้อง
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น ซีบีซี (CBC)
- การตรวจทางทวารหนัก
- การตรวจภายใน (ในผู้หญิง)
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจอุจจาระ
- การตรวจภาพอวัยวะต่างๆในช่องท้องด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- และบางครั้งอาจต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ที่ร่วมกับ
- การตัดชิ้นเนื้อจากถุงฯเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้ออย่างไร?
แนวทางรักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ คือ
ก. ในผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ที่ ‘ไม่มีอาการ’ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่แพทย์มักแนะนำให้กินอาหารที่มีใยอาหารสูงจากผัก และผลไม้ มากกว่าใยอาหารจากธัญพืช
ข. ผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ที่ ‘อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ’ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาลดแก๊ส/ลมในทางเดินอาหาร และการกินอาหารใยอาหารสูงจากผักและผลไม้
ค. แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ที่ ’อักเสบติดเชื้อ’ ได้แก่
- ถ้าสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว อาจรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้กินยาปฏิชีวนะ อาหารน้ำ (อ่านเพิ่มเติมใน อาหารทางการแพทย์) และ ยาแก้ปวดท้อง
- แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่สุขภาพโดยรวมอ่อนแอ และ/หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน การรักษามักเป็นการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล โดย
- ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
- งดอาหารและน้ำทางปาก แต่ให้อาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำแทน
- ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากการอักเสบติดเชื้อ นอกจากการให้ยาปฏิชีวนะ อาหาร และน้ำทางหลอดเลือดดำแล้ว อาจต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดช่องท้อง เช่น
- การเจาะและใส่ท่อเพื่อระบายหนองออก
- หรือบางครั้งอาจต้องเป็นการผ่าตัดลำไส้ส่วนนั้นออก
- ทั้งนี้การจะเลือกรักษาวิธีใดขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่รุนแรง ไม่มีอาการ ไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’
ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบติดเชื้อของถุง ส่วนใหญ่สามารถรักษาควบคุมการติดเชื้อได้ มีเพียงส่วนน้อยที่โรครุนแรง และเกิดผลข้างเคียง เช่น
- ถุงเกิดเป็นหนอง
- การเกิดลำไส้อุดตัน
- และ/หรือเนื้อเยื่อถุงเน่าตาย ส่งผลให้ถุงทะลุ/ลำไส้ทะลุ ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
- ซึ่งในรายที่รุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ อาการติดเชื้อนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดติดเชื้อรุนแรง คือ
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
- มีโรคเรื้อรังประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ คือ การดูแลตนเองเพื่อป้องกันหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- การกินอาหารมีใยอาหารสูงชนิดได้จากผักและผลไม้
- ป้องกันอาการท้องผูก
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- เลิกบุหรี่/ไม่สูบบุหรี่
- และ เมื่อผู้ป่วยจะกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มชนิดใหม่ๆต่างจากที่เคยกิน-ดื่ม ควรกิน-ดื่มทีละชนิด ในปริมาณน้อยๆก่อน เพื่อสังเกตอาการ และค่อยๆปรับตัวไปตามนั้น โดยหลีกเลี่ยงการกิน-ดื่มเมื่อเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น มีอาการปวดท้องเรื้อรังรุนแรงขึ้น
- มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับปวดท้อง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียมาก
- กังวลในอาการ
- ซึ่งควรรีบพบแพทย์ (ไปโรงพยาบาล) หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
- มีอาการปวดท้องรุนแรง ร่วมกับ
- มีไข้
- คลื่นไส้อาเจียน
- และ/หรือไม่ผายลม
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ของถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อที่สำคัญ คือ
- เมื่อมีอาการปวดท้อง ร่วมกับมีไข้ ควรรีบพบแพทย์ (ไปโรงพยาบาล) หรือไปโรง พยาบาลฉุกเฉิน เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อลดการติดเชื้อรุนแรง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง จึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิต
ป้องกันโรคถุงลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร?
การป้องกันโรคถุงผนังลำไส้เต็มร้อย เป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุเกิดชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยง คือ การสูงอายุ เชื้อชาติ พันธุกรรม และท้องผูก ดังนั้น อาจลดโอกาสเกิดลงได้โดย การป้องกันการเกิดท้องผูกเรื้อรังที่สำคัญ คือ
- การกินอาหารมีใยอาหารสูงสม่ำ เสมอทุกวัน และควรเป็นใยอาหารจาก ผัก และผลไม้ มากกว่าเป็นใยอาหารจากธัญพืช
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ/li>
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน คือ ประมาณ 6-8แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
ป้องกันโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อได้อย่างไร?
เมื่อมีโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ควรดูแลตนเองเพื่อป้องกัน หรือลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- กินอาหารมีใยอาหารสูงสม่ำเสมอทุกวัน ควรเป็นใยอาหารจาก ผัก ผลไม้ มากกว่าจากธัญพืช
- ดูแลตนเองไม่ให้ท้องผูก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ/ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- ดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วน
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
บรรณานุกรม
- Jansen, A. et al. (2009). Risk factors for colonic diverticular bleeding. World J Gastroenterol. 15, 457-461.
- Peery, A. et al. (2012). Gastroenterology.142;266-272
- Salzman, H., and Lillie, D. (2005). Diverticular disease: diagnosis and treatment. Am Fam Physician. 72, 1229-1234.
- Stollman, N., and Raskin, J. (2004). Diverticular disease of the colon. Lancet. 363, 631-639.
- Wilkins, T. et al. (2009). Diverticular bleeding. Am Fam Physician. 80, 977-983
- https://www.ucsfhealth.org/education/diverticular_disease_and_diet/index.html [2019,June1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diverticulitis [2019,June1]
- https://emedicine.medscape.com/article/173388-overview#showall [2019,June1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diverticulosis [2019,June1]
- https://teachmemedicine.org/cleveland-clinic-colonic-diverticular-disease/ [2019,June1]