ยาอะทีโนลอล (Atenolol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ :คือยาอะไร?

อะทีโนลอล (Atenolol) คือ  ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์/Beta-blocker ใช้รักษาโรคทางหลอดเลือดของหัวใจ ถูกสังเคราะห์และนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2519 ข้อดีของยานี้คือไม่ซึมผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางจึงสามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะเกิดต่อสมอง

ในทางการแพทย์ ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรค/สภาวะความดันโลหิตสูง,  ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด,   ภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดฉับพลัน, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Superaventicular tachycardia}  ในบางครั้งยังถูกนำไปรักษาผู้ป่วยที่เสพติดเหล้า ช่วยบำบัดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน), หรือแม้แต่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (Migraine) เป็นต้น

ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:  รักษาโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น

  • ลดความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Supraventicular tachycardia & ventricular tachycardia,
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarc tion)
  • ป้องกันการเกิดไมเกรน (Migraine)

ยาอะทีโนลอลออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะทีโนลอลออกฤทธ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของสารเคมีบางตัวในร่างกายที่เรียกว่า แคทีโคลามีน (Catecholamines) ทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และหลอดเลือดบีบตัวน้อยลงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง

ยาอะทีโนลอลมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ด ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม

ยาอะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดของยาอะทีโนลอลที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)มีขนาดที่ต่างกัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การดูดซึมเข้าร่างกายได้รวดเร็วและเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 - 4ชั่วโมงหลังกินยา แต่ไม่ควรซื้อยากินเอง ต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

ขนาดใช้รักษาความดันโลหิตสูง, รักษาภาวะเจ็บหน้าอก (Angina Pectoris), และป้องกันไมเกรน (Migraine) รับประทานในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน

*การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นช้า, หลอดลมหดเกร็ง, น้ำตาลในเลือดต่ำ, ซึ่งแพทย์รักษาแก้ไขโดยการล้างท้องหรือทำให้อาเจียนเอายาออกมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะทีโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะทีโนลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาอะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาอะทีโนลอลมีผลข้างเคียงหรือผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น  

  • อาจก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ/หายใจลำบาก
  • มีอาการโรคหืด
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ หรือ ง่วงนอน
  • หงุดหงิด
  • รบกวนระบบทางเดินอาหาร
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย

 รวมถึงความรู้สึกสัมผัสสูญเสีย

ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น   เช่น   

  • เมื่อกิน ร่วมกับ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งกลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา อะมิโอดาร์โรน (Amiodarone)
  • เมื่อกิน ร่วมกับ ยาปฎิชีวนะสามารถส่งผลให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาอะทีโนลอลลดลง ซึ่งกลุ่มยาปฎิชีวนะดังกล่าว เช่นยา แอมพิซิลลิน (Ampicillin),  ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • เมื่อกิน ร่วมกับ ยาโรคกระดูก เช่นยา แคลเซียม จะทำให้ระดับยาอะทีโนลอลในกระแสเลือดลดลงมากกว่า 50%

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะทีโนลอล?

ข้อควรระวังและข้อห้ามเมื่อใช้ยาอะทีโนลอล เช่น

  • ห้ามใช้ยากับ ผู้ที่แพ้ยานี้  หญิงตั้งครรภ์  ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ผู้ที่มีการไหลเวียนเลือดบริเวณหัวใจผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยาอะทีโนลอลกับ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

********** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะทีโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง  

ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์

ยาอะทีโนลอลมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาอะทีโนลอล เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atenol (อะทีนอล) T. O. Chemicals
Betaday-50 (เบตาเดย์ 50) Vesco Pharma
Catenol (คาทีนอล) Zydus adila
Enolol (อีโนลอล) Charoon Bhesaj
Esnolol (เอสโนลอล) Emcure Pharma
Eutensin (ยูเทนซิน) Greater Pharma
Oraday (ออราเดย์) Biolab
Tenocard (ทีโนคาร์ด) IPCA
Tenormin (ทีนอมิน) AstraZeneca
Tenrol (เทนโรล) Unique
Velorin (เวโลริน) Remedica

 

บรรณานุกรม

  1. Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/atenolol?mtype=generic [2021,Dec25]
  3. https://www.drugs.com/atenolol.html [2021,Dec25]