ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน (Tretinoin topical)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน/ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin topical) คือ ยาทาเฉพาะที่ที่นำมารักษาอาการทางผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาสิว ตัวยาสำคัญได้มาจากการเปลี่ยนแปลง (เป็นอนุพันธ์) ของวิตามินเอที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า กรดเรทิโนอิก (Retinoic acid)  รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นและมีการใช้บ่อยในประเทศไทยจะเป็นยาครีมที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป

 วิธีการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินให้ทายาครีมเป็นปริมาณเพียงบางๆตรงบริเวณสิว อาจทำให้รู้สึกแสบหรือคันได้เล็กน้อย โดยปกติให้ทาสิววันละครั้งก่อนนอน และจะเริ่มเห็นผลภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังใช้ยานี้ การใช้ยานี้ตั้งแต่ 7 สัปดาห์ขึ้นไปทำให้สิวมีอาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด

ระหว่างการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นกรดกัดผิว หนัง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวแห้ง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงผลิต ภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนประกอบของสาร/ยา Benzoyl peroxide หรือกำมะถัน (Sulfur) หรือ Resorcinol/สารที่ใช้เป็นยาทางโรคผิวหนัง และ Salicylic acid ด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีฤทธิ์กัดผิวหนัง หากใช้ร่วมกับยา Tretinoin อย่างไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเป็นอย่างมาก

 ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินอาจกระตุ้นให้ผิวหนังมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เช่น อาการบวมแดงและแห้งได้ การใช้ยาทาอย่างถูกวิธีสามารถลดอาการดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง อย่าง ไรก็ตามหากเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงมากต้องให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยานี้ทันที กรณีที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยเคยใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งอาจพบว่าผิวหนังในบริเวณที่มีการใช้ยาอาจทำให้ผิวซีดจางหรือไม่ก็มีสีเข้มขึ้นก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากในการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน เช่น สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินนี้ ด้วยมีรายงานการรับประทานอนุพันธุ์ของกลุ่มวิตามินเอสามารถทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะวิกลรูป (พิการ) แต่กำเนิดได้ ถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ชนิดทาในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวโดยตรงก็ตาม

เราจะพบเห็นการใช้ยาทาเตรทติโนอินได้ตามสถานพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน รวมถึงมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป แต่การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น  

  • เป็นยาทารักษาสิว
  • รักษาภาวะผิวหนังโดนแดดทำลายจนผิวเสื่อม (Dermatoheliosis)

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการแบ่ง ตัวของเซลล์ผิวหนังและทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้สิวหรือ Comedones (สารที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันโดยจะประกอบด้วยเคอราติน ไขมัน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย) หลุดออกมาจากผิวหนัง นอกจากนี้ยาเตรทติโนอินยังป้องกันมิให้ร่างกายสร้าง Comedones ขึ้นมาใหม่ จากกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาครีมทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 0.01, 0.025, 0.05 และ 0.1%
  • ยาเจลทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 0.08%

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

 ก. สำหรับรักษาสิว: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 - 18 ปี: ทายาบริเวณที่เป็นสิวอย่างเบาบางวันละครั้งก่อนนอน อาจพบอาการสิวกำเริบหรือเป็นหนักขึ้นในระหว่างการใช้ยา 3 - 4 สัปดาห์แรก เมื่อใช้ยาไปถึง 6 - 12 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นปริมาณสิวจะเริ่มลดลง ปกติแพทย์จะให้ใช้ยาจนกระทั่งอาการของสิวดีขึ้นซึ่งอาจใช้เวลาอยู่หลายเดือน สำหรับอาการสิวที่มีการติดเชื้อแพทย์อาจใช้ยา Benzoyl peroxide ร่วมในการรักษาด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมกันเป็นรายบุคคลไป
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยาในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

 ข. สำหรับรักษาผิวหนังถูกแสงแดดทำลาย: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดทำลายอย่างเบาบางวันละครั้งก่อนนอน ระหว่าง ใช้ยานี้แพทย์จะทำการประเมินผลความเสียหายของผิวหนังเป็นระยะๆ หลังจากการใช้ยานี้เป็นเวลา 3 - 4 เดือนอาการผิวหนังจะเริ่มดีขึ้น และอาจต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือนถึง 1 ปีผิวหนังจึงจะคืนสภาพกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกันออกไป
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ใน ดุพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

 *อนึ่ง ขนาดความเข้มข้นของยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินที่ใช้กับผู้ป่วยนั้น แพทย์จะเป็นผู้คัด เลือกให้ตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ    

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ หรือ อาหารเสริม ที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรทายาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินให้ตรงเวลา

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่พบได้บ่อย เช่น

  • บริเวณทายามักมีอาการบวม แดง มีภาวะผิวแห้ง ซึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวและทำให้ทนต่ออาการข้างเคียงเหล่านี้ได้ตามลำดับ
  • แต่ถ้ามีอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือกังวลในอาการควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามทายานี้ในปริมาณมากเกินกว่าคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามกลืนยานี้และห้ามไม่ให้ยานี้เข้าตาโดยเด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • หากมีอาการตุ่มแดงเพิ่มมากขึ้นจนผิดสังเกตควรกลับมาปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/มาโรง พยาบาลทันที
  • ใช้โฟมล้างทำความสะอาดใบหน้าในตอนเช้าโดยห้ามขัดถูใบหน้าอย่างรุนแรง อาจใช้น้ำ อุ่นร่วมการชะล้างใบหน้าก็ได้ แต่ทั้งนี้ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วย
  • หากรู้สึกผิวแห้งสามารถใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง หรือเมื่อต้องออกแดดควรใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมสาร/ครีมกันแดด (SPF 15 ขึ้นไป) ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ล้างมือทันทีหลังใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน
  • การใช้ยานี้ในช่วงฤดูหนาวอาจทำให้รู้สึกแสบคันมากกว่าปกติในบริเวณผิวหนังที่สัมผัส กับตัวยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กัดผิวหนังหรือยาที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังเพิ่มขึ้นโดยไม่มีคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์ กลุ่มยาเหล่านั้น เช่นยา Benzoyl peroxide, Salicylic acid, และ Resorcinol เป็นต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน ร่วมกับยา Methoxsalen (ยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน) สามารถทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยมีอาการผิวผื่นแพ้แสงแดดได้ง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน ร่วมกับยาทาผิวที่มีส่วนประกอบของกำมะถันจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังมากยิ่งขึ้น อาจพบอาการผิวแห้งและหลุดลอกมากยิ่งขึ้น เพื่อป้อง กันภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินอย่างไร

ควรเก็บยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 26 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทาเฉพาะที่เตรทติโนอิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Renova (เรโนวา) Janssen-Cilag
Retacnyl (เรแท็กนิล) Galderma
Retin-A (เรทิน-เอ) Janssen-Cliag
Stieva-A (สตีวา-เอ) Stiefel
Tina-A (ทีนา-เอ) 2M (Med-Maker)
Vesanoid (เวซานอยด์) Roche

 

บรรณานุกรม

  1.  https://en.wikipedia.org/wiki/Tretinoin   [2022,April9]  
  2. https://www.drugs.com/cdi/tretinoin-cream.html   [2022,April9] 
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=tretinoin  [2022,April9] 
  4. https://www.drugs.com/pro/retin-a-micro.html  [2022,April9]   
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/tretinoin?mtype=generic  [2022,April9]   
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/tretinoin-topical-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,April9]