มีไคลซีน (Meclizine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- มีไคลซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- มีไคลซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มีไคลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีไคลซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีไคลซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มีไคลซีนอย่างไร?
- มีไคลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามีไคลซีนอย่างไร?
- มีไคลซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- ยาแก้หวัด (Cold medication)
- เมารถ เมาเรือ (Motion sickness)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- ต้อหิน (Glaucoma)
บทนำ:คือยาอะไร?
มีไคลซีน (Meclizine) หรือยามีโคลซีน (Meclozine) คือ ยาต้านฮิสตามีน /ยาแก้แพ้(Histamine) รุ่นแรกและจัดอยู่ในอนุพันธุ์ของปิเปอราซีน (Piperazine derivatives) มีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ซึ่งเรียกว่า H1 receptor (Histamine 1 receptor) ซึ่งคล้ายกับยาต้านฮีสตามีนตัวอื่นๆ ยามีไคลซีนยังออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางส่งผลบรรเทาอาการวิงเวียนและอาเจียนได้ ทางคลินิกยังนำมาใช้เป็นยาป้องกันอาการเมารถเมาเรือ โดยให้รับประทานยาก่อนการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงถ้าจำเป็นอาจต้องรับประทานซ้ำ
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่โดดเด่นของยานี้ได้แก่ ทำให้รู้สึกง่วงนอน สำหรับผู้ป่วยที่สูงอายุยานี้อาจส่งผลให้มีอาการหลงลืมจึงต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานหรือชนิดอมใต้ลิ้น หลังจากดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาจำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด
ข้อมูลเบื้องต้นที่แพทย์มักจะสอบถามผู้ป่วยก่อนการจ่ายยานี้จะเป็นประวัติสุขภาพประจำตัวของผู้ป่วย เช่น
- มีโรคตับ โรคไต โรคหืด ต้อหิน ต่อมลูกหมากโต หรือมีภาวะปัสสาวะขัดหรือไม่
- พร้อมกับย้ำเตือนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะจากผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน
- หรือการรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบนั้นถือเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดเพราะจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนอย่างมาก
- นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องไม่ปรับเพิ่มปริมาณการรับประทานด้วยตนเอง
- กรณีที่ได้รับยาชนิดเคี้ยวก่อนกลืน ผู้ป่วยจะต้องเคี้ยวยาตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา ห้ามกลืนทั้งเม็ด ทั้งนี้เพื่อช่วยในการกระจายตัวและการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
- หรือหากพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-แขน-ขา-คอมีอาการบวม หรือมีไข้สูงหลังรับประทานยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
มีไคลซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยามีไคลซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ
- ป้องกันการ เมารถเมาเรือ
มีไคลซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยามีไคลซีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ ชื่อ H1-receptor (Histamine 1-receptor) โดยแสดงฤทธิ์เป็นสารประเภท Anticholinergic และมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางส่งผลให้ยับยั้งอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ตามสรรพคุณ
มีไคลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามีไคลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดเคี้ยวก่อนกลืนขนาด 5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
มีไคลซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามีไคลซีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- สำหรับบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน: ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัมวันละครั้งตามความจำเป็น
ข. สำหรับบรรเทาอาการวิงเวียน: ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละ 1 - 4 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- สำหรับป้องกันอาการเมารถเมาเรือ: ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัมก่อนออกเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานยาเกิน 50 มิลลิกรัมใน 1 วัน
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามีไคลซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามีไคลซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามีไคลซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
มีไคลซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามีไคลซีนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ไอ
- กลืนลำบาก
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- หัวใจเต้นเร็ว
- อาจมีผื่นคัน
- แน่นอึดอัด/หายใจลำบาก
- ตาพร่า
- ตาแห้ง
- ปากคอแห้ง
- ปวดหัว
มีข้อควรระวังการใช้มีไคลซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้มีไคลซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เพิ่มด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบหายใจ ผู้ป่วยโรค ต่อมลูกหมากโต
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและทำงานกับเครื่องจักรด้วยตนเองในระหว่างการใช้ยานี้ด้วยอาการจากผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอนจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีไคลซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มีไคลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามีไคลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยามีไคลซีน ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่นยา Barbiturates เครื่องดื่มประเภทสุรา ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียดต่างๆ ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาบรรเทาอาการโรคหวัด สามารถทำให้อาการข้างเคียงของยามีไคลซีนเพิ่มได้มากขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยามีไคลซีน ร่วมกับยา Potassium citrate ชนิดรับประทานสามารถกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนอาจเกิดแผลและมีเลือดออกติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยามีไคลซีน ร่วมกับยา Tamadol สามารถทำให้เกิดการกดศูนย์หายใจของสมอง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยามีไคลซีน ร่วมกับผู้ป่วยด้วยโรคหืดด้วยจะทำให้เพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งที่หลอด ลมจนอาจเกิดการอุดตันในช่องทางเดินหายใจตามมา
ควรเก็บรักษามีไคลซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยามีไคลซีน:
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มีไคลซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามีไคลซีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bonamine (โบนามีน) | Taisho |
Dizitab (ดิซิแท็บ) | Amherst Lab |
Meclitab (มีไคลแท็บ) | Lloyd |
Nodiz (โนดีซ) | Pascual |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Meclizine [2022,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Piperazine [2022,May21]
- https://www.mims.com/Philippines/drug/info/Bonamine/?type=BRIEF [2022,May21]
- https://www.drugs.com/meclizine.html [2022,May21]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/meclizine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,May21]