มาล็อกซ์ (Maalox)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 19 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- มาล็อกซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- มาล็อกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มาล็อกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มาล็อกซ์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มาล็อกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มาล็อกซ์อย่างไร?
- มาล็อกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามาล็อกซ์อย่างไร?
- มาล็อกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- ยาธาตุน้ำแดง (Mixture stomachica) และยาธาตุน้ำขาว (Salon and Menthol Mix ture)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย อาการท้องเสีย (Diarrhea)
บทนำ: คือยาอะไร?
มาล็อกซ์ (Maalox) คือ ชื่อการค้าของยาลดกรดในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนผสมของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และแม็กนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือแม็กนิเซียมไทรซิลิเคท (Magnesium trisilicate) มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการจากระคายเคืองจากภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นผลจากพฤติ กรรมการรับประทานอาหารรสจัด การรับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ผู้ที่ชื่นชอบดื่มน้ำอัดลม หรือกาแฟ/คาเฟอีนในขณะท้องว่าง หรือผู้ที่กำลังเผชิญภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
ยามาล็อกซ์เป็นหนึ่งในยาที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ปัจจุบันยามาล็อกซ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน สามารถซื้อได้ตามร้านยาตลอดจนร้านค้าทั่วไป อย่างไรก็ดี หากอาการภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมีความต้องการใช้ยานี้บ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสา เหตุของโรคหรือเพื่อป้องกันภาวะอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับทางเดินอาหารในอนาคต เช่น โรคกรดไหลย้อน
มาล็อกซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยามาล็อกซ์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร นำมาใช้บรรเทา
- อาการเจ็บแสบจากแผลในระบบทางเดินอาหาร
- บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากภาวะกรดไหลย้อนขึ้นไปในบริเวณหลอดอาหาร
- บรรเทาภาวะกรดเกิน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้อง
- รวมไปถึงลดผลข้างเคียงของยาต่างๆจากการที่ยาที่มีผลข้างเคียงโดยตรงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่เสตรียรอยด์ (เอ็นเสด/NSAIDs) หรือยาเสตรียรอยด์ต่างๆ เป็นต้น
มาล็อกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามาล็อกซ์ ทำหน้าที่เป็นด่างซึ่งเป็นส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) และแม็กนิเซียมไฮดอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน หรือแม็กนิเซียมไทรซิลิเคท (Magnesium trisilicate) ในรูปแบบยาเม็ด ไปสะเทิน/ทำให้เป็นกลางกับกรดในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้ เพื่อลดความเป็นกรดในบริเวณนั้นๆ ทำให้ลดความระคายเคืองในกระเพาะอาหารแลในลำไส้จากกรด
ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาหารท้องผูก ซึ่งนำมาผสมกับยาแม็กนิเซียมไฮดรอกไซด์ที่อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องเสีย ทำให้คุณสมบัติทั้งสองนี้หักล้างกันได้ เป็นส่วนผสมของยาลดกรดที่ออกฤทธิ์เร็วและออกฤทธิ์ในทางเดินอาหารได้นานขึ้น และยานี้มีผลต่อภาวะสมดุลแร่ธาตุ/เกลือแร่ในร่างกายต่ำ เนื่องจากดูดซึมเข้าร่างกาย/กระแสเลือดน้อยจึงมีผลข้างเคียงในเชิงภาพรวมต่อร่างกายน้อย
มาล็อกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยามาล็อกซ์ใน 2 รูปแบบ คือ
- รูปแบบชนิดเม็ด (Tablet): ในหนึ่งเม็ดประกอบไปด้วย อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์(Aluminium Hydroxide) ในรูปเจลแห้ง 250 มิลลิกรัม และแม็กนิเซียมไทรซิลิเคท (Magnesium trisilicate) 350 มิลลิกรัม
- รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension): ใน 100 มิลลิลิตรประกอบไปด้วยอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ 4 กรัม และแม็กนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) 2.4 กรัม
มาล็อกซ์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยามาล็อกซ์มีวิธีการรับประทาน: เช่น
- ชนิดเม็ด: เช่น ครั้งละ 1 - 2 เม็ดวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจทานร่วมหรือไม่ร่วมกับอาหาร
- ชนิดยาน้ำแขวนตะกอน: เช่น ครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ (15 - 30 มิลลิลิตร) หรือ 3 - 6 ช้อนชา วันละ 3 - 4 ครั้ง อาจทานร่วมหรือไม่ทานร่วมกับอาหารก็ได้
*อนึ่ง ขนาดยาทั้ง 2 กรณีเป็นขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่และในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป การใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามาล็อกซ์ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด และแพ้ยานี้ เช่น ยาที่ทานแล้วเคยมีอาการผื่นคันขึ้น การบวมของริมฝีปากหรือเปลือกตา/หนังตา รวมไปถึงการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อยหลังจากทานยา โดยเฉพาะยาที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide), แม็กนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide), และแม็กนิเซียมไทรซิลิเคท (Magnesium trisilicate)
- โรคประจำตัว รวมไปถึงยาที่ใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร เพื่อป้องกันอันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- อาการท้องผูกหรือท้องเสียที่กำลังดำเนินอยู่
- ประวัติโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน
- ผู้ป่วยโรคไตหรือผู้ที่มีภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส (Phosphate/ Phosphorus) ในเลือดต่ำ
- สตรีตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามาล็อกซ์ ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับมื้อถัดไปให้ข้ามไปรับประทานยามื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
มาล็อกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามาล็อกซ์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประ การอาทิ
- ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
- การรับรสเปลี่ยน
- ริดสีดวงทวาร
มีข้อควรระวังการใช้มาล็อกซ์อย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยามาล็อกซ์ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้
- การใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 12 ปีควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- หากยานี้มีความจำเป็นต้องใช้ระยะยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจอาการก่อน
- หากผู้ป่วยรับประทานยานี้แล้วพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คัน รวมไปถึงอาการบวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า และอาการหายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยานี้ทันที และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- สตรีตั้งครรภ์ หรือ สตรีกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้เสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามาล็อกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มาล็อกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามาล็อกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้ เช่น การใช้ยาอื่นร่วมกับยามาล็อกซ์อาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาตัวอื่นนั้นๆสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายอาจไม่ได้รับปริมาณยานั้นๆที่เพียงพอ จึงควรปรึกษาเภสัชกรหากใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมกับยามาล็อกซ์ เช่น
- ยารานิทิดีน (Ranitidine), ยาฟาโมทิดีน (Famotidine) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ยากลุ่มเรซินแลกเปลี่ยนแคทไออน (Cation Exchange Resins) เช่นยา โซเดียมโพลีไสตรีนซัลโฟเนท (Sodium Polystyrene Sulfonate) รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
- ยาวาฟาริน (Warfarin), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ยาควินิดีน (Quinidine) ใช้รักษาโรคมาลาเรีย/โรคไข้จับสั่น หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เช่น ยากลิพิไซด์ (Glipizide), ยาไกลบูไรด์ (Glyburide), ยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide)
- ยาดิจอกซิน (Digoxin) รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยาอีแธมบูทอล (Ethambuthol) รักษาโรคติดเชื้อวัณโรค
- ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) เช่น ยาโพรพาโนลอล (Propanolol), บิโซโพรลอล (Bisoprolol), ยาอะทิโนลอล (Atenolol)
- ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูงกลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แองจิโอเทนซินดอนเวิร์ททิง (Angiotensin-converting Enzyme Inhibitors) เช่น ยาอีนาลาพริล (Enalapril)
- ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน (Penicillins) อาทิ อะม็อกซิซิลิน (Amoxicillin), ยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนส์ (Fluoroquinolones) เช่น ยาซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) และรวมไปถึง
- ยาเสริมธาตุเหล็ก (Ferrous fumarate)
ควรเก็บรักษามาล็อกซ์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายามาล็อกซ์: เช่น
- เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิม ปิดฝาภาชนะให้สนิท
- ไม่ควรใช้ยานี้หลังการเปิดครั้งแรก 6 เดือน หรือไม่เกินวันหมดอายุ โดยใช้วันที่สั้นกว่า
- เก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องในที่ไม่ร้อนเกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจถูกแสงแดดโดยตรง เก็บยานี้ในที่แห้ง
- เก็บยานี้ให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยานี้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
มาล็อกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามาล็อกซ์เป็นชื่อการค้าของยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือ แมกนิเซียมไทรซิลิเคท (Magnesium trisilicate) ซึ่งมียาอื่นๆที่มีส่วนผสมใกล้เคียงกันที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยดังต่อไปนี้เช่น
ชื่อการค้า (ชื่อสามัญ) | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
แอนทาซิล เยล - Antacil Gel (Aluminium Hydroxide compressed gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด |
แอนทาซิล เยล แอล.ที. – Antacil Gel L.T. (Aluminium Hydroxide compressed gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด |
เครมิล-เอส - Kremil-S (Aluminium hydroxide, Magnesium Carbonate. Dicyclomine HCl และ Simethicone) | บริษัท ยูนิแล็บ ฟาร์มาซูติคอลส์ จำกัด |
แอมาโคน – Amacone (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด |
โปเซนนัม –Poshennum (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท เอช.เค.ฟาร์มาซูติคอล จำกัด |
อะลูท็อป เจล – Alutop Gel (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท เยนเนอร์ราลดรั๊กเฮ้าส์ จำกัด |
คอนเจล – Congel (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท คอนติเนนเติล-ฟาร์ม จำกัด |
อลูเมด ซัสเฟนชั่น – Alumed Suspension (Aluminium Hydroxide และ Magnesium hydroxide) | บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด |
มาโน่ - Mono Tablets (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานมิลาโน |
ไลซันเจล – Lison-Gel Tablets (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท คอนติเนนเติล-ฟาร์ม จำกัด |
ไดโอวอล มิ้นท์ Diovol Mint Suspension (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ยู.เอา.สัมมิท (โอเวอร์ซีส์) จำกัด |
แอลแม็ค มิลค์ – Almag Milk (Aluminium Hydroxide และ Magnesium hydroxide) | บริษัท บี.เอ็ล. ฮั้ว จำกัด |
อาร์ทีเจน-เยล – R.T.Gen Gel Suspension (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ที.แมน ฟาร์มา จำกัด |
บูราเจล ชนิดน้ำ Burajel Suspension (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท บูรพาโอสถ จำกัด |
แอ็ดแม๊ก ที.พี. – Admag T P (Aluminium Hydroxide compressed gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ที.พี.ดรัก แลบบอราทอรีส์ (1969) จำกัด |
กาสก้า จีแอล – Gasga G.L. (Aluminium Hydroxide และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด |
ชินต้าซิด – Chintacid (Aluminium Hydroxide และ Magnesium hydroxide) | บริษัท โรงงานผลิตเวชภัณฑ์ชินต้าเทรดดิ้ง (1971) จำกัด |
อามิโก้-แอล มิกซ์เจอร์ – Amico-L Mixture (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ที.โอ.ฟาร์ม่า จำกัด |
โบวาเยล – Bowa Gel (Aluminium Hydroxide, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด |
อะลูดอน ชนิดน้ำ – Aludon (Aluminium Hydroxide compressed gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท แอคดอน จำกัด |
โซลูแมก-ดี - Solumag-D (Aluminium Hydroxide compressed gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิวบราเดอร์ส |
ไบร์เยล – Brygel (Aluminium Hydroxide compressed gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ไบร์วู๊ดฟาร์มาซูติคอล จำกัด |
ดร๊อกซิเม็ก – Droximag (Aluminium Hydroxide compressed gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท พี.พี.แลบอราตอรีส์ จัด |
แม็ชโต – Machto (Aluminium Hydroxide compressed gel, Magnesium trisilicate และ Magnesium hydroxide) | บริษัท เภสัชกรรมนครพัฒนา จำกัด |
แอนตาเซีย – Antacia (Aluminium Hydroxide compressed gel, Magnesium trisilicate และ Magnesium hydroxide) | บริษัท สนามเมดิแคร์ จำกัด |
โวต้าเยล – Votagel (Aluminium Hydroxide compressed dried gel, Simethicone และ Magnesium hydroxide) | บริษัท โรต้าลาบอเร็ทตอรี่ส์ จำกัด |
มาลูเจล – Malugel Liquid (Aluminium Hydroxide dried gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท เจริญเภสัชแล็บ จำกัด |
ซูตาซิด – Sutacid (Aluminium Hydroxide dried gel และ Magnesium tricilicate) | ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุพงษ์เภสัช |
อะดรอแม็ก – Adromag (Aluminium Hydroxide dried gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท แลชแมน จำกัด |
เคนยาเจล – Kenya Gel (Aluminium Hydroxide dried gel, Magnesium tricilicate และ Simethicone) | บริษัท เคนยากุ (ประเทศไทย) จำกัด |
แก็สสเป็ค ซัสเฟนชั่น - Gaspec Suspension (Aluminium Hydroxide dried gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ฟาร์สเป็ค จำกัด |
เอส.ที.แม็ก 2 – S.T.Mag 2 (Aluminium Hydroxide dried gel และ Magnesium trisilicate) | บริษัท โรงงานเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เมดิคอล จำกัด |
ดีเอซิล เยล – Deacil Gel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ซีโนฟาร์ม (ไทย) จำกัด |
อะลัม เยล – Alum Gel (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ยูโทเปี้ยน จำกัด |
เบลสิด ซัสเพนชั่น – Belcid Suspension (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ไบโอแลป จำกัด |
แก๊สมาคาล – Gasmacal Mixture (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บรัษัท เอ.เอ็น.บี. ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด |
ไซโคเจล – Sicogel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท นิวไลฟ์ฟาร์ม่า จำกัด |
แม็คครอล - Maccrol (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ฟาร์มาสันแล็บบอราตอรี่ส์ จำกัด |
ชูด้า เจล – Chu-Da Gel Suspension (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ดาด้า ฟราร์มาซูติคอล จำกัด |
กัสซี เจล – Gussi Gel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท วี.เอส.ฟาร์ม่า (1971) จำกัด |
แมคเจล - Mac Gel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ยูโทเปี้ยน จำกัด |
บู๊ทส์ อินไดเจสทีฟ ซัสเพนชั่น – Boots Indigestive Suspension (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ไบโอแลป จำกัด |
ไบร์เยล – เอ็นเอส – Brygel – NS (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท ไบร์วู๊ดฟาร์มาซูติคอล จำกัด |
ฮีโร่เจล – Herogel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ฮีโร่มันซิน ฟาร์ม่า จำกัด |
แอลติคอน – Alticon (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท เภสัชกรรม เค. บี. จำกัด |
ซิก้า เจล - Ziga Gel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด |
อะลัมิลค์ เอส พี – Alum Mil SP (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด |
มาล็อกซ์ อะลัม มิลค์ – Malox Alum Milk (Aluminium Hydroxide gel และ Magnesium hydroxide) | บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด |
เรดูซิด – Reducid (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ยูนิซัน จำกัด |
ไมยอน ตรา กระต่ายบิน – Maiyon by Flying Rabbit (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท ห้างยาไทย 1942 จำกัด |
อาโมจิน – เยล – Amogin – Gel (Aluminium Hydroxide gel, Magnesium hydroxide และ Simethicone) | บริษัท อุดมพร (ฟิฮาแล็บ) จำกัด |
*หมายเหตุ: ยาไซเมธิโคน (Simethicone) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาลดกรดบางชนิดเพื่อลดอา การท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง จากการมีลมหรือแก๊สมากเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้
บรรณานุกรม
- Amanda H. Corbett, Susan Cornell, Marilyn Cortell, et al. Drug Information Handnook with International Trade Names index. 2014;
- MIMS Thailand. 134th ed. Bangkok: TIMs;
- Nick Buckley, et al. Drugs for dyspepsia, reflux and peptic ulcers. Australian Medicines Handbook 2014: 485-489.
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/char/A/35 [2021,Dec18]
- https://www.maalox.co.uk/ [2021,Dec18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Maalox [2021,Dec18]
- https://www.empr.com/drug/maalox/ [2021,Dec18]