ภาวะผล็อยหลับ ภาวะปวกเปียก (Cataplexy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 12 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ภาวะผล็อยหลับคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
- ภาวะผล็อยหลับมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการผล็อยหลับ?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะผล็อยหลับอย่างไร?
- การรักษาภาวะผล็อยหลับทำอย่างไร?
- การดูแลของญาติและเพื่อนร่วมงานหรือที่โรงเรียนควรทำอย่างไร?
- ภาวะผล็อยหลับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมื่อมีภาวะผล็อยหลับควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันภาวะผล็อยหลับได้อย่างไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- ไข้สมองอักเสบ (Infectious encephalitis)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ชักตัวอ่อน (Atonic seizure)
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
บทนำ
อาการผิดปกติของการนอนมีหลายรูปแบบที่พบบ่อย คือ นอนไม่หลับ แต่มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีอาการนอนหลับได้ตลอดเวลา ง่วงนอนตลอดเวลาถึงแม้จะนอนหลับได้อย่างมากแล้วก็ตาม และก็มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการอ่อนแรง ล้มลง สูญเสียกำลังของกล้ามเนื้อ คอ แขน ขา เข่า ทำให้ล้มลงกับพื้นเป็นระยะเวลาสั้นๆโดยที่รู้สึกตัวดีตลอด อาการดังกล่าวเรียกว่า “อาการ/ภาวะผล็อยหลับหรือภาวะปวกเปียก (Cataplexy)” ลองติดตามดูครับว่าอาการนี้มีลักษณะสำคัญ อย่างไร เกิดขึ้นจากสาเหตุใด และจะรักษาหายได้อย่างไร
ภาวะผล็อยหลับคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
อาการ/ภาวะผล็อยหลับ หรือ Cataplexy เป็นอาการ/ภาวะพบได้น้อยและไม่มีสถิติการเกิดที่ชัดเจน แต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นอาการ/ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการสูญเสียกำลังหรือแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) อย่างเฉียบพลัน โดยเกิดกับกล้ามเนื้อคอ เข่า ขา แขน หรือใบหน้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการล้มลงกับพื้น และอาจเกิดอันตรายจากการล้มได้ถ้าล้มลงอย่างรวดเร็ว หรือกำลังขับรถ หรือเล่นกีฬาอยู่ ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีสติดีตลอดเวลา แต่อาจมีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่สามรถเพ่งมองหรือโฟกัสภาพให้ชัดเจนได้ ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆมักไม่เกิน 2 นาที แต่ถ้าเป็นนานเกิน 20 - 30 นาทีก็เรียก ว่า ภาวะผล็อยหลับต่อเนื่อง (Status cataplecticus) ซึ่งพบได้น้อยมาก
อาการผล็อยหลับนี้เป็นลักษณะความผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยโรคลมหลับ (Nacrolepsy) โดยเป็นลักษณะสำคัญเพราะพบได้ถึง 70% ของผู้ป่วยโรคลมหลับ และเป็นลักษณะทางคลินิกที่สำคัญของการวินิจฉัยโรคลมหลับ
ภาวะผล็อยหลับมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุการเกิดของอาการ/ภาวะผล็อยหลับยังไม่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงคือ มีความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาท Hypocretin (สารที่เกี่ยวข้องกับการทำให้สมองตื่นตัว) ต่ำกว่าปกติ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคต่างๆของสมองโดยเฉพาะเมื่อมีรอยโรคที่สมองไฮโปธาลามัส เช่น
- ภาวะสมองอักเสบ
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
- โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ที่มีรอยโรคบริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการผล็อยหลับ?
อาการ/ภาวะผล็อยหลับนี้จะมีอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดอาการผล็อยหลับ ปัจจัยอารมณ์กระตุ้นที่พบบ่อยได้แก่ โกรธ ดีใจ หัวเราะ ตื่นเต้น กลัว เครียด ตกใจ แปลกใจ เสียงเรียกดังๆ มีเพศสัมพันธ์ ว่ายน้ำ ร้องเพลง หาว เขิน ไม่สบายใจ สรุปได้ว่าถ้ามีการเปลี่ยน แปลงทางอารมณ์เกือบทุกอย่างก็มีโอกาสกระตุ้นทำให้มีอาการดังกล่าวได้ในกลุ่มผู้ป่วย โรคลมหลับหรือในกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้ ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
แพทย์วินิจฉัยภาวะผล็อยหลับอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอาการ/ภาวะผล็อยหลับได้จาก
- ประวัติอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยโดยเฉพาะการเกิดอาการเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นดังกล่าว ที่สำคัญคือระยะเวลาที่เกิดอาการ การมีสติ และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่จะต่างกับการชักแบบล้มลงทันที/ชักตัวอ่อน (Atonic seizure) เพราะการชักตัวอ่อน ผู้ป่วยจะหมดสติ เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ต้องมีปัจจัยกระตุ้น และการฟื้นตัวของผู้ป่วยไม่รวดเร็ว
- และร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
อนึ่ง: ส่วนการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)และ/หรือเอมอาร์ไอ สมองจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
การรักษาภาวะผล็อยหลับทำอย่างไร?
การรักษาภาวะผล็อยหลับคือ
- ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ดังกล่าว ใน’หัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นฯ’
- การทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรค/ภาวะนี้
- ร่วมกับ
- การดูแลที่ดีของ เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว
- และการทานยาตามแพทย์สั่ง ที่มีรายงานว่าได้ผลจะเป็นยาในกลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressant) เช่นยา Venlafaxine
การดูแลของญาติและเพื่อนร่วมงานหรือที่โรงเรียนควรทำอย่างไร?
การดูแลผู้ป่วยภาวะผล็อยหลับจากคนรอบข้างเป็นสิ่งที่สำคัญคือ
- การเสริมความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในการดำเนินชีวิตและในกิจกรรมต่างๆ
- การพยุงหรือประคองเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการ
- อย่าทำให้ผู้ป่วยตกใจหรือเขินอายขณะที่มีอาการ
- ระวังอันตรายที่จะเกิดเมื่อผู้ป่วยล้มลง
- ต้องหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง
- กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าอาการนี้ไม่ใช่อาการ ทางจิตเวชก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ภาวะผล็อยหลับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
เนื่องจากภาวะผล็อยหลับเป็นอาการ/ภาวะหนึ่งในโรคลมหลับ ดังนั้นการพยากรณ์โรคของ ภาวะผล็อยหลับจึงเช่นเดียวกับในโรคลมหลับ คือ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้
อาการ/ภาวะผล็อยหลับและโรคลมหลับมีอันตรายมาก สืบเนื่องจากผลข้างเคียงของโรค /อาการ เพราะจะหลับง่ายมากและเกิดได้เมื่อมีตัวกระตุ้นอารมณ์ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นฯ’ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ขณะขับรถหรือขณะทำกิจกรรมต่างๆ และยังผลให้สมรรถภาพการทำงานลดลง คุณภาพชีวิตจึงด้อยลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นนานๆ อาจเกิดภาวะ/โรคซึมเศร้าตามมาได้
เมื่อมีภาวะผล็อยหลับควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่เหมาะสมเมื่อมีภาวะผล็อยหลับจะเช่นเดียวกับการดูแลตนเองในโรคลมหลับซึ่งได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ปรับพฤติกรรมการนอนให้ตรงเวลา
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีผลต่อการนอนเช่น เครื่องดื่มมีคาเฟอีน(เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมเครื่องดื่มบำรุงกำลัง)
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน
- รักษาสุขภาพจิตไม่เครียด
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- ง่วงนอนมากขึ้น
- มีอาการผล็อยหลับบ่อยขึ้น
- ฝันร้ายบ่อยขึ้น
- เห็นภาพหลอน/ประสาทหลอนขณะกำลังจะนอนหรือกำลังจะตื่นบ่อยขึ้น
- ผล็อยหลับจนเกิดอุบัติเหตุจากการล้มโดยไม่รู้สึกตัวบ่อยขึ้น
- แพ้ยาหรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งและ/หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันภาวะผล็อยหลับได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะผล็อยหลับ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้ นอกจากเมื่อเป็นโรคลมหลับ ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ /ภาวะผล็อยหลับ ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ/ภาวะนี้’