ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง (Non ketotic hyperglycemic induced seizures: NKHS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบบ่อยอันดับต้นๆของประชากรโลกและของประเทศไทย ร่วม กับโรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง

ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ มีอาการหิวน้ำบ่อย ทานอาหารมาก แต่ผอมลง และเมื่อเป็นนานๆ โดยที่ควบคุมโรคไม่ได้ จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เบาหวานเข้าไต (Diabetic nephropathy), เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) และโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน(Diabetic neuropathy) โดยโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีอาการที่พบบ่อย คือ อาการชาปลายมือ ปลายเท้า

นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวานบางราย มีผลแทรกซ้อนที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น จาก โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก), จากภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก (Hyperosmolar coma), และยังมีผู้ป่วยเบาหวานอีกส่วนหนึ่งที่มาพบแพทย์ด้วย มีอาการชักเฉพาะที่แบบต่อเนื่อง ที่เรียกว่า “Epilepsia partialis continua: EPC” ซึ่งอาการ/ภาวะ/โรคนี้พบได้ไม่บ่อย และแพทย์ส่วนใหญ่ไม่รู้จักภาวะนี้ เนื่องจากไม่มีเขียนในตำราใดๆ เพราะเป็นโรคที่ไม่พบในประเทศยุโรปและอเมริกา จึงเป็นที่มาของบทความนี้

ทั้งนี้ ในบทความนี้ ขอเรียก “ภาวะชักเฉพาะที่แบบต่อเนื่อง (EPC) สาเหตุจากน้ำตาลในเลือดสูง ว่า “ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง ”

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงคืออะไร?

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง คือ อาการชักเฉพาะที่แบบต่อเนื่อง (EPC) ที่มีสาเหตุจากน้ำตาลในเลือดสูง (สาเหตุจากโรคเบาหวาน) โดยผู้ป่วยจะมีอาการชัก (Seizure) ที่เกิดเฉพาะบางส่วนของร่างกาย เช่น มือ แขน ขา ใบหน้า หรือ ปาก โดยเป็นการเกร็ง กระตุก ของกล้าม เนื้อร่างกายส่วนนั้นๆ แบบต่อเนื่อง นานหลายๆนาที ส่วนใหญ่มากกว่า 5 นาที วันละหลายๆครั้ง ชักนานหลายๆวัน โดยไม่มีอาการอื่นๆ หรือผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงอื่นๆทางระบบประสาท (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ร่วมด้วย

ทั้งนี้ ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากลักษณะอาการชักดังกล่าวแล้ว แพทย์จะตรวจไม่พบความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาท (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง) แต่ตรวจเลือด จะพบระดับน้ำตาลสูง โดยไม่พบภาวะเลือดเป็นกรด (Non ketotic hyperglycemia) ดังนั้นจึงเรียก ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงนี้ว่า “Non ketotic hyperglycemia induced seizures หรือย่อว่า NKHS”

ภาวะ NKHS นี้ พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยพบในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคน

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงเกิดได้อย่างไร?

เนื่องจากการศึกษาในภาวะนี้ มีน้อยมาก เพราะพบบ่อยเฉพาะประเทศไทย และบางประเทศในทวีปเอเชีย ไม่พบในคนเชื้อชาติยุโรป อเมริกา จากข้อมูลในปัจจุบันสันนิษฐานว่า อาจเกิดจาก

  • ภาวะสมองขาดเลือดเป็นบริเวณเล็กๆ (Focal ischemia) สาเหตุจากมีน้ำตาลในเลือดสูง
  • ระดับสารที่ยับยั้งการชักในสมอง (สารกาบา: GABA/Gamma amino butyric acid) ลดลง
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมอง ที่เกิดการเหี่ยวแห้ง และ/หรือ บวม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูง (ภาวะ NKHS) ได้แก่ ผู้ที่ร่างกายมีความผิดปกติของการเผาผลาญน้ำตาล (โรคเบาหวาน) โดยพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ป่วย ภาวะ NKHS ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็น เบาหวาน

วินิจฉัยภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงได้อย่างไร?

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะ NKHS โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่ประกอบด้วย

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Hyperglycemia)
  • ไม่พบภาวะเลือดเป็นกรด (Non ketotic hyperglycemia)
  • ความเข้มข้นของเลือดปกติ (No hyperosmolar)
  • มีการชักแบบ EPC
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบความผิดปกติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ถ้าตรวจพบมีลักษณะข้อ 1-4

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการชักแบบ EPC โดยเฉพาะเมื่อชักนานกว่า 1 ชั่วโมง

รักษาภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงอย่างไร?

การรักษาภาวะ NKHS ที่สำคัญ คือ การรักษาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงสู่ระ ดับปกติ (รักษาควบคุมโรคเบาหวาน) โดยการฉีดยา อินซูลิน และไม่ต้องใช้ยากันชัก ซึ่งจำ เป็นต้องรักษาควบคุมโรคเบาหวานตลอดไป เช่นเดียวกับในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีอาการชัก

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะ NKHS โดยตรงไม่มี แต่จะเป็นผลข้างเคียงจากโรคเบาหวาน ที่เหมือนในโรคเบาหวานทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รู้ทันโรคเบาหวาน และเรื่อง เบาหวาน)

ภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะ NKHS มีการพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป แต่มีโอ กาสสูง ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ ตา ไต และระบบประสาท เพราะมักเป็นเบาหวานที่ดื้อต่อการใช้ยากิน ที่จำเป็นต้องใช้การรักษาควบคุมด้วยการฉีดอินซูลิน

ผู้ป่วยภาวะ NKHS ภายหลังรักษาควบคุมอาการชักได้ มักมีโอกาสเกิดชักเป็นซ้ำน้อยมาก ถึงแม้ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นสูงมากอีกก็ตาม ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่มีโอกาสชักซ้ำ (พบน้อยมาก) คือ ผู้ที่ไม่รักษาโรคเบาหวานสม่ำเสมอ และเกิดปัญหาอื่นๆร่วมด้วย เช่น น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโซเดียมในเลือดลดต่ำลงมาก และ/หรือ มีภาวะติดเชื้อร่วมด้วย

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่ดีสำหรับผู้ป่วยภาวะ NKHS คือ

  • รักษา ควบคุมโรคเบาหวานให้สม่ำเสมอ
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดตามแพทย์แนะนำ
  • พยายามไม่ให้ตนเองติดเชื้อ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะ NKHS ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ หิว หน้ามืด หมดสติ
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น ซึม หมดสติ
  • มีไข้ ที่บ่งถึงภาวะติดเชื้อ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะชักเหตุน้ำตาลในเลือดสูงอย่างไร?

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ NKHS ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รู้ทันโรคเบาหวาน และเรื่อง เบาหวาน)

ส่วนเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว การป้องกันภาวะ NKHS คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน, ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ, และถ้าเกิดภาวะ NKHS แล้ว ยิ่งต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีที่ สุด เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ