ฟีโนเทอรอล (Fenoterol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ฟีโนเทอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ฟีโนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟีโนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟีโนเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ฟีโนเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนเทอรอลอย่างไร?
- ฟีโนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟีโนเทอรอลอย่างไร?
- ฟีโนเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- แซนทีน อนุพันธ์แซนทีน (Xanthine derivatives)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟีโนเทอรอล (Fenoterol) คือ ยาขยายหลอดลม, ทางคลินิกใช้ช่วยขยายหลอดลมและบำบัดอาการหอบหืด, รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาพ่นผ่านเครื่องพ่น ซึ่งทั่วไปพ่นเข้าทางเดินหายใจโดยพ่นผ่านช่องปาก, หรือใช้พ่นผ่านเครื่องพ่นครอบทั้งจมูกและปากกรณีเป็นเครื่องพ่นเฉพาะชนิดที่เรียกว่า Nebuliser ที่ใช้เมื่อผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล, และเพื่อประสิทธิผลของการรักษา จึงใช้ยานี้ร่วมกับยา 'ไอปราโทรเปียม (Ipratropium)'
ฟีโนเทอรอลจัดเป็นยาในกลุ่ม Beta 2 adrenergic agonist, มีการออกฤทธิ์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ, ซึ่งมิได้ออกฤทธิ์กับหลอดลมเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบอวัยวะอื่นๆของร่างกายได้อีก เช่น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น, มีความดันโลหิตในช่วงหัวใจบีบตัวสูง แต่ขณะที่หัวใจคลายตัวกลับทำให้ความดันโลหิตลดต่ำ, เกิดอาการสั่นของกล้ามเนื้อ, มีระดับของเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, หากใช้กับสตรีตั้งครรภ์จะทำให้มดลูกเกิดการคลายตัวซึ่งทางคลินิกได้นำมาใช้เป็นยาป้องกันการคลอดบุตรก่อนกำหนด
ข้อห้าม/ข้อควรระวัง: มีข้อห้าม/ข้อควรระวังอีกหลายประการที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาฟีโนเทอรอล เช่น
- ห้ามและหลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนเทอรอลกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมชนิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic obstructive cardiomyopathy), หรือผู้ที่มีภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Tachyarrhythmia
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มอะโทรปีน (Atropine-like substances)
- การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่มอนุพันธุ์แซนทีน (Xanthine derivatives) เช่นยา Theophylline จะทำให้เกิดการขยายหลอดลมมากเกินไป อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆตามมาอย่างมากมาย
- การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์/ Beta blocker จะทำให้ฤทธิ์ของการขยายหลอดลมลดลงอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ยาฟีโนเทอรอล ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุให้ใช้ร่วมกับยา Ipratropium เพื่อนำมาเป็นยาขยายหลอดลม, และจัดให้อยู่ในหมวดของยาอันตราย, การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภคไม่สมควรไปซื้อหายามาใช้เองโดยมิได้มีการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน, ยานี้มีการวางจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป, อีกทั้งสามารถพบเห็นการใช้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
ฟีโนเทอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟีโนเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้ขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหืด
- ใช้ป้องกันและรักษาบรรเทาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดี
ฟีโนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟีโนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดลมขยายตัว, และยังทำหน้าที่ต่อต้านสารที่ทำให้หลอดลมหดตัว เช่น Histamine, Methacholine, รวมถึงสารที่กระตุ้นให้มีอาการแพ้ จนเป็นสาเหตุของการหอบ/หลอดลมหดตัวเกิดขึ้น
ฟีโนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีโนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาพ่นผ่านทางช่องปากและ/หรือเป็นยาพ่นผ่านทั้งทางช่องปากและช่องจมูกชนิดสารละลายที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Ipratropium Br/Bromide 20 ไมโครกรัม + Fenoterol HBr/Hydrobromide 50 ไมโครกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง
- Ipratropium Br 0.25 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
- Ipratropium Br 0.5 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 1.25 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร (unit-dose vial)
ฟีโนเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟีโนเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: เช่น
- ขณะมีอาการเฉียบพลัน: ให้พ่นยา 2 - 4 ครั้ง
- สำหรับบำบัดรักษาอาการทั่วไป: ให้พ่นยา 1 - 8 ครั้ง/วัน
ข. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีลงมา: ขนาดใช้ยานี้กับเด็กกลุ่มนี้ยังมิได้มีการยืนยันและจัดทำในทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง: สำหรับสูตรตำรับยานี้ที่มีการบรรจุหลอดและใช้พ่นหมดหลอดหรือที่เรียกว่า ‘Unit-dose-vial’ ต้องใช้เครื่องพ่นยาที่มีลักษณะเฉพาะ (Nebuliser) ซึ่งโดยมากจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟีโนเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมพ่นยาฟีโนเทอรอล ให้พ่นยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการพ่นยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรพ่นยาฟีโนเทอรอลให้ตรงเวลา
ฟีโนเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีโนเทอรอล สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นเร็วหรืออาจช้าก็ได้ เจ็บหน้าอก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว กระสับกระส่าย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นคัน หรือ มีอาการบวมของผิวหนัง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนเทอรอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนเทอรอล: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามซื้อยานี้มาใช้เองโดยมิได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามให้ยานี้เข้าตา หรือควรหลับตาทุกครั้งที่ต้องพ่นยา, กรณีตัวยาสัมผัสตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคต้อหิน โรคเบาหวาน
- ฝึกหัดวิธีใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกรหรือพยาบาลก่อนนำยากลับมาใช้ที่บ้าน
- กรณีที่ไม่ได้ใช้ยาพ่นนี้นานเกิน 3 วัน ก่อนการใช้ทุกครั้งให้ทดสอบพ่นยาทิ้งประมาณ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าระบบการพ่นยายังใช้ได้เป็นปกติหรือไม่
- หากต้องพ่นยาเกิน 1 ครั้ง, ให้รอเวลาประมาณ 15 วินาที, แล้วจึงค่อยพ่นยาครั้งถัดไป
- กรณีที่มีอาการวิงเวียนหลังการใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- *กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือการใช้ยานี้ขณะที่มีอาการหอบแบบเฉียบพลันแล้วไม่ได้ผล, ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีโนเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟีโนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีโนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยา Atomoxetine อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroid, Beta 2 adrenergic agonist, ยาขับปัสสาวะ, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ จนส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย
- การใช้ยาฟีโนเทอรอลกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยาอินซูลิน: สามารถส่งผลให้ระดับอินซูลินของร่างกายทำงานได้มากขึ้นจนอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาฟีโนเทอรอลอย่างไร?
ควรเก็บยาฟีโนเทอรอล: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟีโนเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีโนเทอรอล มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aerobidol (เอโรบิดอล) | Aerocare |
Berodual (เบโรดูออล) | Boehringer Ingelheim |
Berodual Forte (เบโรดูออล ฟอร์ด) | Boehringer Ingelheim |
Combivent UDV (คอมบิเวนท์ ยูดีวี) | Boehringer Ingelheim |
Inhalex Forte (อินแฮเล็กซ์ ฟอร์ท) | Silom Medical |
Iperol (ไอเพอรอล) | L. B. S. |
Iperol Forte (ไอเพอรอล ฟอร์ท) | L. B. S. |
Iprateral (อิพราเทอรอล) | Pharma Innova |
Punol (พูนอล) | Biolab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist [2022,Dec31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fenoterol [2022,Dec31]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=fenoterol [2022,Dec31]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/berodual-berodual%20forte/?type=full#Indications [2022,Dec31]
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/j.1527-3466.1999.tb00006.x [2022,Dec31]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/berodual-berodual%20forte/?type=full#Actions [2022,Dec31]
- https://www.medicinenet.com/fenoterol_inhalation_solution-oral/article.htm [2022,Dec31]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB01288 [2022,Dec31]