ฟลูเพนทิซอล (Flupenthixol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟลูเพนทิซอล (Flupenthixol หรือ Flupentixol หรือ Flupenthixol decanoate) คือ ยาจิตเวช เช่น ใช้รักษา โรคซึมเศร้า,  โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มยาไทโอแซนทีน (Thioxanthene), ทางคลินิก รู้จักยานี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1965(พ.ศ.2508), สูตรตำรับยานี้มักจะผสมยา Melitracen (ยารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่มยาTCA) ร่วมด้วย, โดยรูปแบบยามีทั้งยารับประทานและยาฉัด

 ตัวยาฟลูเพนทิซอล สามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึงประมาณ 35 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลทางคลินิกที่สามารถให้ยากับผู้ป่วยเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยต้องใช้ในรูปแบบยาฉีดซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ชอบรับประทานยา  การใช้ยาฟลูเพนทิซอลในขนาดต่ำ จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี  กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ จะเป็นเรื่องการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจนทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ 

ข้อจำกัดในการใช้ยาฟลูเพนทิซอลที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ฟลูเพนทิซอลกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่มไทโอแซนทีน
  • เลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะง่วงนอนอย่างมาก หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล หรือทางตรงกันข้าม ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะคุ้มคลั่ง
  • ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากจำเป็นต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคต่อมลูกหมากโต โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต้อหิน โรคเบาหวาน และผู้ที่มีปัญหาเรื่องการจับตัว/การทำงานของเกล็ดเลือด
  • ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้

สำหรับประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ  และยังระบุให้สูตรตำรับของยาฟลูเพนทิซอลที่ผสมร่วมกับยา Melitracen เป็นทั้งยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ  และสามารถพบเห็นการใช้ฟลูเพนทิซอลในคลินิกทางจิตเวช โดยการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ฟลูเพนทิซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลูเพนทิซอล

 

ยาฟลูเพนทิซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • รักษาภาวะ/โรคซึมเศร้า (ยาต้านเศร้า)

ฟลูเพนทิซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟลูเพนทิซอลมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptor) ของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น  Dopamine (D1 และ D2) receptor,  Alpha-adrenergic receptor,  และก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองได้อย่างเหมาะสม  ทำให้อาการซึมเศร้าทุเลาลง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ

ฟลูเพนทิซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูเพนทิซอล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 20 และ 100 มิลลิกรัม/ขวด

ฟลูเพนทิซอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดรับประทานของยาฟลูเพนทิซอล เช่น  

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 1 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง ในตอนเช้าก่อนหรือหลังอาหารก็ได้, จากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 0.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ในตอนเช้าก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้, จากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

  • เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูเพนทิซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
    ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย                                                                                                                    
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูเพนทิซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน       
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูเพนทิซอล  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า    

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาฟลูเพนทิซอล ตรงเวลา การลืมรับประทานยานี้ บ่อย หลายครั้ง หรือหยุดการใช้ยานี้เอง สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่างๆต่อการรักษาตามมา เช่น ทำให้อาการทางจิตแย่ลง

ฟลูเพนทิซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูเพนทิซอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว และ/หรือ ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน-ขาได้
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ  ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีเปลี่ยนไป,  ความดันโลหิตต่ำ                
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการผื่นคันตามผิวหนัง  การหลั่งเหงื่อ/เหงื่อออกเพิ่มมากขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น ตาพร่า   
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง  อาเจียน  ปวดท้อง  ตรวจเลือดพบเอนไซม์การทำงานของตับผิดปกติ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงหรือต่ำ  มีภาวะเต้านมโตทั้งในบุรุษและในสตรี  อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น  น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย (นกเขาไม่ขัน) ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ หรือง่วงนอนผิดปกติ วิงเวียน ปวดหัว พูดไม่ชัด ตัวสั่น ซึมเศร้า วิตกกังวล รู้สึกร้อนวูบวาบ

*กรณีได้รับยานี้เกินขนาด: สามารถพบอาการหายใจลำบาก วิงเวียน และง่วงนอนอย่างรุนแรง รูม่านตาหดเล็ก อ่อนแรง และอ่อนเพลีย อย่างมาก *หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูเพนทิซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูเพนทิซอล เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มไทโอแซนทีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยานี้หลังการรับประทาน เช่น ตัวบวม  มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว  อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ ด้วยอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
  • ยานี้อาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว (เช่น ประมาณ 2-3 สัปดาห์) อาการยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากมีอาการวิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือ
  • การทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย                                     
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูเพนทิซอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟลูเพนทิซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูเพนทิซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ฟลูเพนทิซอล ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดการกดการทำงานของสมอง ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน และวิงเวียน อย่างรุนแรง
  • การใช้ยาฟลูเพนทิซอล ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้น หรือมีอาการข้างเคียงจากฟลูเพนทิซอลมากยิ่งขึ้น  หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน, ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา Almotriptan, Amisulpride, Amitriptyline, Baclofen
  • การใช้ยาฟลูเพนทิซอล ร่วมกับยา Azelastine อาจก่อให้เกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง/สมองมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฟลูเพนทิซอลอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูเพนทิซอล: เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟลูเพนทิซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูเพนทิซอล มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anxiset (แอนไซเซ็ต) Rhavenbhel
Deanxit (ดีนซิท) Lundbeck
Fluanxol (ฟลูแอนซอล) Lundbeck

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของ ยาฟลูเพนทิซอล  เช่น Depixol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thioxanthene   [2023,April8]
  2. https://go.drugbank.com/drugs/DB00875   [2023,April8]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Flupentixol  [2023,April8]
  4. https://patient.info/medicine/flupentixol-tablets-depixol-fluanxol [2023,April8]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/flupentixol?mtype=generic [2023,April8]