ไทโอแซนทีน (Thioxanthene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไทโอแซนทีน (Thioxanthene) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาอาการของโรคทางจิตเวชแบบต่างๆ จัดเป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์แรง มีการออกฤทธิ์ที่ถูกเรียกในลักษณะของศัพท์ทางวิชาการว่า โดพามีน-2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Dopamine-2 receptor antagonists) ตัวยาจะกดและต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดพามีน (Dopamine) และมีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทนี้ที่สมองเสียใหม่จนทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

อาจแบ่งยาในกลุ่มไทโอแซนทีนออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

ก. Chlorprothixene: ถือเป็นยาตัวแรกของกลุ่มไทโอแซนทีนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) หากตัวยาออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ในสมองที่ชื่อ 5-HT2 receptors (5-hydroxytryptamine 2 receptors) จะช่วยลดความวิตกกังวล กรณีออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ Dopamine 1 (D1), Dopamine2 (D2), Dopamine3 (D3) receptors และที่ตัวรับชื่อ H1 receptors (Histamine 1 receptor) ตัวยาจะช่วยสงบประสาทและทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือถ้าออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ Alpha1-adrenergic receptors จะทำให้ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นเร็ว ผลิตภัณฑ์ยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ข. Clopenthixol: เป็นยาที่มีสูตรเคมีเหมือนยา Zuclopenthixol แต่มีการจัดเรียงโครงสร้างโมเลกุลต่างกันเล็กน้อย รู้จักกันในทางคลินิกเมื่อปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน มีใช้กันอย่างแพร่หลายยกเว้นในอเมริกา โดยฤทธิ์ที่โดดเด่นของยานี้ คือเป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด

ค. Flupentixol หรือ Flupenthixol: เป็นยารักษาทางจิตเวชที่มีใช้ในประเทศไทย ในสูตรตำรับมักจะผสมยา Melitracen (ยาต้านเศร้า) ร่วมด้วยพบเห็นในรูปของยารับประทาน โดยตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 35 ชั่วโมง การใช้ยานี้ในขนาดต่ำจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ Flupenthixol จัดเป็นหนึ่งรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ง. Thiothixene หรือ Tiotixene: เป็นยาที่มีฤทธิ์คล้ายกับยา Chlorpromazine มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทาน เริ่มเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) โดยมีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Navane

ง. Zuclopenthixol: เป็นอีกหนึ่งรายการยาที่พบเห็นการใช้ในประเทศไทย และถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยานี้เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) รูปแบบของผลิตภัณฑ์ มีทั้งยารับประทานและยาฉีด

การเลือกใช้ยาแต่ละตัวในกลุ่มยาไทโอแซนทีนจะขึ้นอยู่กับอาการทางจิตของผู้ป่วยแต่ละบุคคลซึ่งมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยบางกลุ่มควรได้รับยาชนิดออกฤทธิ์นานและมีความถี่การให้ยาน้อยครั้ง แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มก็สามารถใช้ยารับประทานแบบเป็นประจำด้วยมีการให้ความร่วมมือและอาการไม่รุนแรงมากนัก นอกจากนี้การเลือกใช้ยาไทโอแซนทีนในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเช่น การใช้กับผู้ป่วยเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาก่อนทำการจ่ายยาให้ผู้ป่วยเสมอ

การบริหารยา/การใช้ยาไทโอแซนทีนกับผู้ป่วยต้องอาศัยความต่อเนื่องและมีการเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอ และยาไทโอแซนทีนอาจไม่ใช่ยาทางเลือกแรกในการรักษาโรคทางจิตเวช

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ใช้ยาไทโอแซนทีนชนิดที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติก็ต่อเมื่อใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชประเภทอื่นแล้วไม่ได้ผล อีกทั้งยาไทโอแซนทีนยังถูกจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมต่อผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ไทโอแซนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไทโอแซนทีน

ยาไทโอแซนทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการทางจิตเวชแบบต่างๆเช่น ไบโพล่า (Bipolar)/โรคอารมณ์สองขั้ว ลดอาการซึมเศร้า และช่วยสงบประสาท/คลายเครียด

ไทโอแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาไทโอแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptors) ของสารสื่อประสาทในสมองได้หลายชนิดเช่น 5-HT2 receptor, Dopamine (D1 D2 และ D3) receptor, H1-receptor, Alpha1-adrenergic receptor รวมถึง Muscarinic acetylcholine receptor ซึ่งการได้รับยาในกลุ่มไทโอ แซนทีนอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆในสมองได้อย่างพอเหมาะทำให้อาการทางจิตเวชแบบต่างๆทุเลาลง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ

ไทโอแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มไทโอแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาชนิดรับประทานเช่น ยาเม็ด ยาแคบซูล ยาน้ำ
  • ยาฉีด

ไทโอแซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยาของยาไทโอแซนทีนจะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์โดยต้องอาศัยข้อมูลต่างๆของตัวผู้ป่วยเช่น ชนิดโรค ความรุนแรงของอาการ อายุ โรคประจำตัว ชนิดยาต่างๆอื่นๆที่ใช้อยู่ ร่วมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทาน/การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

อนึ่งการใช้ยาไทโอแซนทีนรูปแบบรับประทานเพื่อลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยานี้ในระบบทางเดินอาหารสามารถรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือนมหรือน้ำดื่มในปริมาณที่เพียงพอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทโอแซนทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโอแซนทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไทโอแซนทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไทโอแซนทีนตรงเวลา การลืมรับประทานยานี้บ่อยหลายครั้งหรือหยุดการใช้ยานี้เองสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่างๆตามมา เช่น ทำให้อาการป่วยแย่ลง

ไทโอแซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากยากลุ่มไทโอแซนทีนที่ดูเหมือนรุนแรง จะเป็นเรื่องความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายคือ ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้หรือที่เรียกในศัพท์วิชาการว่า Tardive dyskinesia

นอกจากนี้ยากลุ่มไทโอแซนทีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ไม่สามารถควบคุมการทำงานของแขน-ขาได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ค่า ECG เปลี่ยนไป ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการผื่นคัน ทำให้ผิวแห้ง สีผิวเปลี่ยนไป ผิวมีสีเหลือง การหลั่งเหงื่อน้อยลง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้เกิดภาวะรวมตัวของเกล็ดเลือด/เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า กระพริบตาบ่อย รูม่านตาขยาย มองภาพไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง อาเจียน ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไป มีภาวะเต้านมโตทั้งในบุรุษและสตรี อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย (โรคนกเขาไม่ขัน) ประจำเดือนมาผิดปกติในสตรี
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับหรือง่วงนอน วิงเวียน เป็นลม ซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันร้าย เกิดอาการชัก มีไข้สูง

*อนึ่งกรณีได้รับยากลุ่มไทโอแซนทีนเกินขนาดสามารถพบอาการหายใจลำบาก วิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง รูม่านตาหดเล็ก อ่อนแรงและอ่อนเพลียอย่างมาก หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไทโอแซนทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโอแซนทีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มไทโอแซนทีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้หลังการรับประทานเช่น ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แน่นอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ด้วยอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดด้วยระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้จะทำให้ความสามารถในการทนต่อแสงแดดเปลี่ยนไป/ลดลง
  • กรณีพบอาการปากแห้งหลังใช้ยานี้สามารถบรรเทาอาการโดยเคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกกวาด หรืออมน้ำแข็งเพื่อช่วยบรรเทา กรณีอาการปากแห้งไม่ดีขึ้นเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด หรือถ้าอาการรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ในการพูด ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
  • หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไทโอแซนทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไทโอแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไทโอแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดการกดการทำงานของสมองส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนและวิงเวียนอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับยาลดกรดด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของตัวยาไทโอ แซนทีนด้อยลงไป
  • การใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ผลข้างเคียงของตัวยาไทโอแซนทีนเกิดกับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น กลุ่มยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ยากลุ่ม Barbiturates ยารักษาอาการชัก/ยาต้านชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาไทโอแซนทีน

ควรเก็บรักษาไทโอแซนทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไทโอแซนทีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไทโอแซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทโอแซนทีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anxiset (แอนไซเซ็ต) Rhavenbhel
Deanxit (ดีนซิท)Lundbeck
Clopixol (โคลพิซอล)Lundbeck
Cisordinol (ซิซอร์ดินอล) Lundbeck
Acuphase (แอคูเฟส)Lundbeck
Navane (นาเวน)Pfizer
Sordinol (ซอร์ดินอล)Lundbeck
Depixol (ดีพิซอล)Lundbeck
Fluanxol (ฟลูแอนซอล)Lundbeck

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thioxanthene [2016,April16]
  2. http://www.drugs.com/drug-class/thioxanthenes.html [2016,April16]
  3. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/thioxanthene-oral-route-parenteral-route/proper-use/drg-20069571 [2016,April16]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorprothixene [2016,April16]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Clopenthixol [2016,April16]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/64#item-8488 [2016,April16]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Flupentixol [2016,April16]
  8. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Tiotixene [2016,April16]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Zuclopenthixol [2016,April16]
  10. https://www.doctor.or.th/ask/detail/7333 [2016,April16]
  11. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/thioxanthene-oral-route-parenteral-route/precautions/drg-20069571 [2016,April16]