ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?
- ฟลูออโรควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (Skin and soft tissue infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าและต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบที่มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่กระดูก (กระดูกอักเสบ) ข้อ ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก(ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ), ที่หู(หูติดเชื้อ), ที่หลอดลม (หลอดลมอักเสบ), และยังใช้รักษา โรคปอดบวม, วัณโรค, รวมไปถึงโรคบางชนิดที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
ยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อการรักษาแต่ยังสามารถใช้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดท่อทางเดินน้ำดี/ระบบทางเดินน้ำดี, หรือการผ่าตัดตา, และยังมีการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่น
ลักษณะหรือรูปแบบของยากลุ่มนี้ที่แพทย์มักจะสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยบ่อยๆจะเป็นประเภทยาเม็ดและยาฉีด ตัวอย่างของยาในหมวดฟลูออโรควิโนโลนที่พบเห็นการใช้งานทางคลินิกบ่อยๆได้แก่ยา Moxifloxacin, Ciprofloxacin, Levofloxacin, Ofloxacin, Lomefloxacin, Norfloxacin, Enoxacin, Gatifloxacin และ Sparfloxacin
เพื่อมิให้เกิดการสับสนระหว่างยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน กับ ยาควิโนโลน (Quinolones) อาจกล่าวว่า กลุ่มยาควิโนโลนเป็นหมวดยาที่เป็นสมาชิกของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนอีกทีหนึ่งก็ได้
สำหรับการกระจายตัวของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนแต่ละตัวในร่างกายมนุษย์พบว่า มีความแตกต่างกันในแง่ของเวลาการดูดซึมและเวลาในการกำจัดยาออกจากร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครง สร้างทางเคมีของยาที่มีแตกต่างกันออกไป
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุยาบางตัวของกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย เช่นยา Ciprofloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin, และ Levofloxacin
การจะเลือกใช้ยากลุ่มนี้ตัวใดที่เหมาะสมปลอดภัยมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ฟลูออโรควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟลูออโรควิโนโลนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- บำบัดรักษาการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก/ ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
- รักษาโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (Skin and soft tissue infections)
- บำบัดรักษาการติดเชื้อของตา
- บำบัดรักษาหูติดเชื้อ
ฟลูออโรควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Topoisomerase II และ Topoisomerase IV มีผลให้แบคทีเรียไม่สามารถจำลองและสร้างสารพันธุกรรม (DNA) ของตัวมันเอง จึงเกิดการชะลอการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ฟลูออโรควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูออโรควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาหยอดหู
- ยาหยอดตา
ฟลูออโรควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนมีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคจึงมีความแตกต่างและหลากหลาย หากผู้ป่วยมีการทำงานของไต - ตับผิดปกติก็ต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีไป การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา ซึ่งขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ของยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น
- Norfloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
- Lomefloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- Enoxacin: รับประทานครั้งละ 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
- Ofloxacin: รับประทานครั้งละ 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
- Ciprofloxacin: รับประทานครั้งละ 250 - 750 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- Levofloxacin: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- Sparfloxacin: รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- Gatifloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- Moxifloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- Trovafloxacin: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมต่อวัน
*อนึ่ง:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาเหล่านี้แต่ละชนิดขึ้นกับชนิดของโรค, ชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรค, อวัยวะที่เกิดโรค, สุขภาพและโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย, ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัดถึงการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูออโรควิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออโรควิโนโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูออโรควิโนโลนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟลูออโรควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูออโรควิโนโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ปวดหัว
- สับสน
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
- อ่อนเพลีย
- ชัก
- ตัวสั่น
- ประสาทหลอน
- ผื่นคัน
- ผิวแพ้แสงแดด
- ผิวเป็นจ้ำแดง
- กลืนลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว
- อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- มีไข้
- ใบหน้า-คอ-ขาบวม
- เกิดความเสียหายของเส้นเอ็น/เอ็นอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรควิโนโลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับ เด็ก วัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์เป็นกรณีๆไป
- หากเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงโดยเฉพาะช่วงเวลา 10 - 15 นาฬิกา ด้วยอาจเกิดการกระตุ้นให้ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช่
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออโรควิโนโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลูออโรควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูออโรควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม (Aluminium: เช่น ยา Aluminium hydroxide) และแมกนีเซียม (เช่น ยา Magnesium trisylicate) เป็นส่วนผสม จะลดการดูดซึมของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะเวลาการรับ ประทานยาให้ห่างกัน 2 - 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาจทำให้เกิดการกระตุ้นสมองจนเกิดภาวะลมชักติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophyline จะทำให้ร่างกายกำจัดยา Theophyline ได้น้อยลงจนอาจส่งผลต่อการเกิดข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยา Theophyline เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูออโรควิโนโลน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟลูออโรควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูออโรควิโนโลน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Avelox (เอวีล็อกซ์) | Bayer HealthCare Pharma |
Ciflex (ซิเฟล็กซ์) | Suphong Bhaesaj |
Ciflo (ซิโฟล) | Masa Lab |
Ciflolan (ซิโฟลแลน) | Olan-Kemed |
Cifloxin (ซิโฟลซิน) | Siam Bheasach |
Cifloxno (ซิฟล็อกซ์โน) | Milano |
Cifolox (ซิโฟล็อกซ์) | L. B. S. |
Cifran (ซิฟราน) | Ranbaxy |
Cinfloxine (ซินโฟลซิน) | Medicine Products |
Cipflocin (ซิพโฟลซิน) | Asian Pharm |
Cipon (ซิพอน) | Unison |
Cipro I.V. (ซิโปร ไอ.วี) | L. B. S. |
Ciprobay (ซิโปรเบ) | Bayer HealthCare Pharma |
Ciprobid (ซิโปรบิด) | Zydus Cadila |
Ciprocep (ซิโปรเซพ) | T.O. Chemicals |
Ciprofex (ซิโปรเฟ็กซ์) | The United Drug (1996) |
Ciprofin (ซิโปรฟิน) | Utopian |
Ciprofloxacin Injection Fresenius Kabi (ไซโปรฟล็อกซาซิน อินเจ๊กชั่น ฟรีซีเนีส กะบี่) | Fresenius Kabi |
Ciprogen (ซิโปรเจน) | General Drugs House |
Ciprohof (ซิโปรฮอฟ) | Pharmahof |
Ciprom-M (ซิพร็อม-เอ็ม) | M & H Manufacturing |
Ciproquin (ซิโพรควิน) | Claris Lifesciences |
Ciproxan (ซิโปรแซน) | Pond’s Chemical |
Ciproxin (ซิโปรซิน) | Osoth Interlab |
Ciproxin-500 (ซิโปรซิน-500) | T. Man Pharma |
Ciproxin-T.M. (ซิโปรซิน-ที่.เอ็ม) | T. Man Pharma |
Ciproxyl (ซิโปรซิล) | Farmaline |
Cobay (โคแบย์) | Millimed |
Cravit (คราวิต) | Daiichi Sankyo |
Cravit IV (คราวิต ไอวี) | Daiichi Sankyo |
Crossa-200 (ครอสซา-200) | T. Man Pharma |
Crossa-400 (ครอสซา-400) | T. Man Pharma |
Cyflox (ไซฟล็อกซ์) | Greater Pharma |
Darflox (ดาร์ฟล็อกซ์) | Meiji |
Enoxin (อีโนซิน) | Charoon Bheasaj |
Floxcipro 500 (ฟล็อกซ์ซิโปร 500) | Medicpharma |
Floximed (ฟล็อกซิเมด) | Burapha |
Gonorcin (โกนอร์ซิน) | General Drugs House |
Gracevit (กราซีวิต) | Daiichi Sankyo |
Hyflox (ไฮฟล็อกซ์) | Masa Lab |
Loxof (โลซอฟ) | Ranbaxy |
Manoflox (มาโนฟล็อกซ์) | March Pharma |
Mifloxin (มิฟล็อกซ์ซิน) | Community Pharm PCL |
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์) | Thai Nakorn Patana |
Loxof (เล็กซ์ออฟ) | Ranbaxy |
Norfloxacin Community Pharm (นอร์ฟล็อกซาซิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Norfloxin (นอร์ฟล็อกซิน) | T.O. Chemicals |
Norxacin (นอร์ซาซิน) | Siam Bheasach |
Ofloxa (โอฟล็อกซา) | L. B. S. |
Ofloxin (โอฟล็อกซิน) | Siam Bheasach |
Peflacine (พีฟลาซิน) | Aventis |
Qinolon (ควิโนโลน) | Great Eastern |
Uroflox (ยูโรฟล็อกซ์) | Eurodrug |
Uroxin (ยูโรซิน) | Unison |
Xyrocin-250 (ไซโรซิน-250) | V S Pharma |
Zinor 400 (ซีนอร์ 400) | Patar Lab |
Vigadexa (ไวกาเดกซา) | Alcon |
Vigamox (ไวกามอกซ์) | Alcon |
บรรณานุกรม
- https://www.encyclopedia.com/medicine/drugs/pharmacology/fluoroquinolones [2021,Oct9]
- https://www.aafp.org/afp/2000/0501/p2741.html [2021,Oct9]
- https://www.medscape.com/viewarticle/418295_4 [2021,Oct9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=norfloxacin [2021,Oct9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ofloxacin%20 [2021,Oct9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Quinolone_antibiotic [2021,Oct9]