ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ?
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อได้อย่างไร?
- รักษาต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้ออย่างไร?
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้ออย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ต่อมลูกหมากโต
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ต่อมลูกหมากอักเสบ(Prostatitis) หมายถึง การที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากเกิดมีการอักเสบขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial prostatitis) หรือการอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย(Chronic non-bacterial prostatitis) ที่เรียกว่า Prostatodynia หรือ Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome ย่อว่า CP/CPPS)
อนึ่ง ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคต่อมลูกหมากอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย” เท่านั้น โดยขอเรียกว่า “โรค/ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ” หรือ “ต่อมลูกหมากติดเชื้อ”
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะเฉพาะเพศชายที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน มีหน้าที่ใน การสร้างน้ำอสุจิ ทั้งนี้ ต่อมลูกหมากจะอยู่ล้อมรอบส่วนโคนของท่อปัสสาวะช่วงที่ต่อออกมาจากตัวกระเพาะปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากอักเสบเป็นโรคที่ให้การรักษาดูแลโดยศัลยแพทย์ระบบทางเดินทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคพบได้บ่อยพอควรในผู้ชายทุกอายุ โดยพบได้น้อยมากในเด็ก แต่จะพบได้สูงขึ้นในผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไป ทั่วโลกพบต่อมลูกหมากอักเสบได้ประมาณ 2-10% ของผู้ชาย และพบต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อได้ประมาณ 2-10%ของผู้ป่วยชายที่มีอาการต่อมลูกหมากอักเสบทั้งหมด
อนึ่ง ต่อมลูกหมากติดเชื้อเมื่อมีอาการเกิดขึ้นทันทีแล้วรักษาได้หายภายใน3 เดือน จะเรียกว่า ต่อมลูกหมากติดเชื้อเฉียบพลัน(Acute bacterial prostatitis) แต่ถ้าเกิดต่อมลูกหมากติดเชื้อมีอาการเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน หรือเป็นๆหายๆเรียกว่า ต่อมลูกหมากติดเชื้อเรื้อรัง(Chronic bacterial prostatitis)
ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?
การอักเสบติดเชื้อเกือบทั้งหมดของต่อมลูกหมาก มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยชายวัยหนุ่ม ต่อมลูกหมากมักอักเสบติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบบ่อย คือ จากโรค หนองใน จากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae และโรคหนองในเทียม จากเชื้อ Chlamydia trachomatis และเชื้อเอชไอวี/HIV ส่วนในวัยอื่น เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุต่อมลูกหมากติดเชื้อที่พบบ่อย เช่น Escherichia coli/E. Coli, Enterobacter, Pseudomonas, Proteus, เชื้อเอชไอวี/HIV
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากติดเชื้อ ได้แก่
- ผู้ใส่คาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผู้ใส่คาสายสวนปัสสาวะ)
- ผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- มีการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะบ่อย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย การส่ำส่อนทางเพศ มีเพศสัมพันธ์กับหญิงให้บริการ ซึ่งก็คือ เป็นปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่ม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หลังการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก กรณีวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
- หลังการรักษาภาวะลำไส้ตรงปลิ้น(Rectal prolapsed) ด้วยการฉีดสารบางชนิดเข้าหลอดเลือดดำ(Sclerotherapy)
ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
อาการจากต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
- มีไข้ ซึ่งมีได้ทั้งไข้ต่ำและไข้สูง โดยถ้าไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป จะเป็นปัจจัยหนึ่งว่ามีการติดเชื้อรุนแรง ที่อาจมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ร่วมด้วยได้
- หนาวสั่น
- ปวด อุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย หรือ ปวดบริเวณฝีเย็บ(ตำแหน่งตรงกับต่อมลูกหมาก)
- อาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปวด/แสบ/เวลา ปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปวดเวลาหลั่งน้ำอสุจิ
- น้ำอสุจิเป็นเลือด
- อาจพบมีหนอง หรือน้ำเหลืองออกมาทางปากท่อปัสสาวะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะทำให้โรคหายได้เป็นปกติ ไม่กลายเป็นต่อมลูกหมากเป็นหนอง หรือ ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการสัมผัสโรค เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย การมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมลูกหมากด้วยการตรวจทางทวารหนัก การตรวจปัสสาวะ การตรวจเชื้อและ/หรือการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะและจากปัสสาวะ การตรวจเลือดดูค่า CBC การเพาะเชื้อจากเลือดกรณีมีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศ้เซลเซียส การตรวจภาพต่อมลูกหมากด้วย อัลตราซาวด์ นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคต่อมลูกหมากโต การมีฝี/หนองในต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคของกระเพาะปัสสาวะ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไออุ้งเชิงกราน การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก หรือกระเพาะปัสสาวะ กรณีแพทย์พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะดังกล่าว เป็นต้น
รักษาต่อมลูกหมากอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ คือ การฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก.ยาปฏิชีวนะ:
- กรณีเป็นต่อมลูกหมากติดเชื้อแบบเฉียบพลัน: เมื่อการอักเสบติดเชื้อไม่รุนแรง การรักษาจะโดยเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะมากินที่บ้าน ซึ่งระยะเวลารักษาทั้งหมดประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นกับชนิดของยาและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย(หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นกับว่ายังตรวจพบเชื้อในปัสสาวะ และ/หรือในสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะหรือไม่ แต่ถ้าอาการรุนแรง แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำจนเมื่ออาการผู้ป่วยดีขึ้น จึงปรับมาเป็นยากิน และอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับมากินยาต่อที่บ้านได้ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น ยากิน เช่นยา Trimethoprim-sulfamethoxazole, Ofloxacin, Ciprofloxacin, และ Ampicillin + Gentamycin กรณีเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
- กรณีต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง: ยาปฏิชีวนะที่ใช้ จะเช่นเดียวกับการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน แต่การให้ยาจะนานประมาณ 6-12 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นกับว่ายังตรวจพบเชื้อในปัสสาวะ และ/หรือในสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะหรือไม่
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ได้แก่การรักษาอาการต่างๆของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำ กรณีกิน้ำ/กินอาหารได้น้อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ยากรณีที่มีปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะลำบาก ได้แก่การให้ยาในกลุ่ม Alpha blocker เพื่อช่วยลดอาการต่างๆทางการปัสสาวะ เช่น การปัสสาวะขัด ปวดเบ่งปัสสาวะ เป็นต้น
ต่อมลูกหมากอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
ก. การติดเชื้อเฉียบพลัน: กรณีติดเชื้อที่ไม่รุนแรง การพยารณ์โรคจะดี โรคจะรักษาได้หาย กรณีเป็นการติดเชื้อรุนแรงและมีการติดเชื้อในกระแสโลหิตร่วมด้วย การรักษามักยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลาการรักษานาน ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง แต่อัตราเสียชีวิตต่ำ หรือกรณีได้รับยาปฏิชีวนะไม่ครบถ้วนตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด โรคอาจเปลี่ยนเป็น การติดเชื้อแบบเรื้อรัง
ข. การติดเชื้อแบบเรื้อรัง: การพยากรณ์โรค คือการรักษาควบคุมโรคได้เป็นระยะๆ แต่มักมีอาการกลับมาเป็นๆหายๆโดยจะกลับมามีอาการของการติดเชื้อแบบเฉียบพลันได้เป็นระยะๆ
อนึ่ง โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ เป็นโรคที่กลับเป็นซ้ำใหม่ได้เสมอหลังการรักษาหายแล้ว ถ้าผู้ป่วยกลับมาติดเชื้อซ้ำอีก นอกจากนั้น โดยทั่วไป โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ยกเว้นกรณีเป็นการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เชื้อจะติดต่อสู่คู่นอนของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่กลายเป็น โรคต่อมลูกหมากโต หรือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มีผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง เช่น ต่อมลูกหมากเป็นฝี/เป็นหนอง, เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, และอาจรุนแรงเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ในการติดเชื้อเฉียบพลัน ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะไม่ครบตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง อาจส่งผลให้เกิดเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรังได้
ในการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ผลข้างเคียงที่พบได้คือ จะมีการอักเสบติดเชื้อแบบเฉียบพลันเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ เป็นๆหายๆ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่บ้าน เมื่อเป็นต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ถึงแม้อาการจะหายแล้ว
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ลดการกดทับต่อมลูกหมากเพื่อช่วยลดอาการปวดที่ต่อมลูกหมาก/ปวดอุ้งเชิงกราน/ปวดท้องน้อยโดยเวลานั่งให้นั่งบนหมอน/หมอนลมรูปโดนัท(หมอนที่มีรูกว้างตรงกลาง)
- ลดอาการปวดต่อมลูกหมากด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่น(Hot bath) ตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
- เลิกการกินอาหาร/เครื่องดื่มที่ระคายเคืองต่อระบบทางเดินปัสสาวะที่รวมถึงต่อมลูกหมาก เช่น อาหารรสจัด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคื่องดื่มที่มีกาแฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคลา) เครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำส้ม
- ไม่ออกกำลังกายด้วยการกดทับต่อมลูกหมาก เช่น ขี่จักรยาน
- ระวังไม่ให้ท้องผูกเพราะจะทำให้อาการต่างๆแย่ลง
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง เช่น วันละ 6-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อมีต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น อาการทางการปัสสาวะเลวลง เป็นต้น
- กลับมามีอาการที่ที่เคยหายไปแล้ว เช่น มีไข้ ปัสสาวะขัด เป็นต้น
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีหนองออกมาทางช่องปัสสาวะ เป็นต้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบได้อย่างไร?
การป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ)ที่หลีกเลี่ยงได้
- การใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
บรรณานุกรม
- Coker,J, and Dierfelot, D. (2016);93(2):114-120
- Sharp,V, and Takacs, E. Am Fam Physician 2010,82(4):397-406
- http://emedicine.medscape.com/article/785418-overview#showall [2016,Dec3]
- http://emedicine.medscape.com/article/785418-treatment [2016,Dec3]
- http://www.racgp.org.au/afp/2013/april/prostatitis/ [2016,Dec3]
- http://www.phac-aspc.gc.ca/std-mts/sti-its/cgsti-ldcits/section-4-5-eng.php [2016,Dec3]