โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารใช่โรคติดต่อไหม?
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีอาการอย่างไร?
- โครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอย่างไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคไทฟอยด์ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
- โรคบิดไม่มีตัว โรคบิดชิเกลลา (Shigellosis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา (Rotavirus infection)
- ท้องเสียในเด็ก (Acute diarrhea in children)
- โรคบิด (Dysentery)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- อหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus)
- โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)
บทนำ
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร(Gastrointestinal infection ย่อว่า GI infection หรือ Gastrointestinal tract infection หรือ Infectious gastroenteritis) หมายถึง โรคที่อวัยวะต่างๆในระบบทางเดินอาหารมีการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจาก แบคทีเรีย เรียกว่า “Bacterial gastroenteritis หรือ Bacterial gastrointestinal infection” รองลงมาคือ เชื้อไวรัส เรียกว่า “Viral gastroenteritis หรือ Viral gastrointestinal infection หรือ Stomach flu” เชื้ออื่นๆที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่ เชื้อปรสิต เรียกว่า “Parasitic gastrointestinal infection หรือ Parasitic gastroenteritis”, เชื้อสัตวเซลล์เดียว/โปรโตซัว เรียกว่า “Protozoal gastrointestinal infection หรือ Protozoal gastroenteritis”
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร มีอาการหลัก คือ ปวดท้องที่อาการปวดได้ทั่วช่องท้อง ไม่มีการปวดคงที่เฉพาพจุด ร่วมกับมีอาการท้องเสีย และมีไข้ที่อาจเป็นไข้ต่ำหรือไข้สูงขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ทั้วไปอาการจะเกิดในลักษณะ เกิดทันที ที่เรียกว่า การติดเชื้อเฉียบพลัน(Acute infection หรือ Acute gastroenteritis หรือ Acute gastrointestinal infection)และทั่วไปมักเรียกว่า “Infectious diarrhea”
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นโรคพบบ่อยมาก เกิดในชีวิตประจำที่ทุกคนเคยผ่านการติดเชื้อกลุ่มนี้มาแล้ว เช่น อาหารเป็นพิษ โดยในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 200ล้านครั้งต่อปี และทั่วโลกพบเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้ได้สูง ประมาณ 3-6ล้านคน/ปี เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย เกิดการระบาด/โรคระบาดได้บ่อยทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศยังไม่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาที่รวมถึงประเทศไทย
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารพบได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน พบได้ในทุกเชื้อชาติทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร คือ อวัยวะในระบบทางเดินอาหารติดเชื้อโรคต่างๆ ที่มักเป็นการติดต่อได้รับเชื้อจาก การบริโภคอาหารและน้ำดื่ม (Food and water borne infection)ที่ไม่สะอาด โดยเชื้อโรคปนเปื้อนกับอุจจาระของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนใน น้ำ(รวมทั้งน้ำดื่มและน้ำที่ใช้อุปโภค) อาหาร และมือ แล้วเข้าสู่ปาก จึงได้ชื่อว่า โรคติดต่อจาก “อุจจาระสู่ปาก(Fecal oral route) หรือ โรคติดต่อจากปากสู่ อุจจาระ (Oral fecal route หรือ Orofecal route)”
เชื้อโรคที่เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารมีได้หลากหลายมากมาย ที่พบบ่อย ได้แก่
- แบคทีเรีย (Bacterial gastroenteritis หรือ Bacterial gastrointestinal infection): เป็นสาเหตุพบได้บ่อย โดยแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุ ได้แก่ E. coli (Escherichia coli), S. aureus(Staphylococcus aureus), Campylobacter, Clostridium difficile, Helicobacter pylori, Salmonella, Shigella, Yersinia enterocolitica, Listeria,Cholera
- เชื้อไวรัส (Viral gastroenteritis หรือ Viral gastrointestinal infection หรือ Stomach flu): เป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น Rotavirus , Norwalk virus, Noroviruses, Norwalk-like viruses , Adenovirus
- ปรสิต (Parasitic gastrointestinal infection หรือ Parasitic astroenteritis): เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยเท่ากับ 2 สาเหตุแรก เช่น พยาธิตัวตืด/Taenia(เช่น ตืดหมู), Cryptosporidium parvum, Cyclospora cayetanensis, Diphyllobothrium latum, Ascaris lumbricoides, Trichuris trichiura (พยาธิแซ่ม้า)
- สัตว์เซลล์เดียว(Protozoal gastrointestinal infection หรือ Protozoal gastroenteritis): Giardia lamblia, Entamoeba histolytica
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารใช่โรคติดต่อไหม?
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นโรคติดต่อ ที่เกิดเป็นโรคระบาดได้ง่าย โดยมีลักษณะการติดต่อโดยการได้รับเชื้อโรคจากอุจจาระของคนเป็นโรคนี้ ที่ปนเปื้อนใน น้ำดื่ม อาหาร และกับการติดอยู่ที่ มือ เครื่องใช้ในการปรุงอาหาร(เช่น เขียง มีด) และเครื่องใช้ในการบริโภค เช่น ช้อน แก้วน้ำ ชาม จาน รวมถึงเครื่องใช้ และของเล่น ราวบันได เรียกว่า การติดต่อผ่านทาง “อุจจาระ-ปาก” ดังนั้นจึงพบโรคนี้ระบาดได้ง่ายในชุมชนต่างๆ เช่น ในโรงเรียนอนุบาล ค่ายทหาร ค่ายผู้อพยพ ชุมชนแออัด และจากร้านอาหารที่ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่เป็นอาการหลัก คือ ท้องเสีย/ท้องร่วง/ท้องเดิน ปวดท้องที่ไม่ปวดเฉพาะจุด แต่ปวดกระจายได้ทั่วทุกจุดของช่องท้อง และมีไข้ อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ส่วนอาการอื่นๆ เช่น
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อุจจาระมีกลิ่นเหม็น
- อุจจาระอาจเป็นมูก หรือ เป็นมูกปนเลือด/มูกเลือด หรืออาจมีอุจจาระเป็นเลือด
- ปวดเบ่งเวลาอุจจาระ
- ถ้าท้องเสียรุนแรงจะมีอาการจากภาวะขาดน้ำร่วมด้วย เช่น กระหายน้ำมาก ผิวหนังแห้ง/เหี่ยวย่น ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อย และ วิงเวียน เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ
โครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยง(High risk group)เกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ได้แก่
- เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เพราะดูแลสุขอนามัยตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยดูแล
- ผู้อยู่ในชุมชนแออัด เช่น โรงเรียน สถานพักพิง ค่ายทหาร ค่ายผู้อพยพ อยู่อาศัยในชุมชนแออัด อยู่อาศัยในถิ่นที่ขาดสุขอนามัย เช่น ประเทศกำลังพัฒนา
- ผู้มีโรคประจำตัว เพราะจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคติดเชื้อเอชไอวี
- สัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
ผู้ป่วยที่มักมีอาการรุนแรงเมื่อเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ที่มักเรียกกันว่า “กลุ่มเสี่ยง(High risk group)” คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ได้แก่
- เด็กอ่อน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
- หญิงตั้งครรภ์
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยกินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคหืด ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ โรคออโตอิมมูน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3วันหลังการดูแลตนเองตามอาการในเบื้องต้น หรือมีอาการเลวลง หรือ อาการรุนแรงตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้จาก อาการผู้ป่วย ลักษณะของการถ่ายอุจจาระ ที่รวมถึง สีและกลิ่น การมีอาการเกิดเป็นกลุ่มคนตั้งแต่2คนขึ้นไป โดยเฉพาะจาก โรงเรียน ร้านอาหาร สถานที่ทำงาน หมู่บ้านที่อยู่อาศัย การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจร่างกาย และที่จะวินิจฉัยได้แน่นอน คือ การตรวจอุจจาระ ที่อาจรวมถึงการเพาะเชื้อจากอุจจาระเพื่อดูว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใด และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดู สารก่อภูมิต้านทาน หรือสารภูมิต้านทาน ของเชื้อโรคที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุเพื่อช่วยวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใด
รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอย่างไร?
แนวทางรักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้แก่ การรักษาประคับประคองตามอาการ, การรักษาสาเหตุ และที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลตนเองเพื่อป้องกันได้รับเชื้อโรคซ้ำที่รวมถึงเพื่อป้องกันโรคระบาดสู่ผู้อื่น
ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และเกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte) เช่น การดื่มน้ำสะอาดมากๆ การให้ยาผงเกลือแร่ ORS การให้สารน้ำ/น้ำเกลือ/สารเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ ทั่วไปแพทย์จะไม่ให้ยาแก้ท้องเสีย(เพราะพบว่าไม่เกิดประโยชน์และอาจทำให้ผู้ป่วยอาการเลวลง นอกจากนั้น การถ่ายอุจจาระยังเป็นการกำจัดจำนวนเชื้อโรคออกนอกร่างกายที่มีประสิทธิภาพ) การให้ยาลดไข้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้ปวดศีรษะ เป็นต้น และทั่วไป แพทย์จะไม่ให้ยาปฏิชีวินะ ยกเว้นเฉพาะสาเหตุจากแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไทฟอยด์ , บิดไม่มีตัว, หรือจากสัตว์เซลล์เดียว เช่น โรคบิดมีตัว และที่สำคัญอีกประการคือ การพักผ่อนให้มากๆ ร่วมกับการรักษาสุขอนามัยในการขับถ่าย เพื่อป้องกันเชื้อติดต่อทางอุจจาระกลับเป็นซ้ำกับตนเอง หรือติดต่อไปสู่ผู้อื่นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด
ข. รักษาตามสาเหตุ เช่น เป็นการติดเชื้อบางชนิดที่จำเป็นต้องได้รับ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ เช่น ไทฟอยด์ โรคบิดไม่มีตัว โรคบิดมีตัว เป็นต้น
ค. การดูแลตนเองเพื่อป้องกันได้รับเชื้อโรคซ้ำ ที่รวมถึงเพื่อป้องกันโรคระบาดสู่ผู้อื่น ที่สำคัญ ได้แก่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือให้สะอาดเสมอด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร
- ล้าง ทำความสะอาด เครื่องใช้ที่สัมผัสเชื้อโรค(เช่น อุจจาระ อาเจียน)ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนที่จะล้างทำความสะอาดซ้ำด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ที่รวมถึง ผ้าเช็ดตัว และต้องแยกของใช้ส่วนตัวเหล่านี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันตามแพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรต้าสำหรับเด็กเล็ก อนึ่ง ส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ยังไม่มีวัคซีน ส่วนน้อยมีวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่มีข้อจำกัดการใช้เฉพาะในคนบางกลุ่ม เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนอหิวาห์ตกโรค
- ถ่ายอุจจาระในส้วมเสมอ และกดน้ำหลายครั้ง ทำความสะอาดส้วมทุกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังการอุจจาระ
- กินอาหาร ดื่มน้ำที่สะอาด และกินอาหารอ่อน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)ในช่วงที่ยังมีท้องเสีย
*อนึ่ง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ ได้จากเว็บ haamor.com เช่น บิดมีตัว บิดไม่มีตัว อหิวาตกโรค อหิวาต์เทียม เป็นต้น
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากโรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่พบบ่อยคือ
- ภาวะขาดน้ำ ที่มักเกิดร่วมกับ ภาวะขาดเกลือแร่ (Electrolyte)
- Hemolytic-uremic syndrome(HUS) เป็นอาการพบได้น้อย คือ ไตวายเฉียบพลัน ร่วมกับมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆที่เกิดจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นอาการจากสารชีวพิษของแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชิ้ออีโคไล ชนิด Enterohemorrhagic Escherichia coli (EHEC)ชนิดย่อย (Serotype) O157:H7
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ทั่วไป โรคติดเชื้อทางเดินอาหารมีการพยากรณ์โรคที่ดี ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองจากการดูแลตนเองในเบื้องต้นใน 3-4วัน เช่น อาหารเป็นพิษ แต่หลายโรคที่พบได้เป็นส่วนน้อยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ ที่จำเพาะต่อโรคนั้นๆ เช่น ไทฟอยด์ บิดมีตัว บิดไม่มีตัว ดังนั้นถ้าอาการโรครุนแรงตั้งแต่แรก หรือดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3วัน หรืออาการเลวลง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
อนึ่ง ส่วนน้อย ที่โรคนี้ทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ติดเชื้อ อีโคไล กลุ่ม Enterohemorrhagic Escherichia coli (EHEC)ชนิดย่อย (Serotype) O157:H7 ที่ทำให้ไตวายเฉียบพลัน หรือ อหิวาห์ตกโรคที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือท้องร่วงจากไวรัสโรตาในเด็กเล็ก
*และอีกประการสำคัญคือ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นโรคที่กลับเป็นซ้ำได้เสมอ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้นทุกคนต้องรักษาสุขอนามัยในการรับประทานสม่ำเสมอตลอดเวลา
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ได้แก่ การดูแลตนเองต่างๆดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”การรักษาฯ” คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือให้สะอาดเสมอด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร
- ล้าง ทำความสะอาด เครื่องใช้ที่สัมผัสเชื้อโรค(เช่น อุจจาระ อาเจียน)ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนที่จะล้างทำความสะอาด
- รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ที่รวมถึง ผ้าเช็ดตัว และต้องแยกของใช้ส่วนตัวเหล่านี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันตามแพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรต้าสำหรับเด็ก อนึ่ง ส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ยังไม่มีวัคซีน ส่วนน้อยมีวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่มีข้อจำกัดการใช้เฉพาะในคนบางกลุ่ม เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนอหิวาห์ตกโรค
- อุจจาระในส้วมเสมอ และกดน้ำทำความสะอาดส้วมอย่างน้อย 2 ครั้ง และทพความสะอาดส้วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังการอุจจาระ
- กินอาหาร ดื่มน้ำที่สะอาด และกินอาหารอ่อน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)ในช่วงยังมีอาการท้องเสีย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หยุดงาน หยุดโรงเรียน จนกว่าจะหยุดท้องเสีย และ/หรือไข้ลง อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ติดเชื้อทางเดินอาหารควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังพบแพทย์แล้ว เช่น ท้องเสียรุนแรงขึ้น อุจจาระเป็นเลือดทุกครั้ง ไข้สูงขึ้น
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เกิดริดสีดวงทวารที่ตัวริดสีดวงไม่สามารถยุบกลับเข้าไปในทวารหนักได้
- มีผลข้างเคียง /แพ้ยาจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ลมพิษ วิงเวียนมาก หายใจลำบาก เป็นลม
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้อย่างไร?
โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นโรคที่มีวิธีป้องกันการเกิด ที่รวมไปถึงการป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- รักษาสุขอนามัยในการขับถ่าย
- ล้างมือให้สะอาดเสมอด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร
- อาหาร น้ำดื่ม ต้องสะอาด
- เครื่องใช้ในการกินอาหารต้องสะอาด เช่น ช้อน แก้วน้ำ จานชามโดยเฉพาะ ช้อน แก้วน้ำ ต้องแยกใช้จากผู้อื่น
- เครื่องใช้ในการปรุงอาหารต้องสะอาด โดยเฉพาะ เขียง และมีด และต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร
- ถ้าเป็นโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญคือ ท้องเสีย มีไข้ ต้องไม่ปรุงอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน โดยเฉพาะกรณีเป็นร้านอาหาร
- ระวังเรื่องการกินน้ำแข็ง ต้องเป็นน้ำแข็งที่สะอาด
- ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรกินอาหารค้าง ถึงแม้จะเก็บในตู้เย็น
- อาหารทุกชนิดที่เก็บในตู้เย็นต้องเก็บในภาชนะปกปิดที่แยกจากอาหารอื่น เช่น เก็บในกล่องเก็บอาหาร
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามแพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรต้าสำหรับเด็กเล็ก อนึ่ง ส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ยังไม่มีวัคซีน ส่วนน้อยมีวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่มีข้อจำกัดการใช้เฉพาะในคนบางกลุ่ม เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ วัคซีนอหิวาห์ตกโรค
- เมื่อจะเดินทางไปต่างประเทศในประเทศยังไม่พัฒนา ควรสอบถามแพทย์/หรือผู้เกี่ยวข้อง ถึงความจำเป็นเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหารว่าจำเป็นหรือไม่ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ วัคซีนอหิวาห์ตกโรค ไทฟอยด์วัคซีน
- ปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์สม่ำเสมอ คือ ”กินร้อน ช้อนกลาง”
บรรณานุกรม
- https://www.atsu.edu/faculty/chamberlain/Website/lectures/lecture/GI4.html [2018,Feb10]
- https://www.healthline.com/health/bacterial-gastroenteritis [2018,Feb10]
- http://www.biomerieux-diagnostics.com/gastrointestinal-infections [2018,Feb10]
- http://kidshealth.org/en/teens/diarrhea.html# [2018,Feb10]
- https://www.healthline.com/health/bacterial-gastroenteritis [2018,Feb10]
- https://emedicine.medscape.com/article/176515-overview#showall [2018,Feb10]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/viral-gastroenteritis/symptoms-causes/syc-20378847 [2018,Feb10]