ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

  ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) คือ ยาในกลุ่มยาสแตติน (Statin) ที่ใช้ลดไขมันในเลือด โดยยาจะไปชะลอการสร้างไขมันแอลดีแอลคลอเรสเตอรอล (LDL cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ยาฟลูวาสแตตินสามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ยานี้จะช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดภาวะ/โรคหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ติดตามมา

ผลข้างเคียงที่โดดเด่นของยานี้ได้แก่ ทำให้การทำงานของตับผิดปกติและอาจกระตุ้นให้เกิดการทำลายของกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อลายสลาย) ในผู้ป่วยบางราย ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับและโรคไต

ก่อนการใช้ยานี้ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยระวังเรื่องอาหารที่บริโภคในแต่ละมื้อและแนะ นำมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมเข้ามาช่วย หากพบว่าการลดไขมันยังไม่ดีพอจากการปฏิบัติตนดังกล่าว แพทย์จึงจะเริ่มพิจารณาการใช้ยานี้ร่วมด้วย รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะพบเห็นเป็นยารับประทาน

 หลังจากที่ยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีนมากกว่า 98% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างสม่ำเสมอ ร่างกายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 - 3 ชั่วโมงเพื่อการกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและส่วนน้อยที่ขับออกทางปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาฟลูวาสแตตินเป็นยาอันตราย อนึ่งยังมีข้อ มูลที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยานี้ ได้แก่

  • เคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • มีโรคประจำตัวอื่นใดอีกบ้างเช่น โรคเบาหวาน โรคไต  โรคตับ  โรคต่อมไทรอยด์
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • มีการใช้ยาดังต่อไปนี้หรือไม่ เช่นยา Erythromycin, Fluconazole, Gemfibrozil,  Fenofibric acid (ยาลดไขมัน), Niacin ด้วยยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นปัญหาต่อระบบกล้ามเนื้อ
  • ผู้ป่วยดื่มสุราหรือไม่

นอกจากนั้นระหว่างที่มีการใช้ยานี้แพทย์แพทย์จะกำกับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อความเข้าใจและเพื่อผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น และต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการต่อไปนี้

  • มีอาการชักหลังใช้ยานี้
  • สมดุลของเกลือแร่ผิดปกติซึ่งจะทราบได้จากการตรวจเลือด
  • เกิดความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง

 ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาฟลูวาสแตติน ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางของการรักษาด้วยตนเอง

ฟลูวาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลูวาสแตติน

ยาฟลูวาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง เช่น มีไขมันแอลดีแอลคลอเรสเตอรอล (LDL cholesterol)และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง
  • ใช้เป็นยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง(อัมพาต)ที่มีสาเหตุจากไขมันในเลือดสูง
  • ช่วยเพิ่มระดับไขมันดีหรือเฮชดีแอล (HDL cholesterol)

ฟลูวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูวาสแตตินคือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า HMG- CoA reductase ((3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-CoA reductase เอนไซม์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล) ในตับ ทำให้เกิดการชะลอการสร้างคอเลสเตอรอล ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง

ฟลูวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 80 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/แคปซูล

ฟลูวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลูวาสแตตินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
  • เด็กอายุ 10 - 16 ปี: รับประทานเริ่มต้นที่ 20 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 20 มิลลิกรัมเช้า-เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:  แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 20 มิลลิกรัมเช้า-เย็นเป็นกรณีไปขึ้นกับการตอบ สนองของระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยต่อการใช้ยานี้

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลูวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                           เภสัชกร  เช่น   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูวาสแตตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาฟลูวาสแตตินตรงเวลา แต่หากลืมรับประทานยาฟลูวาสแตตินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ฟลูวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูวาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีอาการหนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้
  • ตับอักเสบ
  • กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ท้องเสีย
  • อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้
  • ปวดข้อ
  • ปวดหลัง
  • เจ็บคอ/ คออักเสบ
  • นอนไม่หลับ
  • ผื่นคัน
  • มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปัสสาวะเป็นสีคล้ำ
  • ไอ  

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูวาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ป่วยโรคไต  และโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • หากมีภาวะตับอักเสบเกิดขึ้นต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฟลูวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟลูวาสแตติน ร่วมกับยา Clofibrate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาฟลูวาสแตตินมากขึ้น จึงเป็นข้อควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟลูวาสแตติน ร่วมกับยา Rifampicin, Erythromycin สามารถทำให้ระดับยาฟลูวา สแตตินในกระแสเลือดสูงขึ้นจนผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาฟลูวาสแตตินได้ หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาฟลูวาสแตติน ร่วมกับยา Cimetidine, Ranitidine หรือ Omeprazole สามารถทำให้ระดับยาฟลูวาสแตตินในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ป่วยที่จะได้รับผลข้าง เคียงของยาฟลูวาสแตตินติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาฟลูวาสแตตินอย่างไร?

 สามารถเก็บยาฟลูวาสแตติน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูวาสแตติน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Lescol/Lescol XL (เลสคอล/เลสคอล เอ็กซ์แอล) Novartis

 

บรรณานุกรม

1. https://en.wikipedia.org/wiki/Statin  [2022,May14]
2. https://www.drugs.com/dosage/fluvastatin.html#Usual_Adult_Dose_for_Hyperlipidemia    [2022,May14]
3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lescol%20xl?type=full   [2022,May14]
4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lescol%20xl/dosage   [2022,May14]
5. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/fluvastatin-oral-route/before-using/drg-20069021   [2022,May14]
6. https://www.drugs.com/drug-interactions/fluvastatin-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,May14]