ฟลูมาซีนิล (Flumazenil)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

  ฟลูมาซีนิล (Flumazenil) หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ Flumazepil เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม GABA/ Gamma-aminobutyric acid receptor antagonist (ยาต้านการทำงานของสารสื่อประสาท GABA ใช้ต้านฤทธิ์ยานอนหลับที่เกินขนาด) ได้ขึ้นทะเบียนการรับรองครั้งแรกในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ประโยชน์ทางคลินิกของฟลูมาซีนิลถูกใช้เป็นยาถอนพิษ (Antidote) ในผู้ป่วยที่ได้รับยา       กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เกินขนาด รวมถึงใช้ฟื้นสภาพหลังผ่าตัดกับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนอีกด้วย นอกจากนี้ฟลูมาซีนิลยังถูกนำไปใช้ถอนพิษกับผู้ที่ได้รับยาประ เภทนอน-เบนโซไดอะซีปีน (Non- Benzodiazepine, ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายยากลุ่ม Benzodiaze pine) อาทิ Zolpidem, Zaleplon และ Zopiclone ได้เช่นเดียวกัน มีบางกรณีที่ยานี้ถูกนำไปรักษาอาการง่วงนอนที่มากเกินไป (Hypersomnia) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่มีใช้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น

เมื่อยาฟลูมาซีนิลเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1 - 3 นาที ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง กระบวนการทำลายยานี้จะเกิดที่ตับ หลังจากนั้นยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก

 คณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) ได้บรรจุยาฟลูมาซีนิลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เพื่อ “บำบัดอาการสงบประสาทที่เกิดจากการใช้ยาในกลุ่ม Benzodiazepines เกินขนาด”

 ยาฟลูมาซีนิลมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น การใช้ยานี้จะต้องอาศัยหัตถการทางการ แพทย์ประกอบกับขนาดของการใช้จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษาเท่านั้น

ฟลูมาซีนิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลูมาซีนิล

ยาฟลูมาซีนิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น                

  • รักษาอาการสงบประสาทของการได้รับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) ที่เกินขนาด/Benzodiazepine overdose      
  • ฟื้นสภาพหลังผ่าตัดกับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน     

ฟลูมาซีนิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูมาซีนิลคือ ตัวยาจะเข้าขัดขวางและแย่งการจับตัวกับตัวรับ (Receptor) ของยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ทำให้ฤทธิ์ของการสงบประสาทลดน้อยลงจนทำให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นสภาพ/ตื่นตัวได้ดีขึ้น

ฟลูมาซีนิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูมาซีนิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาฉีดขนาด 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (100 ไมโคร กรัม/มิลลิลิตร)

ฟลูมาซีนิลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูมาซีนิลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับการได้รับยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodia zepine)เกินขนาด  เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นฉีดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย 200 ไมโครกรัมโดยใช้เวลาในการฉีดนาน 30 วินาทีขึ้นไป หากจำเป็นแพทย์สามารถให้ยาอีก 500 ไมโครกรัมทุก 60 วินาที ขนาดการให้ยาสูงสุดอยู่ที่ 3,000 ไมโครกรัม
  • เด็กที่มีอายุ 1 - 17 ปี: เช่น เริ่มต้นให้ยา 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาในการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 15 วินาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอีก 45 วินาทีแพทย์สามารถให้ยาในขนาดเดิม หากจำเป็นแพทย์อาจให้ยาซ้ำทุก 60 วินาที หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องให้ยาในขนาดเดิมหลังจากการใช้ยาครั้งแรกแล้ว 45 วินาที และอาจให้ซ้ำอีก 60 วินาทีต่อมา แต่ขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลในการรักษาและผลข้างเคียงของยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง:

  • ก่อนการให้ยานี้กับคนไข้ สามารถผสมตัวยาได้กับ 5% Dextrose หรือ Lactated Ringer's หรือสารละลาย 9% Sodium chloride

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

         เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูมาซีนิล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                         เภสัชกร  เช่น     

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูมาซีนิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ฟลูมาซีนิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูมาซีนิลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • วิงเวียน
  • ตาพร่า
  • ปวดหัว
  • ใบหน้าแดง
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • มีอาการหวาดกลัว
  • อาจพบอาการชักซึ่งมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูมาซีนิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูมาซีนิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับพิษอย่างรุนแรงจากยาต้านเศร้ากลุ่ม Tricyclic antidepressants (TCA: ยาทีซีเอ ยารักษาโรคซึมเศร้า)
  • ควรใช้ยานี้จนกระทั่งอาการของผู้ป่วยฟื้นสภาพกลับมาดีขึ้น
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ยานี้อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยด้วยโรคทางจิตเวช
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูมาซีนิลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูมาซีนิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูมาซีนิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาฟลูมาซีนิลจะออกฤทธิ์ต่อต้านฤทธิ์ของยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) โดยตรง การใช้ยาร่วมกันจะทำให้ลดฤทธิ์สงบประสาทของยาเบนโซไดอะซีปีน
  • นอกจากนี้ยาฟลูมาซีนิล ยังออกฤทธิ์ต้านพิษของยาต้านเศร้า โดยทำให้ฤทธิ์หรือพิษของยาต้านเศร้าลดน้อยลงไป

ควรเก็บรักษาฟลูมาซีนิลอย่างไร?

 สามารถเก็บยาฟลูมาซีนิล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูมาซีนิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูมาซีนิล  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anexate (อะเนเซท) Roche
Lanexat (แลนีแซท) Roche
Romazicon (โรมาซิคอน) Roche

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Flumazenil  [2022,May14]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/flumazenil?mtype=generic  [2022,May14]
  3. https://www.drugs.com/dosage/flumazenil.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Benzodiazepine_Overdose   [2022,May14]
  4. https://www.rxlist.com/romazicon-drug.htm  [2022,May14]
  5. https://www.catalog.md/drugs/lanexat.html   [2022,May14]