ปฏิทินการตั้งครรภ์ตามไตรมาส (Trimester pregnancy calendar)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
- 20 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: ปฏิทินการตั้งครรภ์คืออะไร?
- มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1?
- ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 1?
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 1 เป็นอย่างไร?
- อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 1 มีอะไรบ้าง?
- มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2?
- ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 2?
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2 เป็นอย่างไร?
- อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 2 มีอะไรบ้าง?
- มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3?
- ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 3?
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3 เป็นอย่างไร?
- อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 3 มีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ประจำเดือน (Menstruation)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- แพ้ท้อง อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)
- ท้องลม ท้องหลอก (Blighted ovum)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)
- ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction)
บทนำ: ปฏิทินการตั้งครรภ์คืออะไร?
เมื่อผู้หญิงเรามีการตั้งครรภ์ (Pregnancy) ความรู้สึกของความเป็นแม่ย่อมอยากให้ลูกในครรภ์สมบูรณ์แข็งแรง และนอกจากนี้ เราเองก็อยากจะรู้ด้วยว่าในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์’(ปฏิทินการตั้งครรภ์ตามไตรมาส)’ลูกที่อยู่ในครรภ์ของเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง
การตั้งครรภ์ใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 9 เดือน หรือประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน แต่อาจยาวนานถึง 42 สัปดาห์หรือ 294 วัน ซึ่งเราสามารถแบ่งช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ออกเป็น 3 ไตรมาส/ปฏิทินการตั้งครรภ์ตามไตรมาส โดย
- ไตรมาส 1 หรือไตรมาสแรก: เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์จนอายุครรภ์ประมาณ 14 สัปดาห์ (ในบาง ตำราใช้ 12 สัปดาห์ และเริ่มไตรมาส 2 เมื่ออายุครรภ์ 13 สัปดาห์)
- ไตรมาส 2: นับตั้งแต่ 15 สัปดาห์จนถึงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์
- ส่วนไตรมาสสุดท้ายคือไตรมาส3: อายุครรภ์ 29 สัปดาห์จนถึง 42 สัปดาห์หรือจนคลอดบุตร
ลองอ่านบทความนี้ดูเราก็จะรู้ว่าในระยะเวลา 3 ไตรมาสของการตั้งครรภ์(ปฏิทินการตั้งครรภ์ตามไตรมาส) ลูกน้อยในครรภ์จะเป็นอย่างไรตลอดจนอาการต่างๆที่เราต้องเผชิญตลอดจนการปฏิบัติตัว
มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1?
สิ่งที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกหรือในไตรมาสที่1ของการตั้งครรภ์: หากเป็นการตั้งครรภ์ที่เฝ้ารอ ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็จะมีความสุขใจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เกิดที่ขึ้นอย่างมาก จะชักนำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับอาการต่างๆอันได้แก่
- อาการคลื่นไส้อาเจียน: โดยเฉพาะในช่วงเช้าหรือที่เรารู้จักกันดีว่าแพ้ท้อง บางท่านอาจจะรู้สึก เหม็นแป้ง สบู่ บางท่านถึงกับเหม็นกลิ่นตัวของสามี
- อาการอื่นๆที่อาจพบได้อีก: ได้แก่ คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย ท้องอืด ง่วงนอนง่าย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เป็นต้น
ผู้ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเมื่อการตั้งครรภ์ผ่านพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว แต่บาง รายซึ่งพบได้น้อยมากอาจจะยังคงมีอาการอยู่จนกระทั่งคลอดก็เป็นได้
ทั้งนี้น้ำหนักตัวในช่วงไตรมาสแรกอาจจะไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจเพิ่มขึ้นอย่างมากไม่เกิน 1 กิโลกรัม
จริงๆแล้วในไตรมาสแรกนั้นเป็นช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิงและลูกน้อยในครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตและมีการสร้างอวัยวะต่างๆขึ้นตลอดจนมีพัฒนาการต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ผู้ตั้งครรภ์บางรายอาจเกิดการแท้งบุตรได้ช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นจากการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวทารกหรือที่เรียกว่า ‘ท้องลม’
ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 1?
การปฏิบัติตัวในไตรมาสแรกที่สำคัญ คือ
- ลดกาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควรรับประ ทานโฟเลท(Folate)/กรดโฟลิก และ วิตามินบี 6 (Vitamin B6) ซึ่งวิตามินบี 6 นี้จะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ้าง
- นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ บางท่านอาจรู้สึกว่าน้ำเปล่ามันมีรสขม อาจเลือกดื่มน้ำขิงหรือน้ำหวานก็ได้
- ควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกหมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินสูงเช่น นม ไข่ และปลาทะเล ตลอดจนผักผลไม้
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไป
- เปลี่ยนขนาดยกทรงตามขนาดของเต้านมที่โตขึ้น
- ใส่รองเท้าที่ไม่มีส้น
- หากเจ็บป่วยจำเป็นต้องใช้ยา ต้องแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรเสมอว่ากำลังตั้งครรภ์เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงยาที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และต่อทารกในครรภ์ได้
อนึ่ง:
- การมีเพศสัมพันธ์สามารถกระทำได้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ รวมทั้งความบ่อย ของการมีเพศสัมพันธ์ขึ้นกับสุขภาพความแข็งแรงของร่างกาย โดยมีเพศสัมพันธ์ในท่าปกติที่สามารถช่วยกันปรับให้สอดคล้องไม่อึดอัดจากครรภ์ทั้งสามีและภรรยา
- ทั้งนี้คู่สมรสส่วนใหญ่เข้า ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้เกิดการแท้งบุตร ซึ่งจริงๆแล้วการแท้งบุตรมักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของทารกมากกว่า หรือจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น มารดามีโรคเรื้อรังประ จำตัวหรือติดเชื้อ เป็นต้น
- อย่างไรก็ตามหากมีเลือดออกจากช่องคลอด หรือแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีอาการมดลูกหดรัดตัวบ่อยๆ หรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือเคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 1 เป็นอย่างไร?
ทารกในครรภ์จะมีการพัฒนาตนเองจากเซลล์เดียว จะมีการแบ่งและเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดของทารกจากเล็กเท่าหัวเข็มหมุดจะเติบโตขึ้นจนมีตัวยาววัดจากส่วนบนสุดของศีรษะจนถึงก้นประมาณ 8 - 9 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ทารกในครรภ์จะเริ่มมีการพัฒนาของตา หู หน่อหรือตุ่มฟัน นิ้วมือ นิ้วเท้า อวัยวะ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตเช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต
แพทย์จะสามารถฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 11 - 12 สัปดาห์ หากฟังแล้วไม่ได้ยิน มีความจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง(อัลตราซาวด์) หากไม่พบการเคลื่อนไหวของหัวใจจริง นั่นเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าทารกอาจตายในครรภ์
ในช่วงเวลาดังกล่าว ทารกจะเริ่มมีการพัฒนาของอวัยวะเพศซึ่งจะปรากฏให้เห็นลักษณะของเพศในช่วงท้ายของไตรมาสแรก
การตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในไตรมาสแรกจะช่วยยืนยันอายุครรภ์ที่แท้จริงได้
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 1 มีอะไรบ้าง?
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสแรกคือ
- เลือดออกจากช่องคลอด: สิ่งสำคัญคือ หากมีเลือดออกต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อตรวจหาสาเหตุก่อน หากไม่พบสาเหตุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องกังวลใจ ความเชื่อที่ผิดคือผู้ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเลือดที่ออกอาจเป็นชิ้นส่วนของทารกที่หลุดออกมาและอาจทำให้ทารกพิการได้ จริงๆแล้วสิ่งนี้เป็นความเชื่อที่ผิด
- อาการปวดท้องน้อย: ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุ หากไม่พบสาเหตุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์ อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการขยายขนาดของมดลูกหรือการดึงรั้งเอ็นที่ยึดมดลูกเนื่องจากขนาดของมดลูกที่โตขึ้น
- อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นอย่างมากจนไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลย: ซึ่งถ้ามีอาการนี้ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา ในบางกรณีอาจต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขภาวะความไม่สมดุลของสารเกลือแร่ในร่างกายและภาวะขาดน้ำที่เกิดจากการอาเจียนที่รุนแรง
มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2?
ไตรมาสที่ 2 คือ อายุครรภ์ประมาณ 14 - 28 สัปดาห์ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในไตรมาสนี้ คือ
- ผู้ตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้
- ประกอบกับในไตรมาสที่ 2 นี้อาการแพ้ท้องหรือความไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกจะเริ่มหายไป ผู้ตั้งครรภ์จึงจะมีความสุขมากในไตรมาสนี้
- รูปร่างของมารดาก็จะมีลักษณะเหมือนคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
- ท้องจะโตกลมขึ้นเพราะมีการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- น้ำหนักตัวมักจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ประมาณ 5 - 7 กิโลกรัม
- หลังของผู้ตั้งครรภ์มักจะแอ่นไปด้านหน้าและอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมา
- ผู้ตั้งครรภ์บางรายอาจเริ่มมีฝ้าเกิดขึ้น
- ผิวหนังเริ่มมีสีคล้ำในบางจุด บางรายอาจมีเส้นสีแดงหรือน้ำตาลคล้ำเกิดขึ้นที่บริเวณท้อง ต้นขา และเต้านม
- เต้านมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- และอาจพบอาการมือและขาบวม
ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 2?
การปฏิบัติตัวในไตรมาสที่2:
ก. การออกกำลังกาย:
การออกกำลังกายสามารถทำได้ในทุกไตรมาส หากเคยออกกำลังกายมาแล้วก็สามารถออกกำลังกายต่อเนื่องได้เลย แม้จะเริ่มมีการตั้งครรภ์ในผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจเริ่ม ต้นออกกำลังกายในไตรมาสที่ 2 นี้
อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือ ควรออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่ การที่แพทย์วินิจฉัยว่า
- มีภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) ภาวะนี้มีโอกาสแท้งบุตรได้สูงเช่น มีเลือดออกทาง ช่องคลอด
- มีภาวะที่ปากมดลูกไม่แข็งแรงที่เป็นสาเหตุการแท้งบุตรได้
- เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์)
- มีความดันโลหิตสูง
- มีโรคหัวใจ
- มีรกเกาะต่ำ
- มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
- เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน
การออกกำลังกาย: ทั่วๆไป
- สามารถออกกำลังกายที่มีความแรงระดับปานกลางได้ คือ สังเกตได้จากการที่สามารถพูด คุยได้ขณะกำลังออกกำลังกาย ตัวอย่างของการออกกำลังกาย เช่น ว่ายน้ำ การเดิน การปั่นเครื่องปั่นจักรยาน การยกน้ำหนักที่ไม่หนักจนเกินไป
- การออกกำลังกายอื่นๆที่เน้นส่วนบนของร่างกาย ควรทำวันละอย่างน้อย 30 นาที
- อย่างไรก็ตามในผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังกายควรเริ่ม 5 นาทีก่อน แล้วค่อยๆยืดระยะเวลาออกกำลังกายออกไปเพื่อให้ไม่เหนื่อยมาก
ข. ในด้านอาหาร:
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการบริโภคโปรตีนและอาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีแป้งหรือหวานมากนักโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากเมื่อไม่ได้มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจ
- ทั้งนี้ปริมาณวิตามินที่ควรได้รับต่อวันในช่วงนี้ได้แก่
- แคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
- ไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม
- และธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม
*เมื่อเจ็บป่วยจะต้องใช้ยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรว่าตั้งครรภ์เสมอ
ค. อื่นๆ:
- นอกจากนั้นการนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมงยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญตลอดการตั้งครรภ์
- และในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันด้วยเพราะอาจมีปัญหาในเรื่องของเหงือกและฟันได้ง่ายกว่าภาวะที่ไม่ตั้งครรภ์จากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆและความต้องการใช้แคลเซียมของร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นจนอาจกระทบถึงฟันได้
พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2 เป็นอย่างไร?
พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2:
- กระดูกของทารกในไตรมาสที่ 2 นี้จะเริ่มมีความแข็งเพิ่มขึ้น
- หูก็จะพัฒนาจนมีลักษณะเป็นหูที่ชัดเจน
- เริ่มมีขนเล็กละเอียดเกิดขึ้นตามลำตัว
- ทารกจะมีความยาวจากศีรษะจนถึงก้นประมาณ 9 เซนติเมตรเมื่ออายุครรภ์14 สัปดาห์ และเมื่ออายุครรภ์ 22 สัปดาห์ทารกจะมีความยาวจากศีรษะ จนถึงส้นเท้าประมาณ 28 เซนติเมตร
- ทารกจะเริ่มได้ยินบทสนทนาเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 22 สัปดาห์
- อายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์ทารกจะเริ่มฝึกหายใจ
- และเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 26 สัปดาห์สมองของทารกจะเริ่มตอบสนองต่อการสัมผัสท้องจากภายนอก
- ทารกจะเริ่มมีการนอนหลับและตื่นสลับกันเป็นเวลา
- แพทย์จะสามารถฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้ชัดเจนขึ้น และเป็นสิ่งบ่งบอกภาวะสุขภาพของทารกในครรภ์ ณ เวลาที่ตรวจ
- หากไม่พบการเต้นของหัวใจทารกไม่ว่าจะโดยการฟังหรือจากการตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) สิ่งนี้บ่งชี้ว่าทารกน่าจะเสียชีวิต การตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในไตรมาสที่ 2 ในช่วงอายุครรภ์ 18 - 22 สัปดาห์จะช่วยตรวจหาความผิดปกติทางร่างกายของทารกได้
- แต่อย่างไรก็ตามการตรวจนั้นมีข้อจำกัด แพทย์ไม่สามารถที่จะยืนยันว่าทารกในครรภ์ที่จะเกิดมาปกติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ภาวะหูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน หรือความผิดปกติอื่นๆที่ยากที่จะทำการวินิจฉัยได้ก่อนคลอด
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 2 มีอะไรบ้าง?
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 2 คือ
- อาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง: อาจเกิดจากการยืดของเอ็นยึดมดลูกที่เรียกว่า ราวด์ ลิกกะเม้นท์ (Round Ligament) ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในไตรมาสนี้และไม่จำเป็นต้องให้การรักษา อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจแยกโรคสำคัญอื่นๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ (เมื่อปวดท้องด้านขวา) หรือการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
- การดิ้นของทารกในครรภ์: ในการตั้งครรภ์ครั้งแรกจะรู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 - 20 สัปดาห์ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อมาจะรู้สึกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16 - 18 สัปดาห์ หากถึงกำหนดดังกล่าวยังไม่รู้สึกถึงการดิ้นของทารก ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3?
ไตรมาสที่ 3 เป็น 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
- ความรู้สึกของผู้ตั้งครรภ์อาจจะมีความกลัวและวิตกกังวลต่อการคลอดและต่อการเลี้ยงดูบุตรในอนาคต อย่างไรก็ตามการหาความรู้เพิ่ม เติมจากการอ่านหนังสือหรือขอคำปรึกษาจากแพทย์/พยาบาลก็จะช่วยให้ความวิตกกังวลดังกล่าว ลดลงได้
- น้ำหนักของผู้ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้คือประมาณ 5 - 15 กิโลกรัม อย่างไรก็ ตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักที่เหมาะสมคือสัปดาห์ละประมาณ ½ กิโลกรัมหรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน และควรขึ้นไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
- อาการบวมตามร่างกายอาจปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด บางรายอาจมีผื่นขึ้นตามหน้าท้องได้
- ในไตรมาสนี้ผู้ตั้งครรภ์บางรายอาจมีการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา และครรภ์ที่ขยายขนาด ขึ้นมากอาจกระทบต่อการทรงตัวทั้งขณะที่นั่งยืนหรือเดิน ดังนั้นควรเคลื่อนไหวตัวเองให้ช้าลง
- ทั้งนี้อาจมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น
- และอาจนอนหลับยากขึ้นเนื่องจากหายใจลำบากจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นมากขณะที่นอน
ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในไตรมาสที่ 3?
ในช่วงเวลานี้ อาจต้องพบแพทย์บ่อยขึ้นกว่าปกติ ขึ้นอยู่กับอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้น อาจพบแพทย์ทุก 1 - 2 สัปดาห์
ในช่วงไตรมาสนี้:
- ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- พยายามหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น
- จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมในการไปโรงพยาบาลได้ในทุกเวลา
- การเดินทางไกลอาจกระทำได้หากเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน, อย่างไรก็ดีปัญหาที่ต้องคิดขณะเดินทางคือ
- หากมีภาวะแทรกซ้อนใดๆเกิดขึ้นขณะเดินทาง เราจะสามารถเข้าถึงแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันทีหรือไม่
- ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลโดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3 เป็นอย่างไร?
พัฒนาการของทารกในครรภ์ไตรมาสที่3:
ก. ในช่วงปลายเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์:
- ทารกจะเริ่มมีการสะสมไขมันและมีขนาดความยาว ประมาณ 36 เซนติเมตรและมีน้ำหนักประมาณ 900 - 1,800 กรัม
- การได้ยินของทารกจะมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์
- ทารกจะมีการเปลี่ยนท่าทางค่อนข้างบ่อย
- และมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆอันได้แก่ เสียง แสง ได้ดี
ข. ในเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์:
- ทารกจะมีความยาวประมาณ 46 เซนติเมตรและมีน้ำหนักตัวประมาณ 2.27 กิโลกรัม
- ผู้ตั้งครรภ์จะรู้สึกว่าทารกดิ้นได้บ่อยขึ้น
- สมองของทารกจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทารกสามารถได้ยินเสียงและเห็นแสงได้ดี, อวัยวะภายในจะมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์, แต่ปอดยังไม่แข็งแรง
ค. ในช่วงท้ายของไตรมาสที่3:
- ปอดของทารกจะพัฒนาและทำงานได้เกือบสมบูรณ์และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึง 3 สัปดาห์สุดท้าย ปอดของทารกส่วนใหญ่จะสมบูรณ์เต็มที่
- ทารกในช่วงนี้สามารถกระพริบตา ปิดตา หันศีรษะได้ กำและแบมือได้ดี ตอบสนองต่อเสียงแสงและสัมผัสได้ดี
- ทารกจะมีการหมุนและอยู่ในท่าที่เตรียมพร้อมที่จะคลอดโดยศีรษะทารกจะเคลื่อนเข้าสู่ อุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย และมักจะอยู่ในท่าคว่ำหน้า
ง. ในปลายเดือนสุดท้าย:
- ทารกจะมีความยาวประมาณ 46 - 51 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 2 กิโลกรัม
- ซึ่งการตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ในไตรมาสที่ 3 นี้จะช่วยคะเนน้ำหนักของทารกในครรภ์และช่วยวินิจฉัยภาวะทารกเติบโตช้าในครรภ์ได้
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่ 3 มีอะไรบ้าง?
อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้ในไตรมาสที่3เช่น
- อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด: หากรู้สึกว่าท้องแข็งตัวหรือหดรัดเกร็งเป็นระยะๆ ลองนอนพักดูก่อน หากอาการยังคงเป็นมากขึ้นถี่ขึ้นหรือแรงขึ้น อาจเป็นอาการแสดงของ การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ควรต้องรีบพบแพทย์
- อาการของการมีการแตกหรือรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำ: บางรายอาจมีน้ำที่มีลักษณะ ที่ไม่ใช่ตกขาว แต่เป็นน้ำใสที่มีลักษณะคล้ายน้ำปัสสาวะ แต่ต่างกันตรงที่ไม่สามารถกลั้นได้ อาจมีปริมาณมากหรือน้อยแล้วแต่กรณี ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีการแตกหรือรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้นหรือไม่
- ครรภ์เป็นพิษ: การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากหรือบวมขึ้นมากโดยเฉพาะบริเวณหนัง ตาอาจเป็นอาการเริ่มต้นของครรภ์เป็นพิษ ควรพบแพทย์เพื่อวัดความดันโลหิต/ความดันเลือด นอก จากนี้บางรายอาจจะมีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว หรือจุกเสียดลิ้นปี่ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- เลือดออกจากช่องคลอด: หากมีเลือดออกจากช่องคลอดอาจเป็นอาการแสดงของ การที่มีรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือภาวะอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ทารกไม่ดิ้น: การดิ้นของทารกในครรภ์นั้นบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของทารกว่าแข็ง แรงดีหรือไม่
- หากสังเกตว่าทารกดิ้นลดลง ควรนับการดิ้นของทารก:
- โดยแนะนำนับในช่วงเวลาเดิมทุกๆวัน เวลาที่เหมาะสมคือหลังอาหารเย็น ควรนับในขณะที่นอนอยู่ในท่านอนตะแคงซ้าย
- ควรมีกระดาษปากกาหรือดินสอเพื่อจดเวลาเริ่มต้นและบันทึกการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์
- การนับนั้น นับทั้งการดิ้นที่รู้สึกได้, การพลิกตัว, ความรู้สึกว่าโดนเตะหรือต่อย, ควรนับให้ได้ครบ 10 ครั้ง และบันทึกเวลาสิ้นสุดการนับ
- โดยปกติทารกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง
- หากสังเกตว่าทารกดิ้นลดลง ควรนับการดิ้นของทารก:
สรุป
ในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์:
- จะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของทั้งมารดาและของทารกในครรภ์ดังได้กล่าวแล้ว
- ดังนั้นมารดาจึงต้องคอยสังเกตตนเองและสังเกตอาการของทารกในครรภ์เสมอ
- ซึ่งหากสังเกตเห็นความผิดปกติต่างๆทั้งของตนเองและ/หรือของทารก ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
บรรณานุกรม
- Cunningham FG, et al. Williams Obstetrics. 23rd ed. New York, N.Y.: The McGraw-Hill Companies; 2010:1.
- Moore KL, et al. The Developing Human: Clinically Oriented Embryology. 8th ed. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier; 2003:4.
- American College of Obstetricians and Gynecologists. Your Pregnancy and Childbirth: Month to Month. 5th ed. Washington, D.C.: American College of Obstetricians and Gynecologists; 2010:117.
- https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-second-trimester [2022,March19]
- https://www.acog.org/womens-health/faqs/how-your-fetus-grows-during-pregnancy [2022,March19]
- https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20046767 [2022,March19]