การแท้งบุตร (Miscarriage)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 2 ธันวาคม 2555
- Tweet
สารบัญ
- การแท้งบุตรหมายถึงอะไร?
- การแท้งบุตรเกิดจากสาเหตุใด?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร?
- การแท้งบุตรมีกี่ชนิด? และมีอาการอย่างไร?
- อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
- มีอาการอย่างไรจึงควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน?
- วิธีวินิจฉัยการแท้งของแพทย์ทำอย่างไร?
- มีภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งไหม? อย่างไร?
- แพทย์มีแนวทางรักษาการแท้งบุตรอย่างไร?
- หลังแท้งจะมีอาการอย่างไร?
- หลังแท้งจะกลับมีประจำเดือนปกติเมื่อไหร่?
- หลังแท้งมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?
- หลังแท้งควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?
- หลังแท้งแล้วเมื่อไหร่จะตั้งครรภ์ได้อีก?
- ดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันการแท้ง?
- สามารถป้องกันการแท้งบุตรได้หรือไม่? อย่างไร?
- บรรณานุกรม
การแท้งบุตรหมายถึงอะไร?
การแท้งบุตร (Miscarriage) หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกที่คลอดออกมาจะมีชีวิตรอด
ในสหรัฐอเมริกาหรือทางยุโรป ใช้เกณฑ์การแท้งเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 สัปดาห์ (ตามวิธีคำนวณอายุครรภ์จากประวัติวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งคนปกติจะตั้งครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์) สำหรับองค์การอนามัยโลกใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์ที่น้อยกว่า 22 สัปดาห์ถือเป็นการแท้ง แต่สำหรับประเทศไทย ยังใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ถือว่าเป็นการแท้ง
การที่เกณฑ์อายุครรภ์วินิจฉัยการแท้งต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการเลี้ยงทารกให้มีชีวิตรอดมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และอุปกรณ์ในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงทารกที่คลอดได้ตั้งแต่อายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ จึงใช้เกณฑ์การแท้งเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ และหากคลอดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ ถือเป็นการคลอดทารกก่อนกำหนด ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษอีกแบบหนึ่ง
การแท้งเองโดยธรรมชาติ ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Miscarriage” ส่วนคำว่า “Abortion” ที่เห็นกันบ่อยๆ เจ้าของภาษาหมายถึง การที่ต้องชักนำให้เกิดการแท้ง หรือนัยเป็นการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทยใช้ทั้ง 2 คำในการสื่อถึงการแท้งเอง หากเป็นการทำแท้งที่ผิดกฎหมายจะใช้คำว่า “Il-legal abortion”
อุบัติการณ์ของการแท้งเองพบประมาณ 10-15% ของการตั้งครรภ์ การแท้งส่วนใหญ่มากกว่า 80% เกิดในไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) ของการตั้งครรภ์
การแท้งบุตรเกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุของการแท้งเองหรือปัจจัยเสี่ยงมีหลายอย่าง เช่น
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรมากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย
- สตรีตั้งครรภ์ที่ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด
- สตรีตั้งครรภ์เคยมีการแท้งมาก่อน
- การติดเชื้อในร่างกาย หรือ อุ้งเชิงกราน
- มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
- การขาดฮอร์โมนเพศ เช่น จากมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- อุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกมดลูก
- ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ในการแท้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (ครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์)
- หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร?
สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คือ
- สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุมากกว่า 35 ปี หรือ ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี
- สตรีที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี (SLE)
- สูบบุหรี่
- ดื่มเหล้า
- มีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร
- มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์
- ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ
- ทำงานหนักมากเกินไป
- มีการทำงานของรังไข่ผิดปกติ ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
- มีความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิด
- มีเนื้องอกมดลูกบางชนิด
การแท้งบุตรมีกี่ชนิด? และมีอาการอย่างไร?
ในที่นี่จะพูดถึงการแท้งที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่
- แท้งคุกคาม (Threatened abortion) สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริดกระปรอย เลือดออกไม่มาก ซึ่งการแท้งชนิดนี้ มีโอกาสจะตั้ง ครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 50% และมีโอกาสแท้งประมาณ 50%
- แท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการปวดท้อง น้อยมากขึ้น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น บางครั้งมีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วย ปากมดลูกเปิดแล้ว ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ต้องสิ้นสุดด้วยการแท้ง
- แท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) เป็นการแท้งเพียงบางส่วนของทารกหรือของรก อีกส่วนหนึ่งยังเหลือค้างในโพรงมดลูก ทำให้สตรีตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องน้อยมากและมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
- แท้งครบ (Complete abortion) เป็นการแท้งทารกและรกออกมาโดยสมบูรณ์ สตรีตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าปวดท้องน้อย มีเลือดออก มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาแล้วเลือดออกลดลง อาการปวดท้องหายไป
- แท้งค้าง (Missed abortion) หมายถึง การที่ทารกในครรภ์เสียชีวิตมานานกว่า 8 สัปดาห์ในครรภ์ สตรีตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าเคยมีอาการของการตั้งครรภ์ มดลูกมีขนาดโตขึ้น แล้วต่อมาอาการคลื่นไส้อาเจียนหายไป และมดลูกมีขนาดเล็กลง
- แท้งเป็นอาจิณ (Habitual abortion) หมายถึง การแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป สาเหตุเกิดจากปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence) หรือ การขาดฮอร์โมนเพศ หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม
- แท้งติดเชื้อ (Septic abortion) หมายถึง มีการแท้งร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้มีไข้ ปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด
อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้น ได้แก่
- อาการปวดท้องน้อย
- ปวดหลังอย่างมาก
- มีมูกปนเลือด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด
- น้ำหนักลด
- รู้สึกว่ามดลูกแข็งตัว/บีบตัวบ่อย
- รู้สึกท้องเล็กลงหรือไม่โตขึ้น
- อาการที่บ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เต้านมคัดตึง หายไป
มีอาการอย่างไรจึงควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน?
เมื่อตั้งครรภ์ อาการที่ควรต้องไปโรงพยาบาลด่วน คือ
- ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด
- ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ
- มีน้ำใสๆไหลออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ปัสสาวะ และกลั้นไม่ได้
วิธีวินิจฉัยการแท้งของแพทย์ทำอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการแท้งได้โดย
- สอบถามประวัติอาการและประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สอบถาม ประวัติการขาดประ จำเดือน อาการที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ อาการผิดปกติ ปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น
- ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต จับชีพจรว่าปกติหรือไม่ ตรวจดูว่ามีเปลือกตาซีดหรือไม่ (จากมีเลือดออกทางช่องคลอด) คลำบริเวณท้องว่ามีอาการหรือกดเจ็บบริเวณใด คลำว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ คลำมดลูก เพื่อประเมินอายุครรภ์
- ตรวจภายใน เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากที่แพทย์ทุกคนที่ดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีเลือด ออกในช่วงเวลาของการแท้ง ต้องตรวจภายในเพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การตรวจภายในจะสามารถประเมินการเปิดปิดของปากมดลูก ขนาดมดลูกตามอายุครรภ์ ในกรณีที่เป็นแท้งคุกคาม ปากมดลูกจะปิด หากเป็นการแท้งที่ยับยั้งไม่ได้ หรือแท้งไม่ครบ ปากมดลูกจะเปิด เป็นต้น
- การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยแถบตรวจ (Urine pregnancy test) เป็นการตรวจที่สะดวกและรวดเร็ว มีความไวในการทดสอบว่ามีการตั้งครรภ์สูงมาก (ผลตรวจถูกต้องประ มาณ 99%) สามารถตรวจว่าตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ประจำเดือนเกินกำหนดที่จะมาเพียง 1 วัน แต่ข้อควรระวังมากคือ แม้ว่าทารกจะแท้งหรือเสียชีวิตไปแล้ว (ไม่นาน) การตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจยังคงให้ผลบวกว่ามีการตั้งครรภ์อยู่ ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนในร่างกายยังไม่หมดไป อาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์หลังแท้งจึงจะตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ (ผลตรวจเป็น ลบ)
- การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในทางสูติกรรม หากอายุครรภ์น้อยๆ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) จะทำให้เห็นทารกในครรภ์ชัดกว่า หรือการตั้งครรภ์ที่เป็นท้องลม (Blighted ovum) ที่มีเฉพาะถุงการตั้ง ครรภ์ แต่ไม่มีตัวทารก หรือใช้ตรวจกรณีที่สงสัยว่ามีแท้งค้าง แท้งไม่ครบ หรือมีประวัติตั้งครรภ์ มีเลือดออก แต่ตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจการตั้งครรภ์ยังให้ผลบวกอยู่ หากอายุครรภ์มากสามารถตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง (Transabdominal ultrasound) ได้
- การตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Serum beta-hCG) ไม่ได้ตรวจในสตรีตั้งครรภ์ทั่วไปทุกราย เพราะเจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลาในการตรวจ จะทำเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์บางรายที่สงสัยเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) หรือตรวจในกรณีที่การตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์อ่อนมากๆ ที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด
มีภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งไหม? อย่างไร?
หากเป็นการแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาครบ ไม่ได้ถูกขูดมดลูก ไม่มีการติดเชื้อ มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง โดยหลังแท้งจะมีเลือดออกทางช่องคลอด 2-3 วันแล้วเลือดจะหยุดไหล แต่หากเป็นการแท้งที่ไม่ครบ ต้องได้รับได้รับการขูดมดลูก อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ติดเชื้อ จะสังเกตอาการได้จากมีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริดกระปรอยนานเกิน 7 วัน และ/หรือปริมาณเลือดออกทางช่องคลอดอาจออกมากขึ้น มีอาการปวดท้อง หากเป็นการติดเชื้อรุนแรงสามารถทำให้ช็อกได้ และจะมีอาการไข้สูง
- ขูดมดลูกไม่หมด ทำให้เศษรกเหลือค้าง ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
- มดลูกทะลุจากการขูดมดลูก
- เสียเลือดมาก เกิดภาวะซีด อาจถึงช็อก และเสียชีวิตได้
- ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากการขูดมดลูก อาจทำให้มีบุตรยากในอนาคต หรือทำให้เกิดการแท้งง่ายในครรภ์ต่อไป
แพทย์มีแนวทางรักษาการแท้งบุตรอย่างไร?
เมื่อมีการตั้งครรภ์และมีเลือดออก แพทย์จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจอัลตราซาวด์ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการวินิจฉัย หากพบทารกปกติ และผู้ป่วยมีอาการไม่มาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้าน แต่หากมีการเสียเลือดจากมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก หรือแพทย์อาจจำเป็นต้องให้การรักษาตามสาเหตุ ผู้ ป่วยก็จะต้องนอนโรงพยาบาล และการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- หากเป็นการแท้งครั้งแรกที่ไม่ทราบสาเหตุ สามารถเฝ้ารอดูอาการในครรภ์ต่อไปได้ แต่หากแท้ง 2 ครั้ง แพทย์ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมต่างๆเพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ
- หากมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท และมีการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ต้องทำการเย็บปากมดลูก หรือมีเนื้องอกในโพรงมดลูกที่ทำให้เกิดการแท้งซ้ำ ต้องมีการตัดเนื้องอกออก โดยวิธี Hysteroscopic myomectomy
- หากมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศ เช่น โปรเจสเตโรน (Progesterone) ต้องมีการให้ฮอร์โมนเสริม
- หากเป็นการแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำการขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
- หากเป็นการแท้งไม่ครบ ต้องทำการขูดมดลูก
- หากเป็นการแท้งค้าง แพทย์จะทำการขูดมดลูก และ/หรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมด ลูก
หลังแท้งจะมีอาการอย่างไร?
หากแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาครบ และไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ออกไม่มาก 2-3 วันแล้วเลือดจะหยุดไปเอง ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีไข้
หากแท้งไม่ครบ มีการติดเชื้อ จะมีอาการปวดท้องอยู่ตลอดเวลา มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดนานเกิน 7 วัน บางครั้งอาจมีเลือดออกมาก บางครั้งเลือดที่ออกมา หรือสิ่ง/สารคัดหลั่ง/ตกขาวที่ออกมาจากช่องคลอดจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ ควรต้องรีบไปโรง พยาบาล
หลังแท้งจะกลับมีประจำเดือนปกติเมื่อไหร่?
หลังแท้งบุตร ประจำเดือนจะกลับมาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอายุครรภ์น้อยๆก่อนแท้ง โดยทั่วไป ในรอบเดือนถัดมามักจะมีประจำเดือนเลยหากไม่ได้ทำหัตถการต่างๆ เช่น การขูดมดลูก
หลังแท้งมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?
ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังแท้งหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน หากต้องขูดมดลูกหรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก แนะนำให้งดร่วมเพศอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการต่างๆจะกลับปกติ
อย่างไรก็ตาม พบว่าการตกไข่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์หลังแท้ง ดังนั้นหากจะมีการร่วมเพศและยังไม่อยากตั้งครรภ์ ควรมีการคุมกำเนิดด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัย และ/หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
หลังแท้งควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?
การคุมกำเนิดหลังแท้ง ทำได้ทุกวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาเม็ดคุม กำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (หากไม่มีการติดเชื้อ) เป็นต้น และควรเริ่มการคุมกำ เนิดเร็ว คือ 2 สัปดาห์หลังแท้ง เนื่องจากมีโอกาสตั้งครรภ์เร็วกว่าหลังคลอดบุตรปกติ
หลังแท้งแล้วเมื่อไหร่จึงจะตั้งครรภ์ได้อีก?
การจะกลับมาตั้งครรภ์อีก ขึ้นกับสาเหตุการแท้งและการทำหัตถการ หรือการรักษา เช่น
- หากแท้งครบไม่ได้มีการขูดมดลูก สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้เลย หรือแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้คุมกำเนิดหรือเว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 1-3 เดือน
- แต่หากมีการขูดมดลูก แนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 1-3 เดือน
- หรือหากเป็นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่ต้องผ่าผ่านผนังมดลูกเข้าไป ทำให้มีแผลที่กล้าม เนื้อมดลูก แนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ไป 6-12 เดือน
ดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันการแท้ง?
สตรีตั้งครรภ์ควรดูแลตนเองอย่างดีในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแท้ง ข้อควรปฏิบัติที่แนะนำ คือ
- นอนพักผ่อนให้มากๆ
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน รับประทานผัก ผลไม้มากๆ
- ออกกำลังกายตามความเหมาะสม/ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ
- รีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์
- หากมีความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ควรต้องรีบไปพบแพทย์
สามารถป้องกันการแท้งบุตรได้หรือไม่? อย่างไร?
การแท้งจัดเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในกรณีที่ทารกผิดปกติ จะเกิดการแท้งขึ้น เพราะทารกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ การแท้งที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ก็ทำให้การป้องกันการแท้งทำได้ยาก การแท้งที่หาสาเหตุได้ เช่น ขาดฮอร์โมนเพศสามารถให้ฮอร์ โมนเสริมได้ หรือหากมีภาวะปากมดลูกเปิด ก็ต้องมีการเย็บปากมดลูกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ ส่วนการป้องกันทั่วๆไป ได้แก่
- ไม่ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- รับประทาน วิตามิน บี 9 (Folic acid)
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- รักษาสุขภาพจิต
บรรณานุกรม
- Fox-Lee L, Schust DJ. Recurrent pregnancy loss. In: Berek JS, ed. Berek& Novak’s Gynecology. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2007: 1276-323.
- http://www.americanpregnancy.org/pregnancycomplications/miscarriage [2012,Dec 2].
- http://www.webmd.com/infertility-and-reproduction [2012,Dec2].