นีโอสปอริน (Neosporin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

นีโอสปอริน คือ สูตรตำรับยาปฏิชีวนะที่ประกอบด้วยยา Bacitracin, Neomycin และ Polymyxin B, เฉพาะตัวยา Neomycin และ Polymyxin มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ, ในขณะที่ตัวยา Bacitracin มุ่งเป้าทำลายแบคทีเรียแกรมบวก, ด้วยเหตุนี้ สูตรตำรับยานีโอสปอรินจึงครอบคลุมการรักษาบาดแผลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

อย่างไรก็ตาม ยานีโอสปอรินจะมีรูปแบบการใช้เป็น 'ยาใช้ภายนอกเฉพาะที่' เท่านั้น เนื่องจากตัวยาสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น เป็นพิษต่อไต, และถึงแม้จะใช้นีโอสปอรินเป็นยาเฉพาะที่ก็จริง หากใช้ยาเป็นระยะเวลานาน ตัวยาอาจซึมผ่านจากผิวหนังเข้าสู่ระบบหลอดเลือด และกระจายตัวไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกายจนอาจก่ออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้  

และยังเป็นที่ทราบกันดีว่าตัวยา Neomycin ก่อให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังได้ง่าย ผู้ผลิตจึงสร้างสูตรตำรับที่ตัด Neomycin ออกไป แต่ยังคงส่วนประกอบของ Bacitracin กับ Polymyxin ไว้ โดยอยู่ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ‘โพลีสปอริน (Polysporin)’ และนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยกับผู้ที่แพ้ยา Neomycin    

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานีโอสปอรินที่วางขายตามร้านขายยา จะเป็น ยาครีม และยาขี้ผึ้ง เพื่อรักษาบาดแผลทางผิวหนัง  นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์นีโอสปอรินที่ใช้ทำความสะอาดบาดแผลและป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนัง (Neosporin Wound Cleanser) โดยมีตัวยาสำคัญ คือ ‘Benzalkonium Chloride’ 

สำหรับนีโอสปอรินในรูปแบบยาหยอดตา จะมีองค์ประกอบของยาปฏิชีวนะ Gramicidin ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Bacillus subtilis และ Staphylococcus aureus เป็นต้น

การใช้ยานีโอสปอรินเป็นเวลานาน หรือใช้เป็นปริมาณมากๆ อาจก่อให้เกิดผลเสียเสียต่อร่างกายได้, เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนใช้ยานี้ควรปรึกษาเภสัชกร หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ที่ทำการรักษา

นีโอสปอรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยานีโอสปอรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น       

  • ใช้เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง โดยทาบาดแผลเล็กน้อยที่ไม่รุนแรงที่เกิดจากการบาดเจ็บด้วยของมีคม, แผลจากรอยถลอกต่างๆ,รวมถึงบาดแผลจากรอยไหม้เล็กน้อยของผิวหนัง
  • กรณียาหยอดตา: ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา เช่น เยื่อตาอักเสบ, ตาแดง, เปลือกตาอักเสบ
  • กรณีใช้เป็นน้ำยาล้างแผล: จะใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนัง และใช้ทำความสะอาดบาดแผล

นีโอสปอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานีโอสปอริน มีการออกฤทธิ์ตามตัวยาปฏิชีวนะที่เป็นส่วนประกอบ เช่น           

  • Bacitracin: ออกฤทธิ์โดยยาจะเข้ารวมตัวกับประจุของโลหะ เช่น แมงกานีส  โคบอลท์  นิเกิล  ทองแดง หรือ สังกะสี และเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย
  • Neomycin: ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย (30s ribosomal subunit) เป็นผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด
  • Polymyxin B: ทำให้ผนังเซลล์ของแบคทีเรียมีการซึมผ่านเปลี่ยนแปลงไปกล่าว คือ ยานี้สร้างรอยรั่วที่ผนังเซลล์ เป็นผลให้เยื่อหุ้มชั้นนอกไม่เสถียร จึงก่อกวนการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย

นีโอสปอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานีโอสปอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น                                                  

  • ยาขี้ผึ้งทาผิว ประกอบด้วย                          
    • Bacitracin zinc 400 units + Neomycin sulphate 3.5 mg + Polymixin B sulphate 5000 units/gm           
    • Bacitracin zinc  500 units + Neomycin sulphate 3.5 mg + Polymixin B sulphate 10000 units + *Pramoxine HCl 10 mg/gm           
  • ยาครีมทาผิว ประกอบด้วย                
    • Neomycin sulphate 3.5 mg + Polymixin B sulphate 10000 units + *Pramoxine HCl 10 mg/gm               
  • ยาหยอดตา ประกอบด้วย                                                           
    • Neomycin sulfate 1.75 mg + Polymyxin B sulfate 10000 units + Gramicidin 0.025 mg /ml

*หมายเหตุ: *Pramoxine: อยู่ในกลุ่มยาชาเฉพาะที่ออกฤทธิ์โดยหยุดการส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากเส้นประสาท จึงใช้บรรเทาอาการปวดจากบาดแผลถลอก แผลไหม้ขนาดเล็กน้อย การระคายเคืองหรือผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยรวมถึงการระคายเคืองอันเนื่องจากสัมผัสพืชพิษ

นีโอสปอรินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

นีโอสปอรินมีขนาดการบริหารยา:

ก. ยาขี้ผึ้งและยาครีม:

  • ผู้ใหญ่ และเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป: เช่น ทายาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1-3 ครั้ง, และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์

ข. ยาหยอดตา:

  • ผู้ใหญ่ : เช่น หยอดตา 1–2 หยดที่ขอบตาล่างของดวงตาทุกๆ 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-10 วัน กรณีติดเชื้อและมีอาการรุนแรงอาจเพิ่มขนาดยาเป็นสองหยดทุกๆชั่วโมง หรือเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่ระบุชัดเจนถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก

หมายเหตุ:

  • ก่อนการใช้ยานี้ ต้องล้างมือให้สะอาดเสมอ
  • ขนาดและระยะเวลาในการใช้นีโอสปอรินที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานีโอสปอรินผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น        

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานีโอสปอริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                               
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร  เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้นีโอสปอรินควรทำอย่างไร?

กรณีลืมใช้ยานีโอสปอริน สามารถใช้ยาได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่าให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ

นีโอสปอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้นีโอสปอริน สามารถก่อให้เกิดอาการ/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น

  • อาจเกิดอาการแพ้ยา: เช่น ผื่นคัน บวมแดง
  • การใช้ยาชนิดทาผิวหนัง: กรณีใช้ยาเป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้ติดเชื้อราในบริเวณที่ใช้ยา *หากพบอาการผิดปกติบริเวณที่ทายา *ให้หยุดการใช้ยา และรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาใหม่
  • *กรณีใช้ยานีโอสปอรินชนิดหยอดตาเป็นปริมาณมากและนานเกินไป: อาจก่อให้เกิดภาวะหูดับ หรือสูญเสียการได้ยิน รวมถึงอาการของไตทำงานผิดปกติ ด้วยยาที่เป็นส่วนประกอบหลัก สามารถทำลายเส้นประสาทของการได้ยินได้รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับไตได้
  • กรณีพบอาการข้างเคียงที่นอกเหนือจากที่กล่าว  ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้นีโอสปอรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้นีโอสปอริน เช่น            

  • ห้ามใช้กับ ผู้ที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ
  • ห้ามรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น
  • ห้ามใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา รวมถึง สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ใน   ภาวะให้นมบุตร 
  • *ก่อนใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • หยุดการใช้ยานี้ เมื่อพบว่า อาการของบาดแผลไม่ดีขึ้น แล้วไปปรึกษาแพทย์/ ไปโรงพยาบาล
  • กรณียาหยอดตาขณะหยอดตาห้ามใส่คอนแทคเลนส์

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมนีโอสปอริน) ยาแผนโบราณทุกชนิด  สมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เอง

นีโอสปอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากนีโอสปอรินเป็นรูปแบบของยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบเห็นการเกิดปฏิกิริยาของนีโอสปอรินกับยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษานีโอสปอรินอย่างไร?

ควรเก็บรักษานีโอสปอริน เช่น

  • ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • หากมีการเปลี่ยนสภาพของยาไปจากเดิม เช่น  สีเปลี่ยน กลิ่นเปลี่ยน, ให้หยุดใช้ยา และทิ้งทำลาย

นีโอสปอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าของยานีโอสปอริน และบริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย
 Medpride Triple Antibiotic Ointment (เมดไพรด์ ทริเปิล แอนไทไบโอติก ออยท์เมน) Shield line LLC
Globe Triple Antibiotic Ointment (โกลบ ทริเปิล แอนไทไบโอติก ออยท์เมน) Trifecta pharmaceuticals

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.wikidoc.org/index.php/Neosporin  [2023, April1]
  2. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?setid=a3e6fe2e-1b74-4f22-9c7c-a00057439690&type=display [2023, April1]
  3. https://www.neosporin.com/products  [2023, April1]
  4. https://www.drugs.com/mtm/neosporin-topical.html  [2023, April1]
  5. https://www.drugs.com/mtm/neosporin-ophthalmic.html  [2023, April1]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560603/  [2023, April1]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Polymyxin_B#Mechanism_of_action  [2023, April1]
  8. https://go.drugbank.com/drugs/DB00781  [2023, April1]
  9. https://go.drugbank.com/drugs/DB00626  [2023, April1]
  10. https://th.iherb.com/pr/neosporin-original-triple-antibiotic-ointment-1-oz-28-3-g/85032?gclid=CjwKCAjwq-WgBhBMEiwAzKSH6DItOXVLjJDzLquJeH3iB1rUiqeJSkPVbO8NPRCK0K4OPrUhJusYYRoC07sQAvD_BwE&gclsrc=aw.ds  [2023, April1]
  11. https://th.iherb.com/pr/neosporin-pain-itch-scar-ointment-1-0-oz-28-3-g/68195?gclid=CjwKCAjwq-WgBhBMEiwAzKSH6CuDOwrAB0OuB3OtcuIofXdcE2wkzCX8e-1jOUPep8aU3HfBJLZicxoCAbYQAvD_BwE&gclsrc=aw.ds  [2023, April1]
  12. https://th.iherb.com/pr/neosporin-pain-relief-cream-1-oz-28-3-g/85031?gclid=CjwKCAjwq-WgBhBMEiwAzKSH6Ib3S5dTmFiQ3iM2FnjTy3a82_GHQjJWJhNRB_wfje1vbbQvWjufwRoCoZkQAvD_BwE&gclsrc=aw.ds  [2023, April1]
  13. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682429.html  [2023, April1]
  14. https://labeling.pfizer.com/ShowLabeling.aspx?format=PDF&id=704  [2023, April1]
  15. https://en.wikipedia.org/wiki/Gramicidin [2023,April1]
  16. https://india-pharma.gsk.com/media/6392/neosporin-ointment.pdf  [2023, April1]
  17. https://th.ninelife.com/products/perrigo-triple-antibiotic-ointment-1-oz-pack-of-2-by-perrigo?gclid=CjwKCAjwq-WgBhBMEiwAzKSH6IVgoRtnZDl8aCPIcfW8h6w7HTx_AwcnzSwETs_jdA3gjku3mWy_4hoCfawQAvD_BwE  [2023, April1]
  18. https://www.ubuy.co.th/en/product/2Y04OFM-medpride-triple-antibiotic-ointment-1-oz-4-pack-24-hour-first-aid-ointment-for-minor-wounds-scratches-abrasions-preventative-ointment-with-zinc-neomyc  [2023, April1]
  19. https://www.amazon.com/Triple-Antibiotic-Ointment-Compare-Neosporin/dp/B01IUBR2BU  [2023, April1]