ทาดาลาฟิล (Tadalafil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ทาดาลาฟิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ทาดาลาฟิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทาดาลาฟิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทาดาลาฟิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทาดาลาฟิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทาดาลาฟิลอย่างไร?
- ทาดาลาฟิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทาดาลาฟิลอย่างไร?
- ทาดาลาฟิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) หรือ กลีเซอริลไตรไนเตรท (Glyceryl trinitrate)
- ยาไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
บทนำ: คือยาอะไร?
ทาดาลาฟิล (Tadalafil) คือ ยาในกลุ่ม Phosphodiesterase type 5 inhibitor (PDE 5 inhibitor, ยาต้านเอนไซม์ PDE 5 ซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีผลเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด) ทางคลินิกนำมาบำบัดรักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม (นกเขาไม่ขัน) ภายใต้ชื่อยาการค้า “Cialis” นอกจากนี้ยังนำไปรักษาภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดภายในปอดโดยใช้ชื่อยาการค้า “Adcirca”
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทานมีหลายขนาดความแรง หลังจากมีการใช้ยารักษาอาการข้างต้นเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาอาการต่อมลูกหมากโต ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย
ยังมีข้อห้ามบางประการที่ควรทราบเกี่ยวกับยาทาดาลาฟิลคือ ไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่รักษาอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ยาในกลุ่ม Nitrate (เช่น Nitroglycerin Isosorbide dinitrate, และ Isosorbide mononitrate) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
ก่อนการสั่งจ่ายยานี้แพทย์อาจจะสอบถามข้อมูลสุขภาพ ประวัติการใช้ยา หรือประวัติแพ้ยาเช่น
- มีอาการแพ้ยาทาดาลาฟิลหรือไม่
- มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วง 90 วันที่ผ่านมาหรือไม่
- มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตต่ำหรือโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่
- มีภาวะของโรคเลือดหรือไม่ เช่น โรคซีดจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia), โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia), หรือมีภาวะเลือดออกง่าย,
- เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือไม่
- หากเป็นเพศชาย อาจได้รับคำถามว่ามีภาวะอวัยวะเพศผิดปกติหรือไม่
อนึ่ง: ยาทาดาลาฟิลสามารถลดการไหลเวียนโลหิตที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นประสาทตาจนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นแบบเฉียบพลันได้
ทั่วไป แพทย์จะให้รับประทานยาทาดาลาฟิลวันละ1ครั้ง หลังจากยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 94% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 17.5 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยเช่น มีกรดในกระเพาะอาหารมาก แสบร้อนกลางอก และอาหารไม่ย่อย เป็นต้น
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาทาดาลาฟิลเป็นยาอันตรายซึ่งมีทั้งข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนการใช้ยานี้
ทาดาลาฟิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาทาดาลาฟิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาภาวะสมรรถนะทางเพศเสื่อมในเพศชาย (นกเขาไม่ขัน)
- บำบัดอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง
- รักษาอาการต่อมลูกหมากโต
ทาดาลาฟิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทาดาลาฟิลมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้
ก. กลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาสมรรถนะทางเพศชาย: ยาทาดาลาฟิลจะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของสาร cGMP (Cyclic guanosine monophosphate, สารที่เกี่ยวข้องกับการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ) ในเนื้อเยื่อ Corpus cavernosum (เนื้อเยื่อชนิดหนึ่งของอวัยวะเพศชายที่ทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว) ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อนี้คลายตัวจึงเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเข้าไปในอวัยวะเพศชายซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ดีขึ้น
ข. กลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาความดันหลอดเลือดปอดสูง: ยาทาดาลาฟิลจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Phosphodiesterase type 5 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่คอยทำลายสาร cGMP ส่งผลให้ปริมาณ cGMP ที่อยู่ในปอดเพิ่มขึ้น cGMP จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดคลายตัวและขยายกว้างจึงทำให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกมากขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง
ค. กลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาต่อมลูกหมากโต: จากกลไกที่ช่วยเพิ่มปริมาณของสาร cGMP ซึ่งพบในกล้ามเนื้อเรียบรอบๆต่อมลูกหมาก ทำให้กล้ามเนื้อเรียบดังกล่าวคลายตัวจึงส่งผลให้ความดันในต่อมลูกหมากลดลง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ทาดาลาฟิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทาดาลาฟิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
ทาดาลาฟิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ก. ยาทาดาลาฟิลมีขนาดรับประทาน เช่น
- สำหรับรักษาสมรรถนะทางเพศเสื่อม:
- ผู้ใหญ่เฉพาะเพศชาย: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาได้แก่ 5 -20 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
ข. สำหรับรักษาความดันหลดเลือดปอดสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
ค. สำหรับรักษาอาการต่อมลูกหมากโต:
- ผู้ใหญ่เฉพาะเพศชาย: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โรคต่างๆที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้เป็นโรคของผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทาดาลาฟิล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทาดาลาฟิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทาดาลาฟิลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
ทาดาลาฟิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทาดาลาฟิลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น
- มีกรดมากในกระเพาะอาหาร
- แสบร้อนกลางอก
- อาหารไม่ย่อย
- ปวดท้อง
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย: เช่น
- ปวดแขน ปวดหลัง และปวดกราม
- ตาพร่า
- เจ็บหน้าอก อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- หนาวสั่นแต่มีเหงื่อออก
- รู้สึกสับสน
- วิงเวียน
- เป็นลม
- ปวดหัว
- หูดับ
- คลื่นไส้อาเจียน
- กระสับกระส่าย
ค. อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยพบเห็น: เช่น ปวดขณะหลั่งอสุจิ
มีข้อควรระวังการใช้ทาดาลาฟิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาดาลาฟิล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาทาดาลาฟิลร่วมกับยาที่เป็นกลุ่ม Nitrate ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวไม่เกิน 90 วันที่ผ่านมา, ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ หรือโรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตาพร่ามัวมองไม่ค่อยเห็น
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีสภาพอวัยวะเพศ (ของชาย) ผิดรูปร่าง
- ไม่มีข้อแนะนำให้ใช้ยานี้กับเพศหญิงในการรักษาเรื่องสมรรถภาพทางเพศและเรื่อง ต่อมลูกหมากโต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาดาลาฟิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทาดาลาฟิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทาดาลาฟิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาทาดาลาฟิลร่วมกับยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blocker) เช่น Doxazosin หรือ ยากลุ่ม Nitrate เช่น Isosorbide mononitrate และ Isosorbide dinitrate ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
- การใช้ยาทาดาลาฟิล ร่วมกับยา Saquinavir (ยาต้านไวรัส), Erythromycin และ Clarithro mycin อาจทำให้ระดับยาทาดาลาฟิลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาทาดาลาฟิล ร่วมกับยา Phenobarbital อาจทำให้ระดับยาทาดาลาฟิลในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาทาดาลาฟิล ร่วมกับยา Miconazole อาจทำให้ระดับยาทาดาลาฟิลในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาทาดาลาฟิลอย่างไร?
ควรเก็บยาทาดาลาฟิล:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทาดาลาฟิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทาดาลาฟิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cialis (เซียลิส) | Eli-Lilly |
ERECTALIS (อีเรคทาลิส) | Cipla |
FORZEST (ฟอร์เซส) Ranbaxy | Ranbaxy |
MEGALIS (เมกาลิส) | Macleods |
ONEAID (วันเอด) | BMW |
MILDFIL (ไมด์ฟิล) | Fourrts |
POPUP (ป็อปอัฟ) | AHPL |
PULMOPRES (พูลโมเพลส) | Cipla |
TADACIP (ทาดาซิป) | Cipla |
TAGIL (ทากิล) | Asclepius |
TAZZLE (ทาเซิล) | Dr. Reddy's |
TD-PILL (ทีดี-พิล) | Delvin |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cialis/?type=full [2022,April9]
- https://www.drugs.com/tadalafil.html [2022,April9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tadalafil [2022,April9]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tadalafil-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April9]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/tadalafil-oral-route/proper-use/drg-20067204 [2022,April9]
- https://www.mims.com/India/drug/search/?q=tadanafil&page=0 [2022,April9]
- https://phassociation.org/patients/treatments/tadalafil/ [2022,April9]
- https://www.medscape.org/viewarticle/752471 [2022,April9]
- https://www.europeanurology.com/article/S0302-2838(12)01029-9/fulltext [2022,April9]