14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 3

ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2561 มูลค่าทุนจดทะเบียนของธุรกิจฟิตเน็ส (Fitness business) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท อัตราเพิ่มขึ้นถึง 30% ตัวเลขการลงทุน (Capital investment) ที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจฟิตเน็สอดคล้องกับสถิติการเพิ่มขึ้นของธุรกิจจัดตั้งใหม่ (Newly-established)

สถิติที่เพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนวิถีใช้ชีวิต (Life style) ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การจัดตั้งธุรกิจมักเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น การจัดตั้งและขยายสาขาตามแนวรถไฟฟ้า แต่ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจส่วนมากเพิ่มขึ้นในรายเล็ก

ในปี พ.ศ. 2562 ธุรกิจฟิตเน็สที่ดำเนินกิจการอยู่ มี 816 ราย ด้วยมูลค่าทุนจำนวน 8,350.66 ล้านบาท ธุรกิจส่วนมากดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 719 ราย คิดเป็น 88.11% ของจำนวนรายทั้งหมด โดยมีมูลค่าทุน 8,180.03 ล้านบาท คิดเป็น 97.96% ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยธุรกิจที่มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสูงถึง 83.09% ของจำนวนมูลค่าทุนทั้งหมด

การเพิ่มทุนของธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2561 มีความผันผวน (Fluctuation) อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2558 มีนิติบุคคลจำนวน 2 ราย ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีการเพิ่มทุนจำนวน 356 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2560 มีนิติบุคคลจำนวน 1 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพิ่มทุนเป็นมูลค่า 485 ล้านบาท

การเพิ่มทุนของนิติบุคคลมักอยู่ในเมืองใหญ่และในพื้นที่ที่มีการกระจุกตัว (Concentration) ของประชากร การจัดตั้งธุรกิจฟิตเน็สในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวน 70 ราย เพิ่มขึ้น 12 ราย คิดเป็นอัตราเพิ่ม 20.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2561 โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2561 มีจำนวนการจัดตั้งเฉลี่ยอยู่ที่ 150 ราย

ธุรกิจฟิตเน็สส่วนมากตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 340 ราย คิดเป็น 41.67 % ของจำนวนรายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคใต้ จำนวน 174 ราย คิดเป็น 21.32% ของจำนวนรายทั้งหมด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ธุรกิจมีกระจุกตัวอยู่แถวเขตวัฒนา จำนวน 46 ราย และเขตปทุมวัน จำนวน 24 ราย เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ตัวเมืองชั้นใน

ในภูมิภาค (Region) พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ ในจังหวัดใหญ่ เช่น ภูเก็ต จำนวน 82 ราย, ชลบุรี จำนวน 54 ราย, และเชียงใหม่ จำนวน 37 ราย ใน 3 จังหวัด ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่น, มีกำลังซื้อสูง, และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการคมนาคม (ที่รองรับสนับสนุนการใช้บริการของกลุ่มผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว)

ชาวต่างชาติในนิติบุคคลไทย มีการลงทุนในธุรกิจฟิตเน็ส 1,194.96 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.35% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในธุรกิจนี้ โดยมูลค่าการลงทุนในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 27.90% โดยสัญชาติที่ลงทุนในธุรกิจนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ จำนวน 602.43 ล้านบาท คิดเป็น 7.21% ของการลงทุนทั้งหมด, เนเธอแลนด์ จำนวน 250.00 ล้านบาท คิดเป็น 2.99% ของการลงทุนทั้งหมด, และสิงคโปร์ จำนวน 48.83 ล้านบาท คิดเป็น 0.58% ของการลงทุนทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวโน้ม (Trend) การลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจนี้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการร่วมทุนและการนำยี่ห้อ (Brand) ฟิตเน็สต่างชาติ มาเปิดสาขาในไทย โดยเฉพาะ ฟิตเน็สชื่อดัง (Brand) ที่ติดตลาดอยู่ในขณะนี้ [เช่น Fitness First สัญชาติอังกฤษ ที่เป็นเจ้าตลาด (Market leader) อยู่ในขณะนี้] ส่วนมากเกิดจากการลงทุนหรือร่วมทุนกับชาวต่างชาติ

แหล่งข้อมูล

  1. http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1475/3/03%20.pdf [2023, April 7].
  2. https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2562/T26/T26_pdf [2023, April 14].