14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 2

ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส

ศูนย์ฟิตเน็ส (Fitness center) ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 ขนาด กล่าวคือ ขนาดใหญ่, ขนาดกลาง, ขนาดเล็ก, และ ศูนย์ฟิตเน็สเฉพาะองคกร์ ส่วนการออกกำลังกายทั่วไป แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

  1. การออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว
  2. การออกกำลังกายแบบมีการยืด-หดของกล้ามเนื้อ
  3. การออกกำลังกายแบบทำให้กล้ามเนื้อ ทำงานเป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดการเคลื่อนไหว
  4. การออกกำลังกายแบบไม่ต้องใช้ออกซิเจน ในระหว่างการเคลื่อนไหว และ
  5. การออกกำลังกายแบบต้องใช้ออกซิเจน ในระหว่างการเคลื่อนไหว

ในศูนย์ฟิตเน็ส จัดให้มีบริการออกกำลังกายเพียง 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 2, 3, และ 5 ศูนย์ฟิตเน็สทั่วไป มักแบ่งพื้นที่ในการให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่เปิด (Open section) สำหรับใช้ในการวางอุปกรณ์ให้บริการ และพื้นที่ปิด (Closed section)เป็นห้องเพื่อออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน

กลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing strategy) ของศูนย์ฟิตเน็ส ในประเทศไทยที่ใช้ในการแข่งขัน ได้แก่สิ่งที่นักการตลาดเรียกว่า 4 Ps กล่าวคือ

  1. กลยุทธ์ทางด้านผลิตภัณฑ์ (Product) หรือบริการ โดยทุกแห่ง จะมีผลิตภัณฑ์พื้นฐานในการให้บริการเหมือนกัน กล่าวคือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า พร้อมล้อคเกอร์, อุปกรณ์ในการออกกำลังกาย, เล่นโยคะ (Yoga), เต้นแอโรบิค (Aerobic) และเต้นจังหวะประกอบเพลง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน (Differentiation) คือ ห้องสันทนาการ (Club house), ห้องอบไอน้ำ (Stream) หรือห้องอบความร้อน (Sauna), และส่วนปั่นจักรยาน (Bicycling)
  2. กลยุทธ์ทางด้านราคา (Pricing) นิยมกำหนดราคาแบบเหมาจ่าย (Package) โดยที่ราคาเฉลี่ยตกปีละ 18,275 บาท
  3. กลยุทธ์ทางด้านทำเลที่ตั้ง (Place) นิยมตั้งในอาคารสำนักงาน (Office), ห้างสรรพสินค้า (Department), และศูนย์การค้า (Shopping mall)
  4. กลยุทธ์ด้านส่งเสริมการขาย (Promotion) มีทีมพนักงานขายสมาชิก และทุกแห่งมีผู้ฝึกสอนส่วนตัวที่อาจให้บริการฟรี แต่บางแห่งมีการขายเป็นบริการเสริม ราคาเฉลี่ยตกชั่วโมงละ 875 บาท

ในศูนย์ฟิตเน็สบางแห่ง ผู้ให้บริการมีการกำหนดค่าบริการสมาชิกด้วยรายการ (Program) ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีการคิดค่าบริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น ซื้อเป็นหลักสูตร (Course) ผ่านซอฟต์แวร์ประยุกต์บนโทรศัพท์มือถือ (Mobile application) และสามารถใช้บริการได้หลายสถานที่ (เฉพาะศูนย์ที่มีหลายสาขา) เป็นต้น

จากสถิติการจัดงานวิ่งแข่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประเภทวิ่งทนระยะไกล (Marathon) หรือประเภทวิ่งระยะสั้นเพื่อความสนุกสนาน (Fun run) ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ๆ กำลังเป็นที่นิยม (Popular) และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า ในปัจจุบัน คนหันมาให้ความสำคัญต่อการออกกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจฟิตเน็สที่แสดงแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน

แหล่งข้อมูล

  1. http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1475/3/03%20.pdf [2023, April 7].
  2. https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2562/T26/T26_pdf[2023, April 7].