14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 1

ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส

ปัจจุบันคนให้ความสนใจการออกกำลังกาย (Physical activity) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของสถานออกกำลังกาย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท กล่าวคือ สโมสรกีฬา, ศูนย์กีฬา, ฟิตเน็สเซ็นเตอร์ (Fitness center), และศูนย์บริการเฉพาะบางกีฬา ในจำนวนนี้ สถานออกกำลังกายที่เติบโตเร็วที่สุด คือ ฟิตเน็สเซ็นเตอร์ จนวิวัฒนามาเป็นธุรกิจมากขึ้น

การจัดตั้งธุรกิจฟิตเน็ส (Fitness) มีแนวโน้มเติบโต (Growth trend) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ถึง ปี พ.ศ. 2561 และในปี พ.ศ. 2562 มีการขยายตัวของจำนวนการจัดธุรกิจตั้งใหม่ (Newly-established) อยู่ที่ 20.69% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน

รายได้รวม (Gross revenue) ของกลุ่มธุรกิจนี้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะประสบผลขาดทุนในปี พ.ศ. 2558 แต่ยังคงมีจำนวนธุรกิจตั้งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งโอกาสจากพฤติกรรม (Behavior) ของผู้ใช้บริการก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จนสามารถฟื้นฟู (Turn-around) ผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฟิตเน็สยังต้องมีการลงทุนครั้งแรก (Capital investment) ค่อนข้างสูง ในสินทรัพย์ถาวร (Fixed assets) เช่น การปรับปรุงอาคาร (Facility renovation) และเครื่องมืออุปกรณ์ (Equipment) ที่ช่วยในการออกกำลังกาย จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวควบคู่ไปด้วย

ธุรกิจฟิตเน็สเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มของการรักสุขภาพ (Health consciousness) ของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ที่หันมาใส่ใจสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารคลีน, และการพักผ่อนให้เพียงพอ โดยธุรกิจฟิตเน็ส มีการปรับตัวให้เข้ากับความนิยม (Popularity) ของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการให้ตอบสนองความต้องการของตลาด

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระแสการดูแลสุขภาพ (Health fever) ทำให้มีการตั้งธุรกิจฟิตเน็ส และสถานออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการให้บริการฟิตเน็สในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง, สถานฟิตเน็สมีขนาดเล็กตาม 4 มุมเมือง, และการมีผู้ฝึกสอนส่วนตัว (Personal Trainer) ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการเฉพาะด้าน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรพื้นที่ส่วนออกกำลังกายเฉพาะด้าน (Studio) เช่น การปั่นจักรยานในร่ม, การเล่นโยคะ, และการยกน้ำหนักเพื่อเพาะกล้าม หรือเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ (Gymnasium) ซึ่งมีอุปกรณ์ของฟิตเน็ส ที่ทันสมัยและครบครัน เช่น เวทีมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย, ลู่วิ่งสายพานนับสิบๆ เครื่อง, และอุปกรณ์เครื่องเล่นนับสิบๆ ชิ้น เช่นกัน

จากสถิติธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนธุรกิจฟิตเน็ส ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬา มีแนวโน้มการเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจฟิตเน็ส เพราะชุดกีฬานอกจากจะใส่เพื่อความสะดวกในการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นสมัยนิยม (Fashion) ของคนที่มีวิถีใช้ชีวิตของนักกีฬา (Sports style)

ปัจจุบัน มีการพัฒนาอุปกรณ์ของฟิตเน็ส ที่มีความทันสมัยและมีความหลากหลายมากขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ (Muscle building), อุปกรณ์ช่วยในการเผาผลาญ (Burn) ไขมัน, อุปกรณ์ลดพุงหรือหน้าท้อง ล้วนตอบ โจทย์ความนิยมชมชอบการรักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งข้อมูล

  1. http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1475/3/03%20.pdf [2023, March 31].
  2. https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2562/T26/T26_pdf,  [2023, March 31].