ซินโชเคน (Cinchocaine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซินโชเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซินโชเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซินโชเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซินโชเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ซินโชเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซินโชเคนอย่างไร?
- ซินโชเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซินโชเคนอย่างไร?
- ซินโชเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)
- ยาริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids medications)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซินโชเคน (Cinchocaine) หรือไดบูเคน (Dibucaine) คือ ยาชาเฉพาะที่กลุ่มเอไมด์(Amide local anesthetics) ที่มีการออกฤทธิ์นานและถูกจำกัดการใช้ในการฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะถูกออกแบบให้เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาเหน็บทวาร และยาฉีด โดยตัวยาจะช่วยบรรเทาอาการปวด หากใช้กับบริเวณอวัยวะที่เป็นหูรูดจะทำให้หูรูดคลายตัว รวมถึงยับยั้งการหลั่งเมือกหรือสารคัดหลั่งตามเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับยานี้/ยาชานี้ การสัมผัสกับยานี้ในปริมาณมากและบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดการดูดซึมของยานี้เข้าสู่ร่างกายซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมาก โดยจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ อาจมีอาการชักจนถึงขั้นเกิดอาการโคม่า ดังนั้นแพทย์จะมีคำสั่งของการใช้ยานี้อย่างระมัดระวังและเข้มงวด ยานี้ถือเป็นข้อห้ามใช้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และผู้สูงอายุถึงแม้จะเป็นการทาภายนอกก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางคลินิกของการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรอย่างชัดเจน แต่การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายเพียงบางสูตรตำรับตามร้านขายยาเช่น ยาเหน็บทวาร เป็นต้น
ซินโชเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างสรรพคุณ/ข่อบ่งใช้ของยาซินโซเคนเฉพาะในรูปแบบยาที่ใช้บ่อย เช่น
- กรณียาครีม-ยาขี้ผึ้งที่ใช้ทาเฉพาะที่: ใช้ทาบรรเทาอาการปวดรวมถึงอาการอักเสบและผื่นคันของริดสีดวงทวารทั้งชนิดภายนอกและภายใน
- กรณีรูปแบบยาเหน็บทวาร: ใช้เหน็บบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร
- กรณีรูปแบบยาลูกอม: ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ /คออักเสบ
ซินโชเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซินโชเคนคือ ตัวยาจะป้องกันและลดการนำของกระแสประสาท พร้อมกับลดการซึมผ่านของเกลือโซเดียมในเซลล์ประสาทในบริเวณที่มีการใช้ยานี้ ด้วยกลไกนี้จึงทำให้เกิดอาการชาและการบรรเทาอาการปวด อาการคัน-ระคายเคืองได้ในที่สุด
ซินโชเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซินโชเคนในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาครีมทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก ขนาดความเข้มข้น 1%
- ยาขี้ผึ้งทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 1%
- ยาขี้ผึ้งทาภายนอกที่ผสมร่วมกับยาสเตียรอยด์เช่น Hydrocortisone 5 มิลลิกรัม + Cinchocaine HCl 5 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาเหน็บทวารที่ผสมร่วมกับยาสเตียรอยด์เช่น Hydrocortisone 5 มิลลิกรัม + Cinchocaine HCl 5 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาลูกอมบรรเทาอาการเจ็บคอขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด
ซินโชเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซินโชเคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
ก. สำหรับใช้เป็นยาชาเฉพาะที่: เช่น
- ผู้ใหญ่: ทาบริเวณที่มีอาการปวดโดยใช้ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้น 1% ความถี่ของการใช้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับใช้เหน็บทวารบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร: เช่น
- ผู้ใหญ่: เหน็บยาครั้งละ 1 แท่งเช้า - เย็น ระยะของการใช้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
ค. สำหรับยาลูกอมบรรเทาอาการเจ็บคอ: เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง: ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในเรื่องผลข้างเคียงจากยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซินโชเคน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซินโชเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ซินโชเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซินโชเคนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- กระสับกระส่าย
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- วิงเวียน
- หูดับ
- ตาพร่า
- คลื่นไส้อาเจียน
- กล้ามเนื้อกระตุก
- มีอาการตัวสั่น
- ภาวะลมชัก
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นช้า
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจหยุดเต้น
มีข้อควรระวังการใช้ซินโชเคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซินโชเคน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ระวังการใช้ยานี้ในบริเวณที่ผิวหนังบาดเจ็บหรือฉีกขาดด้วยตัวยาจะเกิดการดูดซึมเข้าสู่ กระแสเลือดได้มากขึ้นส่งผลให้มีอาการข้างเคียงตามมา
- ระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจและระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีภาวะทางตับทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยยาอาจกระตุ้นให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซินโชเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซินโชเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาซินโคเคนที่เป็นยาใช้ภายนอกกับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาซินโชเคนอย่างไร?
ควรเก็บยาซินโชเคน:
- ชนิดยาทา, ยาลูกอม: เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- กรณียาเหน็บทวาร: ให้เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
- ยาทุกรูปแบบ:
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซินโชเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซินโชเคน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dibucaine (ไดบูเคน) | CVS |
Proctosedyl (พรอกโตซีดิล) | sanofi-aventis |
Nupercainal (นูเปอเคนอล) | Famar S.A. |
Nupercaine (นูเปอเคน) | CIBA |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cinchocaine#Medical_use [2022,March12]
- https://www.mims.com/India/drug/info/ /?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,March12]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00527 [2022,March12]
- https://imedi.co.uk/nupercainal-ointment [2022,March12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cinchocaine?mtype=generic [2022,March12]
- https://www.mims.com/hongkong/drug/info/cinchocaine?mtype=generic [2022,March12]
- https://www.mims.com/India/drug/info/cinchocaine/ [2022,March12]
- https://lookfordiagnosis.com/mesh_info.php?term=dibucaine&lang=1 [2022,March12]
- https://imedi.co.uk/nupercainal-ointment [2022,March12]