ซัลฟิซ็อกซาโซน (Sulfisoxazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟิซ็อกซาโซนอย่างไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซัลฟิซ็อกซาโซนอย่างไร?
- ซัลฟิซ็อกซาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ซัลฟา (Sulfa drugs) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)
- กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)
- แผลริมอ่อน (Chancroid)
- ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Transplant rejection)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซัลฟิซ็อกซาโซน (Sulfisoxazole) คือ ยาปฏิชีวนะ กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ซึ่งนำมาใช้รักษาได้หลายโรคที่มีสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เยื่อตาอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน กรวยไตอักเสบ โรคท็อกโซพลาสโมสิส, ฝีมะม่วง/แผลริมอ่อน โดยมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน
ซัลฟิซ็อกซาโซนเป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้างในการต่อต้านและฆ่าเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ, มีฤทธิ์ของการรักษาในระยะสั้น, ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตรวมถึงการเจริญแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรีย, ซึ่งอีกชื่อของยานี้คือ ‘ซัลฟาฟูราโซล (Sulfafurazole)’
มีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน หรือควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน หรือแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์มาก่อน
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดา
- มีปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น โรคเลือด เช่น โลหิตจาง, หรือป่วยเป็นโรคไตระยะรุนแรง, หรือมีภาวะอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ
- มีการใช้ยาต้านทานการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนหรือไม่ ด้วยหากใช้ร่วมกับยาซัลฟิซ็อกซาโซน อาจทำให้เกิดภาวะตกเลือด หรือมีเลือดออกง่ายมากขึ้น
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซัลฟิซ็อกซาโซนเป็นยารับประทาน ด้วยเป็นยาที่ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร, หลังจากยาซัลฟิซ็อกซาโซนเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 85 – 90%, และยังสามารถซึมผ่านเข้าน้ำไขสันหลัง(ซีเอสเอฟ/CSF), รก, และน้ำนมของมารดาได้, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 – 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
เมื่อได้รับประทานยาซัลฟิซ็อกซาโซน ผู้ป่วยควรต้องดื่มน้ำตามในปริมาณมากกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อช่วยในการกระจายตัวและช่วยป้องกันการตกตะกอนของยาในไต, ผู้ป่วยจะรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้, สิ่งสำคัญ การใช้ยานี้ต้องให้ครบคอร์ส (Course) ของการรักษา กล่าวคือ หากใช้ยาไปแล้ว 1 – 2 วันอาการเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาต่อจนครบตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา, กรณีใช้ยาแล้วมีอาการวิงเวียน แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย, หรือหลังการใช้ยานี้แล้ว *พบอาการแพ้ยาเกิดขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ ฉุกเฉิน
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ไม่สามารถรักษาอาการโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส, และการใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือบ่อยถี่เกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเชื้อโรคดื้อยา
ขณะที่ใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะผิวแพ้แสงแดด ได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง, บางกรณียังพบอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังใช้ยานี้ และห้ามมิให้ผู้ป่วยรักษาภาวะท้องเสียด้วยตนเองโดยไม่มีการปรึกษากับแพทย์
การใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซนกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่เราสามารถสังเกตได้จากอาการ หนาวสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ปวดหัว เหงื่อออกมาก หิวอาหารมากขึ้น กระสับกระส่าย หมดแรง วิงเวียน ง่วงนอน และอาจเป็นลม
ยาซัลฟิซ็อกซาโซนจะไม่นำมาใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน ด้วยจะทำให้เด็กเกิดภาวะตัวเหลือง – ตาเหลือง หรือที่เราเรียกกันว่า ดีซ่าน
สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้โดยทั่วไปหลังจากรับประทานยาซัลฟิซ็อกซาโซน เช่น วิงเวียน ง่วงนอน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ผิวแพ้แสงแดด และอาเจียน เป็นต้น
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน สามารถใช้รักษาอาการป่วยได้หลายอาการโรคก็จริง แต่จะมีขนาดรับประทานและระยะเวลาของการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป, เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้บริโภค การใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซนจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: รักษาอาการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของอวัยวะตามร่างกาย เช่น
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- เยื่อตาอักเสบ
- โรคริดสีดวงตา
- มาลาเรีย/ ไข้จับสั่น
- โรคโนคาร์ดิโอซิส (Nocardiosis, การติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล Nocardia)
- หูชั้นกลางอักเสบ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- กรวยไตอักเสบ
- โรคท็อกโซพลาสโมสิส
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบฃ
- ฝีมะม่วงหรือแผลริมอ่อน
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซัลฟิซ็อกซาโซน คือตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid,กรดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพันธุกรรม DNA และ RNA) ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ และตายลงในที่สุด
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาซัลฟิซ็อกซาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน มีขนาดรับประทานแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับ ชนิดอาการ, ความรุนแรงของโรค, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา,ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคท็อกโซพลาสโมสิส: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาซัลฟิซ็อกซาโซน ครั้งละ 2 กรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง, ร่วมกับการใช้ ยาอีก 2 รายการ คือ
- รับประทานยา Pyrimethamine 75 มิลลิกรัม 1 ครั้ง, จากนั้นให้รับประทานต่อเนื่องในขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- รับประทานยา Folinic acid 3 – 9 มิลลิกรัม 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยยานี้มีวัตถุประสงค์ป้องกันการเกิดพิษต่อไขกระดูก
*อนึ่ง: การรักษาโรคนี้ ควรใช้เวลาระยะ 2–4 เดือน โดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, จากนั้นให้รับประทานยาขนาด 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 4 – 6 ครั้, โดยใช้ร่วมกับยา Pyrimethamine ตามคำสั่งแพทย์, ขนาดรับประทานสูงสุดของยาซัลฟิซ็อกซาโซน คือ 6 กรัม/วัน
ข. สำหรับการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง, เป็นเวลา 21 วัน, โดยใช้ร่วมกับยา Ceftriaxone ตามคำสั่งแพทย์
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทาน ทุกๆ 6 ชั่วโมง, และใช้ร่วมกับยา Ceftriaxone ตามคำสั่งแพทย์
*อนึ่ง:
- เด็กอายุต่ำกว่า 2เดือนลงมา: ทางคลินิก ยานี้ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีตัวเหลืองตาเหลืองได้ แพทย์จึงมักหลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กกลุ่มวัยนี้
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลฟิซ็อกซาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟิซ็อกซาโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซัลฟิซ็อกซาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซัลฟิซ็อกซาโซน ตรงเวลา
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังไวหรือเกิดผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย ผิวแตก หรือเกิดโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ถึงต่ำรุนแรง, เกล็ดเลือดต่ำ สารที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดต่ำ (เช่น Hypoprothrombinemia, Hypofibrinogenemia), ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด, รวมถึงอาการโรคซีดชนิดต่างๆ
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น เกิดภาวะ ตับอักเสบ ดีซ่าน เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานตับเพิ่มมากขึ้น
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น ค่าการทำงานของไตในเลือด(ครีอะตินีน/Creatinine)เพิ่มสูงขึ้น ไตวายเฉียบพลัน ปัสสาวะไม่ออก/ไม่มีปัสสาวะ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดยานี้ตกตะกอนในปัสสาวะ มีเลือดปนมาในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ หลอดเลือดแดง-หลอดเลือดดำอักเสบ(หลอดเลือดอักเสบ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ต่อมน้ำลายโตมากขึ้น
- ผลต่อการทำงานของระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปลายประสาทอักเสบ(โรคเส้นประสาท) นอนไม่หลับ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจเกิดอาการชัก ง่วงนอน ได้ยินเสียงไม่ชัด ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อาจเกิดภาวะ ประสาทหลอน ซึมเศร้า วิตกกังวล ขาดความกระตือรือร้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ
- ผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะคอพอก มีน้ำตาลในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟิซ็อกซาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ควรต้องได้รับคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ให้ครบคอร์ส ถึงแม้จะอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ดื่มน้ำเป็นปริมาณมากกว่าปกติ เมื่อรับประทานยานี้
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมซัลฟิซ็อกซาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซัลฟิซ็อกซาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin, Dicumarol, อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะเลือดออกง่าย โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเหล่านี้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต, เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ร่วมกับยา Methotrexate จะทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการสีผิวซีดจาง เลือดออกง่าย อ่อนแรง ช่องปากเป็นแผล คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระมีสีคล้ำเหมือนมีเลือดปน ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- ห้ามใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ร่วมกับยา Methenamine ด้วยจะก่อให้เกิดการตกตะกอนของยาซัลฟิซ็อกซาโซนในปัสสาวะ
- การใช้ยาซัลฟิซ็อกซาโซน ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา Cyclosporine อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่, อีกทั้งยังทำให้ไตได้รับอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมา, กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาซัลฟิซ็อกซาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาซัลฟิซ็อกซาโซน: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น หรือในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซัลฟิซ็อกซาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซัลฟิซ็อกซาโซน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gantrisin (แกนไทรซิน) | Roche Laboratories |
Pyrizole (ไพริโซล) | BJ Benjaosoth |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfafurazole [2022,Dec17]
- https://www.drugs.com/cons/sulfisoxazole.html [2022,Dec17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/sulfafurazole?mtype=generic [2022,Dec17]
- https://www.mims.com/India/drug/info/sulfafurazole/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,Dec17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/sulfisoxazole-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Dec17]