ซัลฟาเมไทอะโซล (Sulfamethiazole)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ซัลฟาเมไทอะโซล (Sulfamethiazole) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา (Sulfa drug),ทางคลินิกใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ, รูปแบบยาเป็นยารับประทาน,  ยานี้มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและลบ, และอีกชื่อของยานี้ คือ ‘ซัลฟาเมไทโซล (Sulfamethizole)’,   

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ มีทั้งลักษณะของยาเดี่ยว หรือเป็นยาผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Trimethoprim,  การรับประทานยานี้ควรต้องดื่มน้ำเป็นปริมาณมากกว่าปกติ  แพทย์อาจกำหนดให้ผู้ป่วยดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร/วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตกตะกอนของยาในไตและในกระเพาะปัสสาวะ 

เมื่อตัวยาซัลฟาเมไทอะโซลถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด, ตัวยาจะกระจายไปตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างมากมาย,  และสามารถตรวจพบยานี้ได้ใน เยื่อหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้อง ตามไขข้อ น้ำตา น้ำไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (CSF) 

ยาซัลฟาเมไทอะโซลมีสรรพคุณในการรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น  

มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล เช่น  

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะ โรคตับ โรคไต ที่ทำงานผิดปกติในระดับรุนแรง ห้ามใช้ยานี้รวมถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคเลือดชนิดต่างๆ  และโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี  
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยบางกลุ่มด้วยยาจะส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายอย่างมาก เช่น เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือแม้แต่การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ควรต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมแต่เพียงผู้เดียว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่มควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคเอดส์  ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซมจีซิกพีดี (G6PD),  ด้วยการใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซลสามารถทำให้อาการของโรคประจำตัวกำเริบ หรือมีระดับรุนแรงมากขึ้น

ยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่เหมือนกับยาทั่วๆไป เช่น  มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  ท้องเสีย เป็นต้น   

นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยานี้ ยังควรต้องเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเพราะยาทำให้เกิดภาวะผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย   

*อย่างไรก็ตาม หากพบอาการแพ้ยาซัลฟาเมไทอะโซล หรือเกิดภาวะ Stevens-Johnson syndromes หลังใช้ยานี้, *ควรหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

สำหรับประเทศไทยอาจพบเห็นการใช้ยานี้ได้น้อย  อาจมาจากเหตุผลว่ามียาทางเลือกอื่นที่ประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่า  เราอาจพบเห็นการใช้ซัลฟาเมไทอะโซลในประเทศเพื่อนบ้าน  เช่น อินเดีย ด้วยการตอบสนองของโรคและมีความต้องการจากประชากรอีกเป็นจำนวนมาก

ซัลฟาเมไทอะโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาซัลฟาเมไทอะโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อ

  • รักษาอาการ/โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ซัลฟาเมไทอะโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาซัลฟาเมไทอะโซลเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในระยะสั้นๆ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวแบคทีเรียที่เรียกว่า ‘Dihydropteroate synthetase’                               (เอนไซม์ช่วยสังเคราะห์สารบางชนิดที่จำเป็นต่อการมีชีวิตของแบคทีเรีย) รวมถึงยับยั้งสารชีวโมเลกุลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย เช่น กรดโฟลิก,  จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตจนขาดคุณสมบัติของการแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

ซัลฟาเมไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟาเมไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม / เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Trimethoprim 160 มิลลิกรัม + Sulfamethiazole 800 มิลลิกรัม / เม็ด

ซัลฟาเมไทอะโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซัลฟาเมไทอะโซล มีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 – 4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 – 4 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป: รับประทาน 30 – 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

  *อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ในขณะที่ท้องว่าง
  • ผู้ป่วยโรคตับ แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานลง

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลฟาเมไทอะโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น               

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาซัลฟาเมไทอะโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                     
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร  เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซัลฟาเมไทอะโซล  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

 อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซัลฟาเมไทอะโซล ตรงเวลา

ซัลฟาเมไทอะโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลฟาเมไทอะโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  ท้องเสีย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ  มีภาวะตับโต  เกิดภาวะดีซ่าน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย:เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟาเมไทอะโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล: เช่น           

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์/กลุ่มซัลฟา
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง       
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด  ผู้ป่วยโรคเอดส์  ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD)
  • ระวังการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกที่ส่งผลให้เกิดภาวะซีดเฉียบพลัน และอาการ Stevens-Johnson syndrome
  • การรับประทานยานี้ควรให้ครบคอร์ส(Course)ของการรักษา โดยรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการแพ้ยา หรือมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน       
  • *หากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยานี้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลฟาเมไทอะโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซัลฟาเมไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟาเมไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล ร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่น ยา Barbiturates, Tolbutamide, และ Uricosurics (ยาลดกรดยูริคในเลือด), อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่มดังกล่าวได้มากขึ้น  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยา Warfarin จะทำให้การทำงานของยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีฤทธิ์นานขึ้น  หากจำเป็นต้องใช้ยา ร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป 
  • การใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล ร่วมกับยา Cyclosporine อาจก่อให้เกิดอาการพิษกับไตของผู้ป่วย  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน       
  • หลีกเลี่ยงใช้ยาซัลฟาเมไทอะโซล ร่วมกับกลุ่มยา Thiazide  ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาซัลฟาเมไทอะโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาซัลฟาเมไทอะโซล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์  
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซัลฟาเมไทอะโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟาเมไทอะโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
OKATRIM-DS (โอคาทริม-ดีเอส) Cipla
SULPHAMETHIZOLE (WARNER) (ซัลฟาเมไทโซล (วอร์เนอร์) Warner

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.druglib.com/activeingredient/sulfamethizole/   [2022,Dec10]
  2. https://www.mims.com/India/drug/info/sulfamethizole/  [2022,Dec10]
  3. https://www.mims.com/India/drug/info/sulfamethizole/?type=full&mtype=generic#Dosage  [2022,Dec10]
  4. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/sulfamethizole?mtype=generic  [2022,Dec10]
  5. https://go.drugbank.com/drugs/DB00576   [2022,Dec10]