มะเร็งคอหอย โรคมะเร็งคอหอยส่วนกล่องเสียง (Hypopharyngeal cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งคอหอยมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งคอหอยเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งคอหอยมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคอหอยได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งคอหอยมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งคอหอยรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งคอหอยอย่างไร?
- โรคมะเร็งคอหอยรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคอหอยไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งคอหอยอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0 cancer)
บทนำ
มะเร็งคอหอย(Hypopharyngeal cancer) หรืออีกชื่อคือ มะเร็งคอหอยส่วนกล่องเสียง(Laryngopharyngeal cancer) ได้แก่ โรคที่เกิดจากการกลายพันธ์ของเซลล์เนื้อเยื่อคอหอยตำแหน่งใดก็ได้ ส่งผลให้เซลล์นั้นมีการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วเกินปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนั้นได้ จึงเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามทำลายและอุดตันคอหอย ลุกลามทำลาย เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงคอหอย ต่อมน้ำเหลืองลำคอ และในที่สุดแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายนอกลำคอ เช่นที่ รักแร้ ช่องอก หรือขาหนีบ และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสเลือด/โลหิตเข้าทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด และกระดูก
อนึ่ง คำว่า ‘คอหอย (Pharynx)’ ทั่วไปหมายถึง คอหอยส่วนกล่องเสียง (Hypophyrynx) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อกลุ่มหนึ่งในลำคอส่วนที่อยู่ด้านข้างทั้งซ้าย ขวา และด้านหลังของกล่องเสียง จึงเรียกได้ชื่ออีกชื่อว่า ‘คอหอยส่วนกล่องเสียง (Laryngopharynx)’ เป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วย เยื่อเมือก/ เยื่อบุผิว, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้เยื่อเมือก, กล้ามเนื้อ, เส้นประสาท, หลอดเลือด, และระบบน้ำเหลือง มีหน้าที่ช่วยในการกลืนอาหาร ดื่มน้ำ การออกเสียง และการหายใจ ทั้งนี้นอกจากกล่องเสียงแล้ว อวัยวะที่อยู่ติดต่อกับคอหอยส่วนกล่องเสียงตอนล่าง คือ หลอดอาหาร
คอหอยส่วนกล่องเสียง ซึ่งต่อไปขอเรียกว่า “คอหอย” ประกอบด้วยกลุ่มเนื้อเยื่อ 3 กลุ่มหลักที่สามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ทุกส่วน/ทุกกลุ่ม คือ
- เนื้อเยื่อมีลักษณะเป็นโพรงอยู่ด้านข้างกล่องเสียง (Pyriform sinus) ซึ่งมีทั้งโพรงด้านซ้ายและโพรงด้านขวาของกล่องเสียง เป็นตำแหน่งที่พบเกิดมะเร็งได้บ่อย ซึ่งมะเร็งคอหอยเกือบทั้งหมดเกิดในตำแหน่งนี้ โดยเมื่อเกิดเป็นมะเร็งจะเรียกว่า ‘Pyriform sinus cancer หรือ Pyriform carcinoma’
- เนื้อเยื่ออยู่ติดด้านหลังของกล่องเสียง (Postcricoid area) พบเกิดมะเร็งได้น้อย ซึ่งเมื่อเกิดเป็นมะเร็งจะเรียกว่า ‘Postcricoid cancer หรือ Postcricoid carcinoma’ และ
- เนื้อเยื่อด้านหลังของโพรงคอหอย (Posterior pharyngeal wall) พบเกิดเป็นมะเร็งได้น้อย ซึ่งเมื่อเกิดเป็นมะเร็งจะเรียกว่า ‘Posterior pharyngeal wall cancer หรือ Posterior pharyngeal wall carcinoma’
โรคมะเร็งคอหอย (Hypopharyngeal cancer หรือ Hypopharyngeal carcinoma) เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป (สามารถพบได้ในอายุต่ำกว่านี้) ผู้หญิงพบได้น้อยกว่าผู้ชาย 3-5 เท่า
ในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2553-2555 รายงานในปีพ.ศ.2558 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.1 คนต่อประชากรหญิง 100,000 คน และพบในผู้ชาย 1.5 คนต่อประชากรชาย 100,000 คน
โรคมะเร็งคอหอยมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งคอหอยมีหลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และกลุ่ม มะเร็งซาร์โคมา แต่ที่พบบ่อยเกือบทั้งหมด คือ ชนิดคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งของเยื่อเมือก แต่มะเร็งของเยื่อเมือกเอง ยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลากหลายชนิดเช่นกัน
- โดย 90-95% จะเป็นชนิด ‘สะความัส (Squamous cell carcinoma)’
- ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งคอหอย จะหมายถึง โรคมะเร็งชนิดสะความัส ทั้งนี้รวมทั้งใน บทความนี้ ด้วย
โรคมะเร็งคอหอยเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งคอหอย แต่ทราบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- *ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ คือ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อทั้งสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยมีการศึกษาพบ ว่า เมื่อสูบบุหรี่วันละตั้งแต่ 2 ซองขึ้นไปร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันละ 3-4 แก้วขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงจะสูงถึง 35 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา
- อาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลให้เซลล์ของผู้ป่วยไวต่อ สารก่อมะเร็งต่างๆสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งปัจจัยนี้พบได้น้อย
- อาจจากขาดสารอาหารบางชนิด เพราะมีบางการศึกษา พบโรคได้สูงขึ้นในกลุ่มคนที่ขาดการกินผัก และผลไม้
- จากคอหอยติดเชื้อไวรัส ชื่อ เอชพีวี(HPV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ก่อมะเร็งได้กับหลายอวัยวะ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก แต่ยกเว้น มะเร็งกล่องเสียง ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี)
โรคมะเร็งคอหอยมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งคอหอย แต่จะเป็นอาการเหมือนจากมีการอักเสบเรื้อรังของลำคอจากสาเหตุทั่วไป
โดยอาการที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งคอหอย ได้แก่
- เจ็บคอเรื้อรัง หรือคล้ายมีก้างติดคอเรื้อรัง
- อาจกลืนอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำแล้วเจ็บ หรือรู้สึกติด กลืนไม่คล่อง บางครั้งเจ็บเข้าไปถึงหู ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการเรื้อรัง
- อาจมีน้ำลาย หรือ เสมหะเป็นเลือด ซึ่งเป็นเลือดที่ออกจากแผลมะเร็ง
- มีกลิ่นปากจากแผลมะเร็ง เน่า ติดเชื้อ
- เมื่อโรคลุกลามเข้ากล่องเสียง อาจส่งผลให้มีเสียงแหบ และ/หรือมีก้อนเนื้อโตจนปิดทางเดินหายใจ ส่งผลให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อึดอัด/ หายใจไม่ออก
- เมื่อโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ ต่อมน้ำเหลืองลำคอจะโตคลำได้ อาจเพียงต่อมเดียว หลายต่อม หรือทั้งสองข้างของลำคอ
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคอหอยได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคอหอยได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจลำคอ การคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ
- การตรวจภายในช่องปากและลำคอด้วยการตรวจทางหูคอจมูก
- การตรวจภาพลำคอด้วย เอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ การส่องกล้องตรวจลำคอ/คอหอย/กล่องเสียง และตัดชิ้นเนื้อจากก้อน/แผลมะเร็ง/รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งคอหอยแล้ว จะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค และสุขภาพผู้ป่วย เช่น
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเลือดดูค่า น้ำตาลในเลือด (โรคเบาหวาน) ดูการทำงานของ ตับ ไต และค่าเกลือแร่ (Electrolyte)
- การตรวจภาพลำคอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูการลุกลามของโรค ถ้ายังไม่ได้ตรวจในช่วงวินิจฉัยโรค
- การตรวจเอกซเรย์ปอด ดูโรคของปอด/โรคปอดและโรคของหัวใจ/โรคหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
- อาจมีการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ การตรวจภาพกระดูกทั้งตัวที่เรียกว่า การสะแกนกระดูก (Bone scan) ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
โรคมะเร็งคอหอยมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งคอหอยมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และแต่ละระยะยังอาจแบ่งย่อยได้อีก ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ ช่วยเลือกวิธีรักษา, บอกการพยากรณ์โรค, และในการศึกษาวิจัย, ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก คือ
- ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 ซม. และ/หรือลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อที่เกิดโรค
- ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 4 ซม. และ/หรือลุกลามเข้ากล่องเสียง แต่ยังลุกลามไม่มาก
- ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4 ซม. และ/หรือลุกลามเข้ากล่องเสียงมาก และ/หรือเข้าหลอดอาหาร และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรค 1 ต่อม โดยต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
- ระยะที่ 4: แบ่งเป็น3ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A: ก้อนมะเร็งลุกลามมาก เข้าถึง กระดูก ต่อมไทรอยด์ และ/หรือหลอดเลือดแดงของลำคอ, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อม โดยต่อมมีขนาดโตกว่า 3 ซม. และ/หรือเข้าหลายต่อม หรือทั้ง 2 ข้างของลำคอ และ/หรือเข้าต่อมด้านตรงข้ามลำคอ ทั้งนี้แต่ละต่อมต้องโตไม่เกิน6ซม.
- ระยะ4B: ต่อมน้ำเหลืองลำคอโตมากกว่า 6ซม. และ/หรือ
- ระยะ4C: โรคแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองต่างๆนอกลำคอ เช่นที่ รักแร้ ช่องอก ขาหนีบ, และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือด ไปทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมัก เข้าสู่ ปอด กระดูก และตับ
อนึ่ง: มะเร็งระยะศูนย์(Stage 0) หรือ Carcinoma in situ (CIS): คือ มะเร็งระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่รุกราน(Preinvasive)/ลุกลามออกนอกเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว(Epithelium) โรคระยะนี้ไม่มีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง หรือต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต เป็นระยะที่พบได้น้อยมากๆ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ และวินิจฉัยได้จากการตรวจชิ้นเนื้อด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาเท่านั้น เป็นระยะที่รักษาได้ผลดีมาก อัตรารอดที่ห้าปี มักสูงกว่า 90-95% และทั่วไป มักยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง
โรคมะเร็งคอหอยรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งคอหอย คือ การรักษาด้วยวิธีการหลักของโรคมะเร็งทั้ง 3 วิธี คือ
- ผ่าตัด
- รังสีรักษา และ
- ยาเคมีบำบัด
- ส่วนยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษาทางการแพทย์ แต่มียาบางตัวได้นำมาใช้ทางคลินิกแล้ว เช่นยา Cetuximab แต่ ราคายายังแพงมากๆ
อนึ่ง ตัวอย่างการรักษา เช่น
ก. ในระยะที่โรคยังผ่าตัดได้ การรักษา เช่น
- อาจผ่าตัดก่อน แล้วจึงพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสี/รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
- หรือฉายรังสีรักษาโดยอาจร่วมกับยาเคมีบำบัดก่อน แล้วจึงพิจารณาการผ่าตัด
ทั้งนี้ จะเลือกวิธีใด อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งการผ่าตัดอาจต้องเป็นการตัดกล่องเสียงร่วมด้วย ถ้าโรคลุก ลามเข้ากล่องเสียงแล้ว
ข. ในโรคระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ การรักษา คือ การฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด แต่ถ้าสุขภาพไม่อำนวย การรักษา คือ การฉายรังสีเพียงวิธีการเดียว
ค. ส่วนโรคในระยะแพร่กระจาย แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ขึ้นกับ อาการ อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
นอกจากนั้น คือ การฝึกพูดโดยนักแก้ไขการพูดในกรณีที่มีการผ่าตัดกล่องเสียงด้วย ซึ่งความสำเร็จในการฝึกพูดขึ้นกับความร่วมมือและความอดทนของผู้ป่วยในการฝึก และครอบครัวผู้ป่วยที่จะคอยช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งคอหอยอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งคอหอย ขึ้นกับวิธีรักษา ทั้งนี้ผล ข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- ในผู้ที่สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- และในผู้สูงอายุ
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจเกิดในวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่
- การผ่าตัด : เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อโดยเฉพาะอาจต้องผ่าตัดกล่องเสียงออกด้วย (พูดไม่ได้ตลอดไป และต้องมีรูเปิดของท่อลมออกสู่ด้านหน้าของลำคอ แต่สามารถฝึกพูดได้) การเสียเลือด และ/หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ
- รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
- ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด มีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
- ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบมุ่งเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้
โรคมะเร็งคอหอยรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งคอหอยเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง/การพยากรณ์โรคไม่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้ความรุนแรงโรค ขึ้นกับ ระยะโรค, อายุ, และสุขภาพของผู้ป่วย โดยอัตรารอดที่ห้าปีของโรคมะเร็งคอหอยภายหลังการรักษา ได้แก่
- ในระยะที่ 1 ประมาณ 50%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 40%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 30%
- ระยะที่ 4
- เมื่อยังไม่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต(ระยะ4A) ประมาณ 0-20%
- เมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว(ระยะ4B) ประมาณ 0-5%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคอหอยไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคอหอยให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือเมื่อมีอาการเจ็บคอ หรือมีเสลด/น้ำลายเป็นเลือดดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’ นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งคอหอยอย่างไร?
ปัจจุบันการป้องกันโรคมะเร็งคอหอยที่ดีที่สุด คือ
- การไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกทั้งบุหรี่ และแอลกอฮอล์ เมื่อเสพอยู่
- ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งคอหอย จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น หายใจลำบากมากขึ้น ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด
- ท่อช่วยการหายใจ หรือ ท่อให้อาหารทางจมูกหรือทางช่องท้อง หลุด
- มีไข้ โดยเฉพาะเกิดร่วมกับท้องเสีย
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
- กังวลในอาการ
นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
- การดูแลตนเองการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual, 8th edition
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
- Heck,J. et al. (2008).Dietary risk factors for hypopharyngeal cancer in India. Cancer Causes Control.19,1392-1337.
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://www.cancer.org/cancer/laryngeal-and-hypopharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Feb16]
- https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/patient/adult/hypopharyngeal-treatment-pdq [2019,Feb16]