คลีมิโซล (Clemizole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- คลีมิโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คลีมิโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คลีมิโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คลีมิโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คลีมิโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คลีมิโซลอย่างไร?
- คลีมิโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคลีมิโซลอย่างไร?
- คลีมิโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- วิธีใช้ยาเหน็บทวารหนัก (How to use anal suppository)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ฮิสตามีน (Histamine)
บทนำ: คือยาอะไร?
คลีมิโซล (Clemizole) คือ ยาต้านสารฮิสตามีน (Histamine) ที่ออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ H1 receptor (Histamine 1 receptor) ได้มีการศึกษาทางคลินิกและพบว่ายาคลีมิโซลมีฤทธิ์ยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมในโรคไวรัสตับอักเสบซี แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนในด้านประสิทธิผลของการนำยานี้มาใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี นอกจากนี้ยังมีการวิจัยประโยชน์ด้านอื่นอีก เช่น ใช้เป็นยารักษาโรคลมชัก
ยาคลีมิโซล เป็นยาต้านฮิสตามีนที่มีฤทธิ์สงบประสาทและทำให้รู้สึกง่วงนอนเหมือนกับสารต้านฮิสตามีนตัวอื่นๆ ถูกนำมาใช้ระงับอาการผื่นคันทางผิวหนัง และอาจมีบางสูตรยาที่นำยาคลีมิโซลมาผสมร่วมกับยาอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาอาทิ ผสมในยาโรคหวัดชนิดรับประทาน หรือผสมกับยาเหน็บทวาร
ประเทศไทยยังไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้ อาจเป็นเพราะยาต้านฮิสตามีนในประเทศไทย มีให้เลือกหลายรายการ และสามารถทำการตลาดได้มากกว่ายาคลีมิโซลก็เป็นได้
คลีมิโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาคลีมิโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่นคัน
คลีมิโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคลีมิโซลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า H1receptor (Histamine 1 receptor) และออกฤทธิ์ต่อต้าน-แข่งขันกับสารฮิสตามีน (Histamine) จนเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
คลีมิโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคลีมิโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Paracetamol + Phenylephrine + Clemizole
- ยาเหน็บทวารที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Fluocortolone/ยาสเตียรอยด์ + Cinchocaine/ยาชาเฉพาะที่ + Clemizole
คลีมิโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
แนะนำให้ใช้ยาคลีมิโซลตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาด้วยยาคลีมิโซลมักเป็นยาผสมร่วมกับยาอื่น ไม่ค่อยพบในรูปแบบยาเดี่ยว การใช้ยานี้จึงขึ้นกับอาการป่วย, สูตรตำรับยาที่ถูกออกแบบมา, และ ดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลีมิโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลีมิโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา/ใช้ยาคลีมิโซลตรงเวลา หากลืมรับประทาน/ใช้ยาคลีมิโซลสามารถรับประทาน/ใช้ยาคลีมิโซลเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาคลีมิโซลในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ใช้ยาคลีมิโซลเป็น 2 เท่า
คลีมิโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคลีมิโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- ง่วงนอน
- มีฤทธิ์สงบประสาท/คลายเครียด
- ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการแพ้ยาได้
มีข้อควรระวังการใช้คลีมิโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคลีมิโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลีมิโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คลีมิโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาคลีมิโซลมักจะอยู่ในรูปที่เป็นตำรับยาร่วมกับยาอื่นทั้งยาใช้ภายนอกและยาชนิดรับประ ทานและเป็นยาที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ ปัจจุบันจึงมีข้อมูลด้านปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นน้อยมาก
ควรเก็บรักษาคลีมิโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาคลีมิโซล:
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คลีมิโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคลีมิโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apracur (อะปราคัว) | Serch |
Ultraproct (อัลตร้าพร็อก) | Schering |
Ultralan (อัลตร้าแลน) | Schering |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clemizole [2022,Feb19]
- https://academic.oup.com/jid/article/202/1/65/889843?login=true [2022,Feb19]
- https://www.nature.com/articles/ncomms3410 [2022,Feb19]
- https://www.biovision.com/clemizole.html [2022,Feb19]
- https://www.apexbt.com/clemizole.html [2022,Feb19]
- https://www.pharphar.com/v/Clemizole%20Hydrochloride [2022,Feb19]
- https://www.pharphar.com/v/Clemizole%20Hydrochloride#mS14775-k [2022,Feb19]
- https://www.pharphar.com/v/Ultraproct_9 [2022,Feb19]