คลาวูลาเนท (Clavulanate) หรือ กรดคลาวูลานิก (Clavulanic acid)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

คลาวูลาเนท (Calvulanate) หรือ กรดคลาวูลานิก (Clavulanic acid) คือ ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Beta-lactamase ตัวยาคลาวูลาเนทเองก็มีต้นกำเนิดมาจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptomyces clavuligerus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวก (Gram-positive bacterium) ยานี้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1974 - 1975 (พ.ศ. 2517 - 2518)

ทางคลินิก หากใช้ยาคลาวูลาเนทเป็นยาเดี่ยวจะไม่สามารถแสดงฤทธิ์ในฐานะยาปฏิชีวนะได้อย่างเต็มที่ นอกจากต้องใช้ยาคลาวูลาเนทร่วมกับกลุ่มยาเพนิซิลลิน ซึ่งทำให้ได้ตำรับยาที่สามารถต่อต้านแบคทีเรียที่เคยดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลินได้เป็นอย่างดี เช่น ยา Amoxicillin + Clavulanic acid หรือจะเป็นสูตรตำรับยา Ticarcillin + Clavulanic acid

ยาคลาวูลาเนท สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูก ลำเลียงไปที่ตับและเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมี ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเป็น อย่างต่ำในการขับยาคลาวูลาเนทออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ การใช้ยาคลาวูลาเนทในสูตรตำรับที่มีกลุ่มยาเพนิซิลลินร่วมด้วยนั้นยังอาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ จึงมีข้อตกลงของกลุ่มคณะกรรมการความปลอดภัยในการใช้ยาของอังกฤษแนะนำให้ใช้ยาคลาวูลาเนท ร่วมกับ อะม็อกซีซิลลิน เพื่อการรักษาได้ไม่เกิน 14 วัน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายก็มีโอกาสที่จะแพ้ยาคลาวูลาเนทได้เหมือนกับตัวยาชนิดอื่นเช่นกัน

คณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยา Potassium clavulanate อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นในประเทศไทยจะเป็นยาเม็ดและยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทานโดยผสมร่วมกับยา Amoxicillin และมีหลายวัตถุประสงค์ของการใช้ เช่น

  • ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่สงสัยว่าเกิดจากเชื้อ influenzae/Haemophilus influenzae และ/หรือเชื้อ M.catarrhalis/Moraxella catarrhalis ที่ดื้อต่อยา Ampicillin
  • ใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ผสมระหว่างแบคทีเรียชนิด Aerobes และ Anaerobes
  • ใช้แทนยา Co-trimoxazole ในการรักษาโรคเมลิออย/ โรคเมลิออยโดสิส กรณีผู้ป่วยแพ้ยา Co-trimoxazole

อนึ่ง ด้วยสูตรตำรับยาที่มีคลาวูลาเนทเป็นองค์ประกอบนั้นมีขนาดความแรงหลายแบบ และมีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยในแต่ละช่วงอายุที่แตกต่างกัน หรือการใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่มต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เช่น ใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะพบว่าตัวยาในสูตรตำรับสามารถผ่านไปกับน้ำนมของมารดาและเข้าสู่ทารกได้, หรือการใช้ยากับกลุ่มสตรีที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการป้องกันการตั้งครรภ์ 

ดังนั้น การใช้ยาคลาวูลาเนทไม่ว่าจะในสูตรตำรับใดๆ ก็ตามควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคยังสามารถสอบถามข้อมูลของยาคลาวูลาเนทได้จากเภสัชกรในสถานพยาบาลหรือเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

คลาวูลาเนทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คลาวูลาเนท-01

 

สูตรตำรับของยาคลาวูลาเนทที่ผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น  เช่น Amoxicillin มีสรรพคุณรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย  เช่นในโรค

  • ไซนัสอักเสบ
  • ปอดบวม
  • หูติดเชื้อ
  • หลอดลมอักเสบ
  • โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ผิวหนังติดเชื้อ

คลาวูลาเนทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาคลาวูลาเนท คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ในตัวแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Beta-lactamase ซึ่งมักจะถูกหลั่งมาจากแบคทีเรียที่สามารถต้านทานฤทธิ์ของยากลุ่มเพนิซิลลิน  จากกลไกดังกล่าวจะทำให้แบคทีเรียที่เคยดื้อยากลุ่มเพนิซิลลินหมดสภาพในการดื้อยาฯ, หยุดการเจริญเติบโต, และตายลงในที่สุด

คลาวูลาเนทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลาวูลาเนทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Amoxicillin: เช่น
    • Amoxycillin trihydrate 500 มิลลิกรัม + Potassium clavulanate 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด
    • Amoxycillin trihydrate 875 มิลลิกรัม + Potassium clavulanate 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดผง (ต้องผสมน้ำก่อนรับประทาน) ที่ผสมร่วมกับ Amoxicillin: เช่น
    • Amoxycillin trihydrate 200 มิลลิกรัม + Potassium clavulanate 28.5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร 
    • Amoxycillin trihydrate 400 มิลลิกรัม + Potassium clavulanate 57 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร

คลาวูลาเนทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาคลาวูลาเนท จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์  โดยอาศัยปัจจัยต่างๆที่ต้องนำมาประกอบกัน  เช่น ผู้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใด, อายุของผู้ป่วย, ระยะเวลาที่เหมาะสมของการรับประทาน, รวมถึงประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย, ดังนั้นขนาดยานี้จึงแตกต่างกันในแต่ละกรณีไป จึงขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลาวูลาเนท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลาวูลาเนทอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลาวูลาเนท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้  ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคลาวูลาเนทตรงเวลา

คลาวูลาเนทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลาวูลาเนทที่ผสมร่วมกับยา Amoxicillin สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง):  เช่น  

  • ผื่นคันที่ผิวหนัง
  • คันบริเวณช่องคลอด
  • ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง
  • อาจพบอาการไข้
  • อาจเกิดอาการลมชัก
  • บวมตามขาและเท้า
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดท้อง
  • อาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก
  • ท้องอืด
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
  • หนาวสั่น
  • ไอ
  • อาจมีเสียงแหบ
  • ท้องเสียแบบถ่ายเหลวเป็นน้ำ
  • วิงเวียน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ตัวบวม
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • กระหายน้ำบ่อย
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ตัวเย็น
  • คลื่นไส้อาเจียน

อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงหลายอย่างสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องอาศัยยาอื่นมาช่วยเหลือ ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวและทำให้อาการข้างเคียงเหล่านั้นดีขึ้นตามลำดับ *แต่หากอาการดังกล่าวรุนแรงหรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดหรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

*อนึ่ง: ลักษณะอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น  ปวดท้อง ปัสสาวะขุ่น ท้องเสีย ปัสสาวะน้อยลง ง่วงนอน ซึ่งเป็นอาการที่ต้องรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้คลาวูลาเนทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลาวูลาเนท:  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้เอง โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบการติดเชื้อโรคชนิดอื่นในระหว่างการใช้ยา เช่น โรคเชื้อรา, แล้วนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบขอคำแนะนำจากแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร และรีบไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนขนาดรับประทาน หรือปรับเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นที่เหมาะ สมมากกว่า
  • *กรณีใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแต่อาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือทรุดลงมากกว่าเดิม ให้รีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้  "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลาวูลาเนทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลาวูลาเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลาวูลาเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • การใช้ยาคลาวูลาเนท ร่วมกับยา Methotrexate, Lomitapide, Leflu nomide, Naltrexone,  อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาคลาวูลาเนท ร่วมกับยา Balsalazide อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Balsalazide ด้อยลงไป  หากจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาคลาวูลาเนทอย่างไร?

ควรเก็บยาคลาวูลาเนท: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาผงชนิดน้ำเชื่อมที่ผสมน้ำแล้ว ต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คลาวูลาเนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลาวูลาเนทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
AMK (เอเอ็มเค) NCPC
Amoksiklav (อะม็อกซิคราฟ) Sandoz
Anbicyn (แอนไบซิน) China Chem & Pharma
Augclav (อ็อกคราฟ) Pharmahof
Augmentin (อ็อกเมนติน) GlaxoSmithKline
Biclav (ไบคราฟ) J Duncan
Cavumox (คาวูม็อก) Siam Bheasach
Clanoxy (คลาน็อกซี) Galpha
Coklav (โคคราฟ) Community Pharm PCL
Curam (คูแรม) Sandoz
Fleming (เฟลมมิ่ง) Berlin Pharm
Ind Clav-625 (อิน คราฟ-625) Indchemie
Manclamine (แมนคลามีน) T. Man Pharma
Moxiclav (ม็อกซิคราฟ) Medochemie
Ranclav (แรนคราฟ) Daiichi Sankyo

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Clavulanic_acid   [2022,Sept3]
  2. https://www.drugs.com/amoxicillin_clavulanate.html  [2022,Sept3]
  3. http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf  [2022,Sept3]
  4. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1922-6295/amoxicillin-potassium-clavulanate-oral/amoxicillin-clavulanic-acid-extended-release-oral/details  [2022,Sept3]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/amoxicillin-clavulanate-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Sept3]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amoxicillin%20+%20clavulanic%20acid?mtype=generic  [2022,Sept3]