คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คลอร์โปรมาซีนอย่างไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคลอร์โปรมาซีนอย่างไร?
- คลอร์โปรมาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists)
- โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ลมชัก (Epilepsy)
- การแพ้ยาแอสไพริน และ กลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome)
- อาการน้ำนมไหล (Galactorrhea)
- สะอึก (Hiccup)
บทนำ:คือยาอะไร?
คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine ย่อว่า CPZ) หรือชื่อการค้าอื่นเช่น Largactil, Thorazine คือ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มยาเซโรโทนินแอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตเวช ยานี้ถูกสังเคราะห์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และมีการใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ต่างๆอย่างมากมายซึ่งอยู่ในสมอง และทำให้เกิดผลของการรักษาตามมา
อาการข้างเคียงที่โดดเด่นของยานี้ได้แก่ ท้องผูก ง่วงนอน และความดันโลหิตต่ำ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาเหน็บทวาร และยาฉีด
หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90 -99% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 23 - 37 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาคลอร์โปรมาซีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ใช้กับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นเดียวกัน การเลือกใช้ยานี้ต้องมีข้อมูลบางประการนำมาประกอบก่อนการตัดสินใจใช้ยาเช่น
- เคยแพ้ยานี้หรือไม่
- มีโรคประจำตัวหรืออาการอื่นใดอีกบ้างหรือไม่เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคลมชัก อาการปัสสาวะขัด โรคหืด โรคปอด โรคต้อหิน โรคความจำเสื่อม/ การสูญเสียความทรงจำ โรคพาร์กินสัน การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย (Reye syndrome)
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีการใช้ยาอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาคลอร์โปรมาซีนหรือไม่ เช่นยาAmiodarone, Bretylium/ยาโรคหัวใจ, Astemizole, Cabergoline/ยาฮอร์โมนชนิดหนึ่ง, Cisapride, Dofetilide, Metoclopramide, Pergolide, Quinidine, Sotalol, Terfenadine, Tramadol
- ติดสุราเรื้อรังหรือไม่
ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการใช้ยานี้แพทย์แพทย์จะกำกับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเพื่อความเข้าใจและผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- ยาคลอร์โปรมาซีนอาจทำให้วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ระหว่างที่ใช้ยาไม่ควรขับขี่ยวด ยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ผู้ที่ใช้ยานี้ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนเพราะอาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูง เกินปกติ/โรคลมแดด (Heat stroke)
- ยานี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น จึงควรดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุอาจทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อของผู้ป่วยรวมถึงการเคลื่อนไหว ไม่ดีเหมือนเดิม
- ยานี้ส่งผลให้ร่างกายมีฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญ/ทำ งานของเต้านม) เพิ่มมากขึ้น จึงอาจเกิดภาวะเต้านมโตหรือมีน้ำนมติดตามมา(อาการน้ำนมไหล)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้
- ระหว่างใช้ยานี้แพทย์จะคอยตรวจเลือด ตรวจสอบการทำงานของตับ-ไตเป็นระยะๆ
- ยาคลอร์โปรมาซีนสามารถส่งผลต่อการตรวจเลือดตรวจหาค่าต่างๆได้ (เช่น ค่าน้ำตาล) ควรต้องสื่อสารและแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ายังมีการใช้ยานี้อยู่หรือไม่
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาของแพทย์ด้วยตนเอง
คลอร์โปรมาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคลอร์โปรมาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ระหว่างที่ได้รับการผ่าตัด
- เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียดอย่างอ่อนๆ
คลอร์โปรมาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคลอร์โปรมาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor)ที่อยู่ในสมองซึ่งถูกเรียกว่า Postsynaptic dopamine receptor จึงมีผลต่อสารสื่อประสาทต่างๆที่หลั่งออกมาจากสมองและส่งผลให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
คลอร์โปรมาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคลอร์โปรมาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Chlorpromazine HCl 25 มิลลิกรัม + Amobarbital/ยาทางจิตเวช 50 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูล ขนาด 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
คลอร์โปรมาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การใช้ยาคลอร์โปรมาซีนจะต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาที่จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดและความรุนแรงของอาการ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะอาการทางจิตเวช เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง สามารถรับประทานครั้งเดียว 75 มิลลิกรัมก่อนนอน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 200 มิลลิ กรัม/วัน
- เด็กที่อายุ 1 - 12 ปี: รับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอร์โปรมาซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอร์โปรมาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคลอร์โปรมาซีนตรงเวลาแต่หากลืมรับ ประทานยา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
คลอร์โปรมาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคลอร์โปรมาซีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- ท้องผูก
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ตัวสั่น
- ชัก
- ปากคอแห้ง
- รูม่านตาขยาย
- คลื่นไส้
*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง มีภาวะโคม่า มีอาการชัก มีไข้ ปากคอแห้ง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้คลอร์โปรมาซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอร์โปรมาซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกตัวยาได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะ ไขกระดูกทำงานผิดปกติ โรคซีด โรคตับ โรคไต หรือโรคเบาหวาน
- การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษารวมถึงยาคลอร์โปรมาซีน หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอร์โปรมาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คลอร์โปรมาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคลอร์โปรมาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้คลอร์โปรมาซีน ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs) มีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคลอร์โปรมาซีน ร่วมกับยา Propoxyphene จะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก ยาทั้ง 2 ตัวมากยิ่งขึ้นเช่น มีอาการง่วงนอน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และอาจเกิดอาการลมชัก เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคลอร์โปรมาซีน ร่วมกับยาบางกลุ่มอาจจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอันมาก ซึ่ง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น กลุ่มยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ กลุ่มยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด หากเป็นไปได้ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว หรือแพทย์ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาคลอร์โปรมาซีนร่ วมกับการดื่มสุราจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน เวียนศีรษะอย่างมากจึงห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
ควรเก็บรักษาคลอร์โปรมาซีนอย่างไร?
ควรเก็บยาคลอร์โปรมาซีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คลอร์โปรมาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคลอร์โปรมาซีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ama (เอมา) | Atlantic Lab |
Ammipam (แอมมิแพม) | MacroPhar |
Chlopazine (คลอปาซีน) | Condrugs |
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) | GPO |
Chlorpromed (คลอโพรเมด) | Medifive |
Matcine (แมทซีน) | Atlantic Lab |
Plegomazine (พลีโกมาซีน) | Chew Brothers |
Pogetol (โพจีทอล) | Cental Poly Trading |
Prozine (โพรซีน) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorpromazine [2022,Feb12]
- https://www.drugs.com/mtm/chlorpromazine.html [2022,Feb12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/chlorpromazine?mtype=generic [2022,Feb12]
- https://www.mims.com/Thailand/Drug/info/Chlorpromed/?type=brief [2022,Feb12]
- https://www.mims.com/India/drug/info/chlorpromazine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,Feb12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/chlorpromazine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Feb12]