กุ้งยิง (Sty)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กุ้งยิงคือโรคอะไร? เกิดได้อย่างไร?

กุ้งยิง (Sty หรือ Stye หรือ Hordeolum)คือ โรคจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมในหนังตาที่อยู่บริเวณโคนขนตา  มีลักษณะเหมือนฝีทั่วไปเพียงแต่พบบริเวณหนังตา มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ไปจนถึง 1 เซนติเมตร  ถ้าเป็นการอักเสบติดเชื้อของต่อม Zeis (Gland of Zeis, ต่อมสร้างสารที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน) หรือ ต่อมMoll (Gland of Moll, ต่อมเหงื่อ) มักจะขนาดไม่ใหญ่และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก(ด้านผิวหนัง) เรียกกันว่า ‘กุ้งยิงภายนอก (External hordeolum)’  แต่ถ้าเป็นการอักเสบของต่อม Meibomian (ต่อมสร้างน้ำมันชนิดพิเศษที่ช่วยลดการระเหยของน้ำตา จึงช่วยให้ดวงตาคงความชุ่มชื้นได้นาน) ขนาดอาจใหญ่กว่าและหัวฝีชี้เข้าด้านใน เรียกกันว่า ‘กุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum)’

ส่วนใหญ่ กุ้งยิงเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบเป็นปกติบริเวณหนังตาและใบหน้า มักเป็นแบคทีเรียในกลุ่มสแตฟ(Staphylococcus)มากที่สุด โดยการอักเสบ มักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่างๆจากต่อมต่างๆดังกล่าวที่บริเวณหนังตามีการอุดตัน ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมฯเป็นจำนวนมาก เกินกว่าภูมิต้านทานคุ้มกันของร่างกายจะดูแลกำจัดได้  จึงก่อให้เกิดอักเสบของต่อมฯดังกล่าว ตามมาด้วยมีการบวม  มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นฝี  เป็นก้อนนูน  ถ้าเป็นที่หนังตาบน หากหลับตาจะเห็นก้อนนูนชัดเจน

อาจมีอีกภาวะหนึ่งที่เกิดกับต่อมต่างๆของหนังตาเช่นกัน เป็นไตนูนแข็ง ขนาดพอๆกับกุ้งยิง เรียกว่า ‘ปรวดหนังตา (Chalazion)’ โดยเป็นการอักเสบที่ไม่มีเชื้อ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยอาจกลายจากกุ้งยิงมาเป็นไตแข็ง  หรือเกิดจากต่อมบริเวณหนังตาดังกล่าวอุดตัน ทำให้มีการอุดตันของสารที่หลั่งจากต่อมนั้นๆไม่มีทางไหลออกจึงเกิดเป็นไตแข็งโดยไม่มีการอักเสบติดเชื้อ ไม่เจ็บ เป็นเพียงมีก้อนนูนขึ้นมาเฉยๆ

กุ้งยิง เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งของหนังตา แต่ไม่มีสถิติการเกิดชัดเจน เป็นโรคพบได้ในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน พบในทุกอายุ ทั้งในเด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ทั้งนี้อาจเพราะสารที่สร้างจากต่อมต่างๆในผู้ใหญ่มักเข้มข้นกว่าในเด็กจากอิทธิพลของฮอร์โมน จึงก่อการอุดตันของท่อต่อมต่างๆได้ง่ายกว่า

กุ้งยิงพบเกิดได้กับหนังตาทั้งสองข้าง โอกาสเกิดในข้างซ้ายและในข้างขวา ใกล้เคียงกัน และเกิดได้กับทั้งหนังตาบนและหนังตาล่าง แต่มักพบเกิดกับหนังตาบนมากกว่า เพราะหนังตาบนมีจำนวนต่อมต่างๆมากกว่าในหนังตาล่าง

        

กุ้งยิงมีอาการอย่างไร?

กุ้งยิง

อาการของกุ้งยิงส่วนใหญ่ เริ่มจากมีอาการเคืองตาคล้ายมีผงอยู่ในตา  ตามด้วยน้ำตาไหล  บางรายอาจมีขี้ตาออกมากกว่าปกติ  ปวดตา  ตาแดง เจ็บบริเวณที่เป็น ตามด้วยมีก้อนนูนซึ่งถูกจะเจ็บ  บางคนก้อนนี้อาจแตกมีหนองไหลออกมา  หากเชื้อรุนแรงหรือภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ อาจก่อให้เกิดการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบก้อนและแผ่กว้างออกไป (Cellulitis)  ระยะนี้ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น  เด็กบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย 

 โดยทั่วไปอาการของกุ้งยิงไม่รุนแรง  ไม่ทำให้สายตามัวลง  ยกเว้นบางรายที่ก้อนใหญ่จนกดกระจกตาทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง  จึงทำให้สายตามัวลงไปบ้าง

แพทย์วินิจฉัยกุ้งยิงได้อย่างไร?

ตากุ้งยิงมักพบในวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุพบได้น้อยกว่า หากพบในผู้สูงอายุต้องตรวจเช็คร่างกาย อาจพบโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่างๆที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง

         นอกจากนั้น  กุ้งยิง มักพบในบุคคลที่มีการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกวา เช่น

  • ชอบขยี้ตา
  • ผู้ไม่ค่อยรักษาความสะอาดใบหน้า
  • ใช้เครื่องสำอางใบหน้าและดวงตา
  • ใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) ร่วมกับผู้อื่น
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมสกปรก
  • มีการอักเสบบริเวณหนังตาบ่อยๆ
  • มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า  
  • มีใบหน้ามัน   

การวินิจฉัยโรคกุ้งยิง:  ทำได้โดย

  • แพทย์ตรวจพบเป็นก้อนนูนที่หนังตา ร่วมกับ อาการเจ็บเวลากด และมีการอักเสบ(บวม แดง ร้อนรอบๆก้อน 
  • ตาอาจแดง
  • มีขี้ตาชัดเจน
  • ถ้าเป็นไตแข็งชนิด Chalazion จะเป็นเพียงก้อนนูน ไม่เจ็บ ตาไม่แดง เพียงแต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกรำคาญ หรือระคายเหมือนมีก้อนกลิ้งไปมาในตา
  • *โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องตรวจเพาะหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุกุ้งยิง เพราะโรคไม่ร้ายแรง อีกทั้งมักตอบสนองต่อการรักษาดี ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อชนิดอะไรก็ตาม

รักษากุ้งยิงอย่างไร?

แนวทางการรักษากุ้งยิง:   

  • หากเป็นอาการในระยะแรกๆ ยังไม่เป็นตุ่มนูนชัดเจน  เพียงแต่อักเสบแดงรอบๆ  อาการจะหายได้โดยการใช้ประคบอุ่น  นานประมาณ 15 นาที วันละ 3 – 4 ครั้ง และนวดเบาๆ ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับยาปฏิชีวนะรับประทานด้วย  ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  
  • หากพบมีการอักเสบของขอบหนังตาทั่วๆไป/เปลือกตาอักเสบ ร่วมด้วย ซึ่งจะสังเกตพบเป็นผงขุยบริเวณขอบตา ควรเช็ดทำความสะอาดขอบตาด้วยน้ำอุ่นสะอาด โดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา ประมาณวันละ 2 ครั้ง

อนึ่ง:

  • โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา บางคนอาจหายได้เองในเวลา 1 – 2 สัปดาห์  ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และ/หรือใช้ยาปฏิชีวนะ (การซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ)แล้วไม่ดีขึ้น  ควรพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการกรีดหนองออก 
  • หากเป็น Chalazion การใช้ยาปฏิชีวนะอาจไม่ช่วย  ต้องลงเอยด้วยการกรีดออก  หรือแพทย์บางท่านอาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปรอบๆก้อน

วิธีการกรีดกุ้งยิง ทำได้โดยใช้ยาชาชนิดหยอด 2 – 3 ครั้ง  ตามด้วยการฉีดยาชาประมาณ 0.5 ซีซี (c.c) บริเวณก้อน  กรีดด้วยมีดปลายแหลมยาวประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร หนองจะทะลักออก และก้อนจะยุบโดยไวภายใน 2 – 3 วัน (เป็นการรักษาโดยแพทย์  ไม่ควรรักษาตนเอง หรือให้ผู้ไม่ใช่แพทย์รักษาให้)

กุ้งยิงมีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม?

ตามที่กล่าวแล้วว่า บางคนเป็นกุ้งยิง หากร่างกายแข็งแรงร่วมกับการรักษาความสะอาดใบหน้าและหนังตา  โรคอาจหายได้เอง หรือใช้ยาปฏิชีวนะ ก็หายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ 

 *แต่ในบางราย อาจเป็นที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือเชื้อโรคมีจำนวนมาก  หรือไม่รักษาความสะอาด  ทำให้การอักเสบลุกลามไปทั่วหนังตา (Cellulitis) อาจลึกลงไปถึงเบ้าตา (เนื้อเยื่อรอบๆลูกตา) ก่อให้เกิดการอักเสบลามไปเป็นการอักเสบบริเวณเบ้าตา (Orbital cellulitis)  ซึ่งบางคนเป็นรุนแรงจนกระทั่งเชื้อโรคเข้ากระแสเลือด ( ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)  หรือเชื้อโรคอาจลุกลามไปยังด้านหลังลูกตา ลามไปถึงสมอง  ถึงระยะนี้ การอักเสบจะรุนแรงมาก จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดต่อไป

ในบางครั้งหากกุ้งยิงเป็นตุ่มหนองชัดเจน ไม่รับการกรีดออก  หนองอาจจะแตกเอง ทำให้เกิดแผลบริเวณขอบหนังตา และเกิดเป็นแผลเป็นในเวลาต่อมา (ในกรณีที่แพทย์กรีดโอกาสจะเป็นแผลเป็นน้อยมาก เพราะมีหลักวิธีการกรีดที่เลี่ยงมิให้เกิดแผลเป็นได้) 

หากเป็นกุ้งยิงซ้ำๆ ถูกกรีดบ่อยๆ จะก่อให้เกิดการทำลายต่อมต่างๆดังกล่าวไปมาก เมื่ออายุมากขึ้น อาจมีอาการตาแห้งได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปส่วนใหญ่  การพยากรณ์โรค/อาการของกุ้งยิงไม่รุนแรง รักษาได้หายเสมอภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์  ไม่ทำให้สายตามัวลง  ยกเว้นบางรายที่ก้อนใหญ่จนกดกระจกตาทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง  จึงทำให้สายตามัวลงไปบ้าง

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นกุ้งยิง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อเป็นกุ้งยิง คือ

  1. เมื่อพบว่าเป็นกุ้งยิง ควรเช็ดขอบตารอบๆกุ้งยิงให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นสะอาดวันละประมาณ 2 ครั้ง เช้า เย็น และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าเสมอ
  2. งดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา
  3. งดใช้คอนแทคเลนส์  
  4. ประคบอุ่นบริเวณที่เป็นกุ้งยิงวันละ 3 - 4 ครั้ง เพราะการประคบอุ่นทำให้มีหลอดเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นโรคมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้เชื้อโรค อีกทั้งความอุ่นอาจทำให้ไขมันที่อุดตันต่อม เปิดออก  ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง  อาการจะดีขึ้น
  5. ยังคงทำงานได้ตามปกติ หากเป็นงานที่ใช้สายตามาก ควรพักสายตาเป็นระยะๆ
  6. หยอดตาชนิดมียาปฏิชีวนะ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ) ภายใน 2 – 3 วัน ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณายาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือกรีดหนองออก
  1. หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน  หรือโรคที่ก่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี  โรคเลือด หรือกำลังได้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง  ฯลฯ   ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมทันทีที่สงสัยว่าจะเป็นกุ้งยิง  ไม่ควรลองรักษาด้วยตนเอง เพราะเชื้อโรคอาจลุกลามได้รวดเร็วดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลข้างเคียง

ป้องกันกุ้งยิงได้อย่างไร?

สามารถป้องกันกุ้งยิง ได้โดย

  1. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบทุกวัน  ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ   นอนหลับพักผ่อนให้พียงพอ   อันจะทำให้สุขภาพทั่วไปแข็งแรง เป็นด่านป้องกันการติดเชื้อที่ดี  รวมทั้งโอกาสเกิดตากุ้งยิงเป็นไปได้น้อย  หากมีโรคประจำตัว เช่น  เบาหวาน ควรจะควบคุมโรคนั้นๆให้ดี ก็จะป้องกันการติดเชื้อได้ดี
  2. รักษาสุขอนามัยบริเวณใบหน้า ขนตา ขอบตา ด้วยการล้างมือเสมอ ดูแลใบหน้าให้สะอาด เช็ดขอบตาให้สะอาด  หากใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างเคร่งครัดก่อนนอนทุกครั้ง และไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสถานที่มีฝุ่นละออง ที่สกปรกอันจะทำให้มีเชื้อโรคมาสัมผัสที่บริเวณดวงตามากขึ้น หากจำเป็นควรใช้แว่นกันแดด  หรือหมวก ช่วย
  4. เลิกนิสัยชอบขยี้ตา
  5. ถ้ามีประวัติเป็นกุ้งยิงบ่อยๆ ควรงดการใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา หมั่นทำความสะอาดบริเวณโคนขนตา  โดยใช้สำลีชุบน้ำสะอาด  เช็ดขอบตาจากหัวตาไปหางตา  และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นหัวข้อการวินิจฉัยกุ้งยิง  นอกจากนั้น ควรต้องพบแพทย์เสมอเพื่อหาสาเหตุ