กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazion)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กุ้งยิงเรื้อรังคืออะไร?

กุ้งยิงเรื้อรัง หรือ พจนานุกรมศัพท์แพทย์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 เรียกว่า ‘กุ้ง ยิงด้านใน/ปรวดหนังตา,  โดยปรวด แปลว่า ก้อน (Chalazion หรือ Meibomian gland lipogranuloma หรือถ้าเกิดหลายตำแหน่งเรียกว่า Chalazia) เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ไม่มีการติดเชื้อ (ไม่มีเชื้อโรค) ของต่อมบริเวณเปลือกตา/หนังตาที่เรียกว่าต่อม Meibomian gland หรือต่อม Zeis gland ซึ่งการอักเสบนี้มักจะเห็นหรือคลำได้เป็นก้อน เป็นเม็ด หรือเป็นตุ่ม บริเวณหนังตา โดยทั่วไปไม่มีอาการเจ็บปวด ตาไม่แดง ยกเว้นรายที่มีติดเชื้อแบคทีเรียเข้าผสม

ทั้งนี้การอักเสบของต่อมดังกล่าวเกิดจากมีการอุดตันของทางเดินของสารไขมันที่สร้างจากต่อมฯกล่าวคือ ต่อมนี้ปกติจะสร้างน้ำตาชั้นไขมันเพื่อหล่อลื่นผิวลูกตา หากมีการอุดตันสารไขมันที่สร้างขึ้นจะออกมาไม่ได้ จึงมีการคั่งค้างในต่อมฯ นานเข้าจะมีปฏิกิริยาของร่างกายก่อ ให้เกิดการอักเสบเป็นก้อนจนคลำได้ ซึ่งเกิดเป็นได้ทั้งหนังตาบนหรือหนังตาล่าง

กุ้งยิงเรื้อรังเกิดกับใครได้บ้าง?

กุ้งยิงเรื้อรัง

กุ้งยิงเรื้อรังเป็นโรคพบบ่อย เกิดได้กับคนทุกอายุแต่ส่วนมากพบในอายุช่วง 10 - 40 ปี มักเป็นในคนที่มีโรคผิวหนังในบริเวณใบหน้าเช่น ภาวะ Acne rosacea หรือโรคเซบเดิร์ม(Seborrheic dermatitis) ตลอดจนผู้มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง

อนึ่ง หากพบในผู้สูงอายุต้องระวังและนึกถึงโรคมะเร็งของต่อม Meibomian gland (จัดอยู่ในกลุ่มโรคมะเร็งผิวหนังชนิดพบน้อยมาก) ซึ่งร้ายแรงกว่าด้วย เพราะอาการเบื้องต้นอาจจะคล้ายกันได้คือเป็นก้อนเนื้อ

กุ้งยิงเรื้อรังมีพยาธิสภาพอย่างไร?

การตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่าก้อนหรือตุ่มกุ้งยิงเรื้อรังนี้มีลักษณะที่เรียกว่า Lipogra nuloma ที่เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ไม่มีเชื้อโรค ภายในก้อนจะเป็นเซลล์ไขมันร่วมกับเม็ดเลือดขาวที่แสดงถึงการอักเสบแบบเรื้อรัง ไม่พบเชื้อโรคใดๆทั้งสิ้น

กุ้งยิงเรื้อรังมีอาการและแพทย์วินิจฉัยได้อย่างไร?

กุ้งยิงเรื้อรังมีอาการและแพทย์วินิจฉัยได้โดย

         1 ส่วนมากของผู้ป่วยกุ้งยิงเรื้อรังมาพบแพทย์ด้วยการคลำได้ก้อน/เม็ดหรือตุ่มบริเวณเปลือกตา/หนังตาขนาดอาจเพียง 2 มม.(มิลลิเมตร) ไปจนถึงใหญ่ได้ประมาณ 1 ซม. (เซนติ เมตร) โดยไม่มีอาการเจ็บ/ปวด ไม่มีอาการระคายเคือง ตาไม่แดง ก้อนอาจจะนูนเห็นได้ชัด แม้ ว่าจะมีขนาดเล็กในกรณีโรคเกิดเป็นที่ต่อม Zeis gland แต่หากเป็นที่ต่อม Meibomian gland ขนาดก้อนมักจะใหญ่กว่า

         2 ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยสายตาพร่า/มัว แพทย์จะตรวจพบมีภาวะสายตาเอียง (เดิมไม่มีมาก่อน) เพราะก้อน/ตุ่มนี้จะไปกดกระจกตาในบางส่วนจนส่งผลให้เกิดภาวะตาเอียงชั่วคราว

         3 ส่วนน้อยผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเจ็บตา ตาแดง เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียผสมในต่อมดังกล่าวข้างต้นในบทนำ กล่าวคือเป็นตุ่ม/ก้อนมาก่อนโดยไม่เจ็บ แล้วเจ็บตา ตาแดงใน เวลาต่อมา

         4 แพทย์วินิจฉัยกุ้งยิงเรื้อรังได้จากลักษณะทางคลินิกคือ จากการตรวจพบตุ่ม/ก้อนใต้ผิว หนังบริเวณหนังตา กดไม่เจ็บ ก้อนมีขอบเขตชัดเจน ไม่มีการอักเสบจากที่ดูด้วยตาเปล่า

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ การดูแลตนเองที่บ้านคือ

         1 ผู้ป่วยบางรายก้อนอาจหายไปได้เองในประมาณ 2 - 3 สัปดาห์เนื่องจากไม่มีการติดเชื้อโรค ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่จำเป็น นอกจากผู้ป่วยรายที่คาดว่ามีติดเชื้อแบคทีเรียผสม ในรายที่ไม่แน่ใจอาจใช้ยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะไปก่อน 1 - 2 สัปดาห์

         2 ใช้วิธีประคบบริเวณหนังตาที่เป็นก้อนด้วยน้ำอุ่น ประคบวันละประมาณ 4 ครั้งทุก 6 ชั่ว โมงหรือบ่อยกว่านี้ก็ได้ โดยประคบนานครั้งละประมาณ 10 - 15 นาทีเพื่อให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยาย เพิ่มเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณนั้น ซึ่งการอักเสบอาจน้อยลงทำให้เม็ด/ก้อนยุบลงได้

         3 รักษาความสะอาดบริเวณใบหน้า หนังตา และขอบตาสม่ำเสมอ หากมีขี้ตา มีสะเก็ดบริเวณโคนขนตา ควรเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรพบแพทย์/จักษุแพทย์/หมอตาเสมอเมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นและเมื่อ

  • มีอาการปวดเจ็บหรือลักษณะอักเสบติดเชื้อคือ บวม แดง เจ็บ มากขึ้น
  • การเห็นภาพผิดปกติเช่น เห็นภาพไม่ชัดเหมือนก่อนที่จะมีก้อนที่หนังตา
  • ก้อนที่หนังตาโตขึ้น
  • ก้อนที่หนังตาเป็นหนอง

รักษากุ้งยิงเรื้อรังอย่างไร?

แนวทางการรักษากุ้งยิงเรื้อรังของแพทย์ ได้แก่

         1 อาจใช้ยาหยอดตาชนิดยาปฏิชีวนะหยอดตาด้านเป็นโรคไปก่อนโดยเฉพาะในรายที่เป็นร่วมกับมีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หน้าผาก ร่องแก้ม และอาจให้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วยเป็นการรักษาตุ่มติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ใบหน้าไปด้วย

         2 อาจให้ยาหยอดตาที่มียาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ควรใช้ยาชนิดนี้เฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์สั่งใช้เท่านั้น ไม่ควรซื้อมาหยอดตาเอง เพราะจากการตรวจตาแพทย์ต้องมั่นใจว่าเป็นโรค Chalazion แน่นอน (ไม่มีการติดเชื้อโรคร่วมด้วย) เพราะถ้ามีการติดเชื้อยาสเตียรอยด์จะทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น

         3 ในรายที่ตุ่มนี้เป็นอยู่นานไม่ยอมยุบแพทย์อาจใช้วิธีฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์เข้าที่ตุ่มนี้

         4 หากตุ่มมีขนาดใหญ่พอสมควร การรักษาที่เหมาะสมคือ แพทย์จะกรีดเอาสารภายในตุ่มออกร่วมกับการขูดเนื้อเยื่อรอบๆในตุ่มออกให้หมดเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ/โรคกลับคืนมาอีก

เมื่อใดควรพบแพทย์ก่อนนัด?

กรณีเป็นกุ้งยิงเรื้อรังและได้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และเมื่อปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาล แนะนำแล้วอาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง หรือกังวลในอาการ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลก่อนนัดเสมอ

กุ้งยิงเรื้อรังมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากกุ้งยิงเรื่อรังได้แก่

         1 โดยทั่วไปตุ่ม/ก้อนกุ้งยิงเรื้อรังที่ขนาดไม่ใหญ่มักจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไร แต่อาจมีติดเชื้อโรคผสมทำให้ตาแดง เจ็บตาเป็นครั้งคราว เป็นๆหายๆ

         2 แลดูไม่สวยงามที่เปลือกตา/หนังตา ไม่เรียบ มีตุ่มนูน

         3 ผู้ป่วยบางรายถ้ามีขนาดตุ่มใหญ่หรือตุ่มที่เกิดจากต่อม Meibomian gland อาจกดกระ จกตาทำให้สายตาพร่า/ตามัวจากการมีภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) เกิดขึ้น

         4 ผู้ป่วยบางรายที่รักษาด้วยการฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์อาจทำให้ผิวหนังตาบริเวณนั้นซีดลง แลดูผิวหนังตาบริเวณนั้นกระดำกระด่าง

         5 ต้องไม่ลืมว่าควรระลึกถึงโรคมะเร็ง Meibomian gland ซึ่งควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองแล้วก้อนไม่ยุบหรือกรณีก้อนโตขึ้น

กุ้งยิงเรื้อรังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กุ้งยิงเรื้อรังมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ส่วนใหญ่หายเองได้เองในเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นเดือนหรือหลายเดือน และเมื่อต้องรักษาโดยแพทย์จะรักษาได้หายทุกราย

กุ้งยิงเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ตาบอด และกรณีเกิดสายตาเอียงเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่สายตาฯก็จะกลับเป็นปกติหลังแพทย์รักษาโรคนี้หายแล้ว

ป้องกันกุ้งยิงเรื้อรังเกิดซ้ำอย่างไร?

ป้องกันการเกิดกุ้งยิงเรื้อรังหรือป้องกันการเกิดเป็นซ้ำได้โดย

         1 รักษาอนามัย/ความสะอาดบริเวณใบหน้าและบริเวณหนังตาให้ดี จะช่วยให้มีการอุดตันของต่อมบริเวณเปลือกตาน้อยลง

         2 หากใช้เครื่องสำอางแต่งหน้า เขียนบริเวณขอบตา ต้องรักษาความสะอาดใช้เฉพาะของตัวเองและเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังเสร็จภารกิจ

         3 รักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงซึ่งจะนำมาซึ่งสุขภาพตาที่ดีตามมาด้วยเช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)