การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy)
- โดย นพ.เสถียร เตชะไพฑูรย์
- 13 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy) เป็นวิธีการตรวจวิธีหนึ่งซึ่งทำให้เราสามารถทำการวินิจฉัยโรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำ ไส้เล็กส่วนต้น ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำถูกต้องมากที่สุด เป็นการตรวจด้วยวิธีการอันทันสมัยวิธีหนึ่งในปัจจุบัน
ข้อบ่งชี้ของการตรวจ:
โดยทั่วไปแล้วโดยการตรวจวิธีนี้จะตรวจเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเนื่องจากเป็นการตรวจด้วยวิธีพิเศษด้วยเครื่องมือพิเศษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับจะสามารถแยกแยะความจำเป็นในการตรวจ/หาข้อบ่งชี้ในการตรวจได้ดังต่อไปนี้
- จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เสียดท้อง เป็นประจำ
- ปวดแสบท้องทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
- จุกแน่น จุกเสียดท้อง และมีลมในท้อง เป็นประจำ
- กลืนลำบาก กลืนอาหารแล้วเจ็บ
- มีสิ่งของภายนอกติดอยู่ในหลอดอาหารจากการกลืนเข้าไป
- น้ำหนักตัวลดลง เบื่ออาหาร ที่แพทย์สงสัยสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับโรคกระเพาะอาหาร
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นประจำ
- มีภาวะซีด/ โรคซีด ที่ไม่ปรากฏว่ามีเลือดออกให้เห็นชัดเจน เช่น ไม่ใช่เสียเลือดจากแผลอุบัติเหตุ
- อาเจียนเป็นเลือด
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำลักษณะเหมือนยางมะตอย
- การตรวจคัดกรองในผู้ป่วยปกติที่มีญาติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือผู้ป่วยที่มีอายุมากเกินกว่า 50 ปี
*****หมายเหตุ: การตรวจวิธีการนี้ต้องมีความจำเป็นและต้องตรวจตามความเห็นของแพทย์ที่เชี่ยวชาญในระบบทางเดินอาหาร
ขั้นตอนในการตรวจ:
ผู้ป่วยจะต้อง
- งดอาหารและน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- ก่อนทำการตรวจ แพทย์จะต้องประเมินว่ามีความเสียง/ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงอะ ไรที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในขณะทำการตรวจ และทำการป้องกันไม่ให้มีการเกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ
- อาจจะต้องมีการงดรับประทานยาบางอย่างก่อนทำการตรวจ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์พยาบาลถึงภาวะโรคดั่งเดิม/โรคประจำตัวที่มีอยู่ ยาต่างๆที่รับประทานอยู่เป็นประจำ ให้แพทย์ทราบเพื่อประเมินและดูแลให้เหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับการเตรียมตัวอย่างถูกต้อง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจะน้อยมากๆ
อนึ่ง เมื่อถึงเวลาตรวจ จะมีการพ่นยาชาเฉพาะที่เข้าไปในช่องปากและในลำคอ ตามด้วยการฉีดยานอนหลับให้ผู้ป่วยได้รับหลับพักผ่อน จากนั้นแพทย์ก็จะใส่กล้องตรวจฯทางช่องปากผู้ ป่วย เข้าไปตรวจดูภาพภายในอวัยวะต่างๆคือ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาตรวจประมาณ 10 - 15 นาที นอกจากนั้นในการตรวจวิธีนี้ใน ขณะที่ทำการตรวจ สามารถที่จะเก็บ/การตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อและการเก็บสารคัดหลั่งต่างๆภายในอวัยวะนั้นๆ เพื่อทำการตรวจทางพยาธิวิทยาและ/หรือส่งตรวจทางเคมีวิทยา (การตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หรือว่าจะพ่นสีย้อมที่ผนังภายในอวัยวะนั้นๆทำให้แพทย์มองเห็นพยาธิสภาพชัดเจนขึ้น แพทย์สามารถที่จะใช้เลเซอร์ยิงเพื่อห้ามเลือดหรือการใช้คลิปหนีบเพื่อหยุดเลือดออกหากเนื้อเยื่อนั้นๆมีจุดเลือดออก หรือการฉีดยาหลายๆชนิดภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เพื่อห้ามเลือด หรือเพื่อผลทางด้านอื่น (เช่น ลดการอักเสบ) และผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลยในขณะตรวจ
หลังจากทำการตรวจเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและนอนพักฟื้นในห้องเฉพาะการพักฟื้นอยู่ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวได้ปกติ แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยออกมาจากห้องพักฟื้น รับประทานอาหาร ใช้ชีวิตตามปกติได้
ผลการตรวจในเบื้องต้น แพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบได้ทันทีจากการตรวจด้วยตาของแพทย์ ส่วนผลการตรวจทางด้านพยาธิวิทยาหรือด้านเคมีวิทยา ผู้ป่วยก็จะทราบได้ภายใน 1 ถึง 2 วัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการตรวจวิธีนี้สามารถทำการตรวจและรักษาโรคของหลอดอาหาร กระ เพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ได้หลากหลาย ด้วยเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ได้ผลการตรวจที่แน่นอนโดยไม่ได้มีความเจ็บปวดหรือทรมานใดๆเกิดขึ้นกับผู้ป่วย และผู้ป่วยจะเป็นผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อน:
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการตรวจวิธีนี้ เช่น
- การสำลักน้ำลายหรือการสำลักของสารน้ำจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอด ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากถ้าผู้ป่วยมีการเตรียมตัวถูกต้องตามหลักวิชาการ
- ภาวะเลือดออกเนื่องจากการตัดชิ้นเนื้อภายในอวัยวะต่างๆที่ตรวจเช่น กระเพาะอาหาร ก็จะเกิดขึ้นน้อยมากๆเช่นกัน ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แพทย์ที่ตรวจอยู่ จะรีบจัดการให้การรักษาได้เรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็ว
สรุป
การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง รวดเร็วแม่นยำ ไม่เจ็บปวด โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมากๆครับ