ไพริเมทามีน (Pyrimethamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไพริเมทามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไพริเมทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไพริเมทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไพริเมทามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไพริเมทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไพริเมทามีนอย่างไร?
- ไพริเมทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไพริเมทามีนอย่างไร?
- ไพริเมทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)
- ซัลฟา (Sulfa drugs) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)
- โลหิตจางจากขาดวิตามิน บี (Megaloblastic anemia)
- ภาวะขาดโฟเลท (Folate deficiency) หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก (Folic acid deficiency)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไพริเมทามีน (Pyrimethamine) คือ ยาต้านมาลาเรีย /ต้านเชื้อโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อชนิด P.falciparum (Plasmodium falciparum) และชนิด P.vivax (Plasmodium vivax), รวมถึงโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวที่มีสาเหตุจากเชื้อ Toxoplasma gondii (โรคท็อกโซพลาสโมสิส), โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน
ยาไพริเมทามีน มักถูกใช้ร่วมกับยากลุ่ม Sulfonamide เพื่อรักษาโรคมาลาเรีย, องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาไพริเมทามีนเป็นหนึ่งในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย
ยาไพริเมทามีน ถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 87%, และจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ, ยานี้สามารถซึมผ่านรก และถูกปนออกมากับน้ำนมของมารดา จึงถือเป็นข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์, โดยร่างกายจะต้องใช้เวลาถึงประมาณ 4 วัน เพื่อที่กำจัดยาไพริเมทามีนออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ตัวยาไพริเมทามีนจะทำหน้าที่ฆ่าและยับยั้งการสังเคราะห์สารอาหารของเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว/เชื้อมาลาเรีย และเชื้อ Toxoplasmosis ซึ่งในเชื้อมาลาเรียจะออกฤทธิ์ในระยะที่เชื้อโรคยังไม่เข้าฝังตัวในเม็ดเลือดแดง (Pre-erythrocytic forms) ซึ่งถือเป็นช่วงที่ตัวยาออกฤทธิ์ทำลายเชื้อปรสิตชนิดนี้ได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ มีข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยา Pyrimethamine เช่น
- ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติการแพ้ยานี้มาก่อน
- ต้องไม่ป่วยด้วยโรคซีดชนิดที่เรียกว่าโลหิตจางจากขาดวิตามินบี ที่มีสาเหตุจากภาวะขาดโฟเลท/กรดโฟลิก/วิตามินบี9
- หากอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ ภาวะเลี้ยงลูกด้วยนมบุตร จะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษา ทราบทุกครั้ง
- ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ขณะนี้แพ้ หรือ ใช้ยาชนิดใดอยู่
- หากใช้ยาไพริเมทามีนขณะที่มีอาการป่วยดังต่อไปนี้ร่วมด้วย จะทำให้อาการป่วยเหล่านี้กำเริบมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรคลมชัก โรคไต โรคตับ รวมถึงภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
- ต้องไม่ปรับลดหรือเพิ่มขนาดการใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโดยเด็ดขาด
- เคยมีรายงานว่ายานี้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆได้แต่พบได้น้อย
นอกจากนั้น ยาไพริเมทามีน สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้เช่นเดียวกับยารับประทานชนิดต่างๆ อาการข้างเคียงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น คลื่นไส้อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ปากคอแห้ง น้ำหนักลด และท้องเสีย
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาไพริเมทามีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีเงื่อนไขของการใช้ยา คือ ใช้สำหรับโรคท็อกโซพลาสโมสิสโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องและผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์
ข้อสำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาไพริเมทามีน ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไพริเมทามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไพริเมทามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้บำบัดรักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น
- ใช้บำบัดรักษาโรคท็อกโซพลาสโมสิส
ไพริเมทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไพริเมทามีนมีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียวที่มีชื่อว่า ‘Parasitic dihydrofolate reductase (เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสาร Folate)’ รวมถึงยับยั้งการสังเคราะห์สารที่ช่วยเกิดการเจริญเติบโตอย่าง เช่น ‘Tetrahydrofolic acid (โดยการออกฤทธิ์นี้ในโรคมาลาเรียจะเกิดก่อนที่เชื้อโปรโตซัว เช่น P.falciparum หรือ P.vivax จะเข้าฝังตัวในเม็ดเลือดแดง)’ ส่งผลให้โปรโตซัวหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถในการเจริญพันธุ์ และตายลงในที่สุด
ไพริเมทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพริเมทามีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยา Sulfadoxine เช่น Sulfadoxine 500 มิลลิกรัม + Pyrimethamine 25 มิลลิกรัม/เม็ด
ไพริเมทามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากขนาดยาไพริเมทามีนจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ข้อบ่งใช้ยานี้, ชนิดของโรค, อาการโรค, ดังนั้นขนาดการใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาที่ใช้ในโรคมาลาเรีย เช่น
- สำหรับป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม, สัปดาห์ละ1ครั้ง, พร้อมอาหาร
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปีลงมา: รับประทานครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม, สัปดาห์ละ1ครั้ง, พร้อมอาหาร
- เด็กอายุ 4 – 10 ปี: รับประทานครั้งละ 12.25 มิลลิกรัม, สัปดาห์ละ1ครั้ง, พร้อมอาหาร
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม, สัปดาห์ละ1ครั้ง, พร้อมอาหาร
อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ล่วงหน้า 1 – 2 วันก่อนเข้าพื้นที่ที่มีมาลาเรีย และใช้ยานีต่อเนื่องอีก 4 – 6 สัปดาห์หลังจากออกจากพื้นที่มาลาเรียแล้ว
ข. สำหรับรักษาการติดเชื้อมาลาเรียแบบเฉียบพลัน: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้ง14ปีขึ้นไป: รับประทานยา Pyrimethamine 75 มิลลิกรัม
ร่วมกับยา Sulfadoxine 1500 มิลลิกรัม, ครั้งเดียว, พร้อมอาหาร - เด็กอายุ 7 – 13 ปี: รับประทานยา Pyrimethamine 50 มิลลิกรัม
ร่วมกับยา Sulfadoxine 1000 มิลลิกรัม, ครั้งเดียว, พร้อมอาหาร - เด็กอายุ 1 – 6 ปี: รับประทาน Pyrimethamine 25 มิลลิกรัม
ร่วมกับยา Sulfadoxine 500 มิลลิกรัม, ครั้งเดียว, พร้อมอาหาร - เด็กอายุ 5 – 11 เดือน: รับประทานยา Pyrimethamine 12.5 มิลลิกรัม
ร่วมกับ Sulfadoxine 250 มิลลิกรัม, ครั้งเดียว, พร้อมอาหาร - เด็กอายุต่ำกว่า 5 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงที่ชัดเจนของยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงไพริเมทามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพริเมทามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ใน ภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพริเมทามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไพริเมทามีน ตรงเวลา
ไพริเมทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพริเมทามีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงเมื่อรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, โลหิตจางจากขาดวิตามินบี, เม็ดเลือดขาวต่ำทุกชนิด, เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ, เม็ดเลือดขาวเฉพาะชนิด Neutrophil ต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น เดินเซ บางกรณีอาจเกิดภาวะลมชัก
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบหายใจ: เช่น เกิดภาวะอักเสบของปอดจากเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil
*อนึ่ง: หากผู้ป่วยแพ้ยาไพริเมทามีนจะมีอาการ เช่น เกิดภาวะ *Stevens-Johnson syndrome, Lyell’s syndrome (ภาวะ Stevens-Johnson syndrome ที่รุนแรงมากอาจถึงตายได้), ตับอักเสบ, ผิวหนังเกิดผื่นคัน * ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไพริเมทามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพริเมทามีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพริเมทามีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อกับยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามินบี
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดโฟเลท
- กรณีที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ แพทย์จะตรวจเลือด ดูค่าซีบีซี/CBC เพื่อดูความผิดปกติทุกๆประมาณ 2 สัปดาห์
- *หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบผื่นคัน หรือเกิดแผลในปาก หรือมีภาวะอึดอัดหายใจ ไม่ออก/หายใจลำบากหลังใช้ยานี้ แล้วรีบพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด หรือมาโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพริเมทามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน
ไพริเมทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ไพริเมทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไพริเมทามีน ร่วมกับยา Lorazepam ด้วยจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษที่ตับ/ตับอักเสบ
- การใช้ยาไพริเมทามีน ร่วมกับยา Sulfadoxine อาจเกิดความเสี่ยงทำให้มีภาวะ โลหิตจาง การต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไพริเมทามีน ร่วมกับยา Zidovudine จะเกิดความเสี่ยงกดไขกระดูกซึ่งมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดของร่างกาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไพริเมทามีน ร่วมกับยาที่มีองค์ประกอบของ Magnesium hydroxide อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาไพริเมทามีนลดน้อยลงไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานยากลุ่ม Magnesium hydroxide หลังจากรับประทานยาไพริเมทามีนไปแล้ว 2 – 3 ชั่วโมง
ควรเก็บรักษาไพริเมทามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไพริเมทามีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไพริเมทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพริเมทามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Daraprim (ดาราพริม) | GlaxoSmithKline |
Vinsilar (วินซิลาร์) | Chew Brothers |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pyrimethamine [2022,Sept24]
- https://www.drugs.com/mtm/pyrimethamine.html [2022,Sept24]
- https://www.mims.com/India/drug/info/pyrimethamine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,Sept24]
- https://www.drugs.com/monograph/pyrimethamine.html [2022,Sept24]
- https://www.drugs.com/imprints/daraprim-a3a-243.html [2022,Sept24]