ไทอะมีน/ไทอะมิน/วิตามินบี 1 (Thiamine/Thiamin/Vitamin B1)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไทอะมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ไทอะมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทอะมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทอะมีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทอะมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทอะมีนอย่างไร?
- ไทอะมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทอะมีนอย่างไร?
- ไทอะมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามิน (Vitamin)
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- วิตามินบี (Vitamin B)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- ภาวะขาดวิตามินบี-1 หรือ โรคเหน็บชา (Vitamin B-1 deficiency หรือ Beriberi)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไทอะมีน (Thiamine) หรือ ไทอะมิน (Thiamin) หรือ วิตามินบี 1 (Vitamin B1) คือ สารอินทรีย์ที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน สามารถละลายน้ำได้ดี ไทอะมีนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะถูกสังเคราะห์ได้จาก แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) บางชนิดและพืชบางชนิด จากข้อมูลด้านโภชนาการระบุว่าเราควรได้รับสารไทอะมีน 1.5 มิลลิกรัม/วัน และควรต้องได้รับสาร/วิตามินชนิดนี้ทุกวัน ด้วยไทอะมีนไม่สามารถสะสมกักเก็บในร่างกายได้นานนัก ขณะที่ร่างกายได้รับไทอะมีนไม่ว่าจะทางอาหารหรือฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดในรูปแบบ ยาแผนปัจจุบัน สาร/ยาไทอะมีนจะถูกนำไปใช้กับกระบวนการทางชีวภาพต่างๆของร่างกายและไทอะมีนส่วนเกินจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างต่อเนื่อง
หน้าที่สำคัญของไทอะมีน/วิตามินบี 1 ต่อร่างกายมนุษย์:มีดังนี้
- ร่างกายใช้ไทอะมีนในกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคสซึ่งร่างกายต้องนำไปใช้กับกระบวนการชีวภาพเช่น การเจริญเติบโตและการเหนี่ยวนำของกระแสประสาท เป็นต้น
- ป้องกันโรคเหน็บชาซึ่งจะมีอาการบวมและชาตามมือ-เท้า รู้สึกสับสน หายใจไม่ออก/หายใจลำบากด้วยมีของเหลวเพิ่มมากขึ้นในปอด และอาจมีหนังตากระตุกผิดปกติ
- ช่วยเรื่องความจำป้องกันอาการหลงลืมหรือความจำเสื่อม ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุด้วยมีระบบการดูดซึมของสารอาหารของร่างกายเสื่อมลง จึงอาจเป็นเหตุให้ร่างกายของผู้สูงอายุขาดวิตามิน ชนิดนี้ได้ง่าย
- ป้องกันมิให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เคยมีการศึกษาว่าการขาดไทอะมีนหรือวิตามินบี 1 มีความเกี่ยวพันกับอาการของโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ปกติยาไทอะมีนสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดยาไทอะมีนสามารถกระจายไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย รวมถึงผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้ และสามารถ ถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะ
อนึ่งยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องพึงระวังก่อนใช้ยาไทอะมีน อาทิ
- ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาไทอะมีน
- มีอาการของโรคไตหรือป่วยเป็นโรคไตอยู่หรือไม่
- รับประทานยาอื่นใดอยู่หรือไม่
ดังนั้นก่อนการใช้ยาไทอะมีนผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์และรับคำแนะนำการใช้ยานี้ที่ถูกต้องก่อนเสมอ
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาไทอะมีนเป็นหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งในรูปแบบยารับประทานและยาฉีด และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถาน พยาบาลของรัฐและเอกชน อีกทั้งหาซื้อได้จากร้านขายยาโดยทั่วไป
ไทอะมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาไทอะมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการขาดไทอะมีน (ภาวะขาดวิตามินบี1)
- รักษาอาการโรคเหน็บชาชนิดที่เกิดจากขาดไทอะมีน
- รักษากลุ่มโรค Wernicke's encephalopathy (โรคทางระบบประสาทที่เกิดจากการขาด ไทอะมีน)
- ใช้เป็นส่วนประกอบในยาเสริมวิตามินต่างๆ
ไทอะมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทอะมีนคือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกายจะร่วมกับสารที่เป็นแหล่งพลัง งานของร่างกายหรือที่เรียกว่า ATP (Adenosine triphosphate) เพื่อให้เปลี่ยนโครงสร้างไปเป็น Thiamine pyrophosphate (สารที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกายจากคาร์โบไฮเดรต) อีก ทั้งยังเป็นส่วนประกอบในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ทำให้กระบวนการชีวเคมีของร่างกายเป็นไปอย่างปกติเช่น ด้านการเจริญเติบโต การนำกระแสประสาท และทำให้การดำรงชีวิตของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ
ไทอะมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทอะมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของไทอะมีน ขนาด 50, 100, 250 และ 500 มิลลิ กรัม/เม็ด
- ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 5 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
- ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไทอะมีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ยาไทอะมีนทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการในแต่ละโรค ดังนั้นขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้โดยทั่วไปเฉพาะบางอาการ เช่น
ก.สำหรับบำบัดอาการเหน็บชา: เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 10 - 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือรับประทานในรูปวิตามินรวมที่มียาไทอะมีนในขนาด 5 - 10 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำขนาด 10 - 25 มิลลิกรัม/วัน หรือรับประทานขนาด 10 - 50 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์อาจปรับเป็นการรับประทานโดยลดขนาดลงมาเป็น 5 - 10 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
ข.สำหรับบำบัดอาการขาดไทอะมีน(ภาวะขาดวิตามินบี1): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก: ใช้ไทอะมีนชนิดฉีด 100 มิลลิกรัมผสมกับ 5% Dextrose 50 - 100 มิลลิ ลิตรหยดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาประมาณ 15 - 30 นาที ความถี่หรือระยะเวลาของการให้ยาจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์และการตอบสนองของผู้ป่วย
* อนึ่ง ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไทอะมีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะมีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไทอะมีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไทอะมีนให้ตรงเวลา
ไทอะมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทอะมีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. ยาไทอะมีน ในรูปของยาฉีด: เช่น
- ไอ
- รู้สึกตัวร้อน
- กลืนลำบาก
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- หายใจลำบาก
- ใบหน้าและเปลือก/หนังตาบวม
ข. ยาไทอะมีนที่เป็นยารับประทาน: ไม่ค่อยพบเห็นอาการข้างเคียงแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่าเพราะยานี้ถูกขับออกจากร่างกายได้รวดเร็วจึงทำให้ไม่เกิดการสะสมของยานี้ในร่างกาย
มีข้อควรระวังการใช้ไทอะมีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะมีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาไทอะมีน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต รวมถึงเด็กทารกซึ่งมีระบบการทำงานของไตไม่สมบูรณ์เท่า กับผู้ใหญ่
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงมิให้ยานี้สัมผัสกับแสงแดดและ/หรือแสงสว่างโดยตรงเป็นเวลานาน ด้วยวิตามินหลายชนิดรวมถึงยานี้สามารถเสื่อมสลายเมื่อมีการสัมผัสกับแสงแดด/แสงสว่างเป็นเวลานาน
- ควรบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี1 อีก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- กรณียารับประทานห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทอะมีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไทอะมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ในทางคลินิก ยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาไทอะมีนกับยาชนิดรับประทาน/ยาฉีดชนิดใดๆ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการใช้ยาไทอะมีนร่วมกับยาอื่นแล้วพบอาการผิดปกติที่เป็นอาการแพ้ยา เช่น วิงเวียนศีรษะมาก มีไข้ หายใจไม่ออก/อึดอัด/หายใจลำบาก ใบหน้า-คอ-ลิ้น-มือ-เท้าบวม มีผื่นคัน หรือลมพิษขึ้นเต็มตัว ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ควรเก็บรักษาไทอะมีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไทอะมีนทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน:
- เก็บในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด แสงสว่าง ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทอะมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทอะมีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Awsom (อาซัม) | Life Vision Medicare Pvt Ltd |
Benalgis (บีนัลจิส) | Franco Indian Remedies |
Berin (เบริน) | GlaxoSmithKline |
Biwon (ไบวอน) | Aurochem Labs |
Fide 75 (ไฟด์ 75) | Psycogen Captab |
Hykophos (ไฮโคฟอส) | Leben Laboratories |
RB 1 (อาร์บี 1) | Regardia Pharmaceuticals |
Therabine (เทอราบีน) | Parex Pharmaceuticals |
Thiamin Inj (ไทอะมิน อินเจ็คชั่น) | Ordain Health |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thiamine#Chemical_properties [2022,April23]
- https://www.drugs.com/pro/thiamine-hydrochloride-injection.html [2022,April23]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=THIAMINE [2022,April23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/thiamine?mtype=generic [2022,April23]
- http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR2A1022620001311C&pvncd=10&drgtpcd=2&rgttpcd=2A&rgtno=6200013 [2022,April23]
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/219545 [2022,April23]
- https://www.medindia.net/drug-price/thiamine-vitamin-b1.htm [2022,April23]