ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ไตวายเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร?
- ไตวายมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไตวายได้อย่างไร?
- รักษาไตวายอย่างไร?
- ไตวายรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- เมื่อไตวายควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันไตวายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ไตอักเสบ (Nephritis)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- โรคถุงน้ำหลายถุงในไต (Polycystic kidney disease)
- ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Transplant rejection)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ไตวาย/ไตล้มเหลว (Renal failure หรือ Kidney failure) คือ โรค/ภาวะที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถขับของเสียในร่างกายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะได้, ไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำเกลื่อแร่ต่างๆโดยเฉพาะ โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม, และ ฟอสฟอรัส, รวมถึงไม่สามารถสร้างฮอร์โมนช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก, ผู้ป่วยที่มีไตวายจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไต/การปลูกถ่ายไต/การบำบัดทดแทนไต
ไตวาย มี 2 แบบ (Type) ตามสาเหตุและระยะเวลาที่เกิดไตวาย แต่อาการเมื่อเกิดไตวายจะเหมือนกัน, ซึ่งทั้ง 2 แบบ คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง
ไตวายเฉียบพลัน: คือ ไตวายที่เกิดจากไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง หรือ 1-2 วัน ทั่วไป ผู้ป่วยมักไม่เคยมีโรคไตมาก่อนซึ่งเมื่อได้รับการล้างไตและรักษาสาเหตุทันท่วงที ไตมักกลับฟื้นเป็นปกติ, แต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดไตวายซ้ำได้อีก, และในบางคน ไตจะค่อยๆเสื่อมลงจนกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้โดยขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือการรักษาที่ล่าช้า
ไตวายเรื้อรัง: คือ ไตวายที่มีสาเหตุจากโรคไตเรื้อรัง,เป็นระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง (End stage renal disease), โดยไตจะค่อยๆสูญเสียการทำงานไปเรื่อยๆในระยะเวลานานหลายเดือน หรือหลายปี ขึ้นกับพยาธิสภาพของไตที่ได้เสียไป, สาเหตุ, และการดูแลตนเองของผู้ป่วย, ทั้งนี้ไตวายเรื้อรัง มักมีขนาดของไตเล็กลงจากมีพังผืดเกิดแทนที่เซลล์ไตปกติ, และไม่มีโอกาสที่ไตจะฟื้นตัวกลับมาปกติได้, นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่จะเกิดไตวายเฉียบพลันซ้ำซ้อนได้
ไตวาย เป็นโรค/ภาวะพบบ่อยทั่วโลก พบทุกเพศ ทุกวัย, สถิติจากสหรัฐอเมริกาพบไตวายเฉียบพลันประมาณ1%ของสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาล และที่พบเกิดขณะอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ2-5%, ส่วนไตวายเรื้อรังสถิติทั่วโลกในปี ค.ศ.2017 รายงานพบประมาณ 698 ล้านรายซึ่งในการนี้ตายประมาณ1.2ล้านราย
ไตวายเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สาเหตุเกิดไตวาย:
ก. ไตวายเฉียบพลัน: อาจเกิดจากเซลล์ไตสูญเสียการทำงานจากไตขาดเลือด, หรือจากโรคต่างๆต่อเซลล์ของไตโดยตรง, หรือจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ, จึงส่งผลให้ไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้
- การขาดเลือดของไต: เช่น
- ภาวะเลือดออกรุนแรงของอวัยวะต่างๆ เช่น จากอุบัติเหตุ
- ภาวะขาดน้ำรุนแรง เช่น กินยาขับปัสสาวะต่อเนื่อง หรือท้องเสียรุนแรง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) การแพ้ยา แพ้อาหาร
- ภาวะตับวาย
- ภาวะช็อก
- ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เช่น โรคเลือดหนืด
- โรคของเซลล์ไตโดยตรง: เช่น
- การอักเสบรุนแรงของเซลล์ไตในโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- การได้รับสารพิษบางชนิด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือการกินยาเกินขนาด เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารทึบแสงที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการตรวจ ซีทีสแกนหรือเอมอาร์ไอ
- การติดเชื้อรุนแรงของไต
- ภาวะร่างกายต้านไตใหม่จากการปลูกถ่ายไต (Graft rejection/ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่)
- การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ: เช่น จากโรค
- นิ่วในไต
- นิ่วในท่อไต
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การอุดตันของท่อปัสสาวะในโรคมะเร็งระยะลุกลามรุนแรง โดยเฉพาะมะเร็งของอวัยวะที่อยู่ในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน: เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ข. ไตวายเรื้อรัง: สาเหตุของไตวายเรื้อรัง คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง , โรคไขมันในเลือดสูง, และจากโรคทางพันธุกรรมของไตที่พบได้น้อย เช่น โรคถุงน้ำหลายถุงในไต
ไตวายมีอาการอย่างไร?
อาการของไตวาย เกิดจากการมีของเสียคั่งในเลือด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเสียจากการใช้พลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะ 'ยูเรีย' ดังนั้นจึงเรียกภาวะมีของเสียคั่งนี้ว่า 'ยูรีเมีย หรือ ยูเรเมีย (Uremia)' ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น
- คลื่นไส้ อาจอาเจียน เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักตัวลด
- นอนไม่หลับ
- ผิวหนังดำคล้ำ จากของเสียเป็นเหตุให้เกิดสารให้สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง
- ท้องเสียเรื้อรัง
- อาจปัสสาวะบ่อย โดยปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งอาจมากโดยสีปัสสาวะจะใสใกล้สีของน้ำ, หรืออาจปัสสาวะน้อยครั้งมาก แต่ละครั้งปริมาณปัสสาวะจะน้อยมาก,หรือไม่มีปัสสาวะ/ปัสสาวะไม่ออก โดยในกลุ่มนี้ สีปัสสาวะจะเข้ม มากขึ้น
- คันตามเนื้อตัว จากของเสียที่คั่งก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- เป็นตะคริวบ่อย จากสารพิษสะสมในร่างกายร่วมกับความผิดปกติจากระดับเกลือแร่ในเลือดที่จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- หายใจหอบเหนื่อย / หายใจลำบาก
- บวมน้ำตามตัว โดยเฉพาะรอบดวงตา ขาและเท้า
- ซีด และอาการจากภาวะซีด เช่น เหนื่อยง่าย วิงเวียน เป็นลมง่าย ขาดสมาธิ
- เลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้ง่าย เช่น มีจ้ำห้อเลือดตามเนื้อตัว
- อาจมีปวดหลัง หรือปวดเอวในตำแหน่งของไตทั้ง 2 ข้าง
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีโปรตีนในปัสสาวะ และอาจปัสสาวะเป็นเลือด
- สับสน อาจชัก
- โคม่า และตายในที่สุด
แพทย์วินิจฉัยไตวายได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะไตวายได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์: เช่น อาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน การใช้ยาต่างๆ การใช้ยาสมุนไพร อาชีพ ถิ่นที่อยู่อาศัย
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด ดูการทำงานของ ไต ตับ และโดยเฉพาะดูค่าสารยูเรีย
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วย, ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจภาพไตด้วย อัลตราซาวด์
- การตัดชิ้นเนื้อจากไตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาไตวายอย่างไร?
แนวทางการรักษาไตวาย คือ การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย, การรักษาสาเหตุ และ การรักษาตามอาการ
ก. การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย: คือ การล้างไต ซึ่งอาจเป็นการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง, หรือการฟอกไตโดยการฟอกเลือด, ทั้งนี้ขึ้นกับขีดความสามารถของแต่ละโรงพยาบาล, และความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัว,และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ข. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ/ผู้ป่วย เช่น การรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเมื่อสาเหตุคือโรคออโตอิมมูน, การรักษาภาวะขาดน้ำเมื่อสาเหตุเกิดจากภาวะขาดน้ำ, หรือการให้เลือดเมื่อสาเหตุเกิดจากการเสียเลือดรุนแรง เป็นต้น
ค. การรักษาตามอาการ: เช่นให้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน, การให้ยาแก้คัน, การทำกายภาพบำบัดกรณีเป็นตะคริวบ่อยหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ไตวายรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ไตวายเป็นภาวะ/โรครุนแรง ถ้าไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายออกได้ทันท่วงที มักเป็นสาเหตุถึงตายเสมอ
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของภาวะไตวายขึ้นกับ สาเหตุ
- ถ้าเป็นไตวายเฉียบพลัน: เมื่อได้รับการล้างไตทันทวงที่ ไตมักกลับเป็นปกติได้ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดไตวายซ้ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย
- ถ้าสาเหตุรุนแรง หรือได้รับการล้างไตล่าช้า ก็อาจถึงตายได้
- หรืออาจเกิดเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือเป็นไตวายเรื้อรังได้
- ส่วนไตวายเรื้อรัง: อาการมักไม่หาย แต่การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
ในด้านผลข้างเคียงจากไตวาย: เช่น
- อาจกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง
- ของเสียที่คั่งอยู่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญคือ หัวใจ, สมอง, ไขกระดูก
- อาการผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง
- อาการทางสมอง เช่น สับสน ชัก
- อาการจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ ที่จะส่งผลมีเลือดออกได้ง่ายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เพราะขาดฮอร์โมนจากไตที่ช่วยสร้างสร้างเม็ดเลือดของ ไขกระดูก รวมทั้งมีการทำงานผิดปกติของเกล็ดเลือด(มีหน้าที่ช่วยการแข็งตัวของเลือดช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ทันท่วงที)
เมื่อไตวายควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้ออาการฯ' คือ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
ในช่วงที่มีอาการไตวาย การรักษาจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงอยู่ในการดูแลรักษาจากแพทย์และพยาบาล แต่เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวควรต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไป เช่น
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุให้ได้อย่างดี
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ ที่สำคัญ คือ ระมัดระวังการกินยาต่างๆ อาหาร สมุนไพรต่างๆ เห็ดแปลกๆ
- จำกัด น้ำดื่มและประเภทอาหาร ตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ อาหารเค็ม (เกลือโซเดียม/เกลือแกง) และเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง (เนื้อแดง-เนื้อขาว-เนื้อดำ)
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
- ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพราะผู้ป่วยไตวาย มักติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อติดเชื้อมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- เมื่ออาการต่างๆแย่ลง
- กังวลในอาการ
ป้องกันไตวายอย่างไร?
การป้องกันไตวาย คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ สาเหตุฯ' ซึ่งที่สำคัญ เช่น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
- ไม่กินยาพร่ำเพื่อ ถ้าจะซื้อยากินเองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
- ระมัดระวังการใช้สมุนไพร หรือการกินเห็ดที่ไม่รู้จัก
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียเลือดรุนแรง
- ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองการทำงานของไตในการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี และเมื่อพบความผิดปกติ ต้องรีบพบแพทย์/มา โรงพยาบาล
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th). New York: McGraw-Hill
- Needham, E. (2005). Management of acute renal failure. Am Fam Physician. 72, 1739-1746.
- Snyder, S.,and Pendergraph, B. (2005). Detection an evaluation of chronic kidney disease. Am Fam Physician. 72, 1723-1732.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Kidney_failure [2022,Dec24]
- https://emedicine.medscape.com/article/238798-overview#showall [2022,Dec24]
- https://emedicine.medscape.com/article/243492-overview#showall [2022,Dec24]