โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

บางครั้งเรามีอาการกระตุกของเปลือกตาและมุมปากเป็นๆหายๆ มีความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จะเป็นอัมพาตหรือไม่ ต้องไปฉีดโบทูไลนุมทอกซิน/โบทอกซ์(Botulinum toxin/ Botox) หรือไม่ เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่าเป็น “โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial spasm)” แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดจึงจะหายขาด เกิดความกังวลใจอย่างมาก กลัวว่าผ่าตัดแล้วจะเกิดผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เราลองมาติดตามทำความเข้าใจกับโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกว่าคืออะไร และรักษาอย่างไร

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกคืออะไร?

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก คือ โรคที่มีอาการกระตุกขึ้นเองที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งซึ่งเลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้า

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก พบทั่วโลกแต่พบน้อย  เพศหญิงพบสูงกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า โดยมีรายงานเพศหญิงพบ 14.5 รายต่อประชากรหญิง1แสนคน, ส่วนเพศชายพบ 7.4 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน, ทั่วไปเป็นโรคของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักเริ่มพบในวัยกลางคนอายุช่วง 44-50 ปีขึ้นไป พบน้อยมากๆ ในเด็กเล็ก พบในเด็กโตและผู้อายุต่ำกว่า 30 ปีประมาณ 1-6%

ลักษณะอาการสำคัญของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นอย่างไร?

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง อาการกระตุกมักมาเป็นกลุ่มๆไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นจังหวะ หรืออาจมีการกระตุกแล้วเกร็งร่วมด้วยก็ได้ การกระตุกมักเป็นๆหายๆ เป็นเรื้อรัง ไม่หายขาด ผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินเสียงกึ๊กๆในหูขณะที่ใบหน้ากระตุก ซึ่งเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีการกระตุกที่กล้ามเนื้อรอบตาก่อน ซึ่งคล้ายกับตาเขม่น (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง หน้ากระตุก) แต่ไม่หายไป เป็นๆหายๆ ตลอดวัน และเมื่อเป็นมากขึ้น อาการจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ บางรายเป็นมากจนตาปิดสนิทเมื่อกล้ามเนื้อรอบตากระตุกรุนแรง

อะไรคือสาเหตุการเกิดโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก?

อาจแบ่งสาเหตุของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ก. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ: ซึ่งพบในผู้ป่วยส่วนใหญ่
ข. กลุ่มที่ทราบสาเหตุ: ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของ หลอดเลือด เนื้องอก และก้อนต่างๆในสมอง ที่ไปกดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7, หรือมีโรค, หรือมีความเสียหายต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จากสาเหตุต่างๆ เช่น จากอุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?

ความจริงแล้ว ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดที่ทำให้เกิดโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก โรคนี้พบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า และพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้สูงขึ้นกว่าคนความดันโลหิตปกติ

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การกระตุกเป็นมากขึ้น?

สามารถแบ่งปัจจัยที่กระตุ้นทำให้การกระตุกของใบหน้าเป็นมากขึ้น เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ก. ภาวะความเครียดทางจิตใจ: เช่น ความเครียด ความกังวลมาก ความหงุดหงิด โมโห เป็นต้น
ข. ความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การยิ้ม การพูด การใช้สายตา มากเกินไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า การออกสังคมหรือการอยู่ในที่หมู่คนแออัด ทำให้การกระตุกเป็นมากขึ้นด้วย

เมื่อมีอาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

กรณีที่อาการไม่รุนแรงและผู้ป่วยไม่กังวลใจ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่ถ้าผู้ ป่วยมีความกังวลใจและมีอาการรุนแรง ซึ่งความรุนแรงนั้นขึ้นกับผู้ป่วยประเมินตนเอง (เช่น ถ้าเป็นนานๆครั้ง หรือถ้ากระตุกแรงมาก เป็นต้น) ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ, ให้การวินิจฉัย, และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แพทย์วินิจฉัยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ โดยพิจารณาจากอาการผู้ป่วยเป็นหลัก คือ มีการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณรอบตาและมุมปาก, โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ, ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมอง, หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้น คือ การกระตุกของกล้ามเนื้อรอบตา มุมปาก ดังนั้นผลข้างเคียงคือ อาการรำคาญ, การมองเห็นไม่ชัดเจน ,และมีเสียงดังในหู, และอาจอายคน ไม่กล้าเข้าสังคม

การรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกมีวิธีใดบ้าง?

แนวทางในการรักษาโรคนี้ แบ่งออกเป็น 2 วิธี:

ก. การรักษาด้วยยา และการรักษาโดยไม่ผ่าตัด: เช่น การรักษาด้วยยารับประทาน และ/หรือ การฉีดยาโบทูไลนุมทอกซิน/โบทอกซ์

  • วิธีนี้มีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการผ่าตัด
  • แต่ข้อด้อย คือ อาการกระตุกจะไม่หายขาด ผู้ป่วยจะต้องมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาอาการ

ข. การรักษาด้วยการผ่าตัด: เช่น การผ่าตัดสมองแบบส่องกล้องขยาย เพื่อจัดการให้หลอดเลือดและเส้นประสาทใบหน้าที่เป็นสาเหตุให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ไม่กดเบียดกัน (Micro vascular decompression) เป็นต้น

  • วิธีนี้มีข้อดี คือ ผู้ป่วยมักจะหายจากอาการกระตุกโดยเด็ดขาด
  • แต่มีข้อเสีย คือ อาจมีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น หูหนวก และ/หรือ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง เป็นต้น

การรักษาด้วยการรับประทานยาได้ผลเพียงใด? และมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ยารับประทานที่ใช้ในการรักษาอาการใบหน้ากระตุกในโรคนี้ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

ก. ยาคลอนาซีแปม (Clonazepam): อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่สำคัญของยานี้ คือ ซึมและง่วงนอน โดยทั่วไป อาการนี้จะลดลงเมื่อรับประทานยาคลอนาซีแปมไปแล้วระยะหนึ่ง
ข. ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine): มีอาการข้างเคียงที่สำคัญ คือ อาการซึมหรือคล้ายคนเมาสุรา ที่มักเกิดในระยะแรกๆของการรับประทานยา ซึ่งโดยทั่วไปอาการนี้จะลดลงเมื่อรับประทานยาไปแล้วระยะหนึ่ง

อาการข้างเคียงอื่นของยาคาร์บามาซีปีน คือ อาจทำให้เกิดเม็ดเลือดขาวต่ำได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ ควรต้องมาติดตามผลการใช้ยาตามที่แพทย์นัดเสมอ

อนึ่ง: ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยารักษาทุกชนิดไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง (2-3 เดือน), อาการกระตุกไม่ลดลง หรือ อาการกระตุกมากขึ้น หรือ ผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียงที่เกิดจากยาไม่ได้, แพทย์อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาไปเป็นการฉีดโบทูไลนุมทอกซิน/โบทอกซ์แทน ซึ่งให้ผลในการรักษาอาการกระตุกได้ดีกว่า

การฉีดยาโบทูไลนุมทอกซินเป็นอย่างไร? ควรฉีดเมื่อใด?

โบทูไลนุมทอกซิน/โบทอกซ์ เป็นสารที่สกัดจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูไลนุม (Clostridium botulinum) ออกฤทธิ์โดยทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังลง มีผลทำให้การกระตุกลดลงหรือหายไป

การฉีดยานี้จะทำการฉีดเข้าในบริเวณใบหน้าส่วนที่มีการกระตุก และยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ประมาณ 3-4 เดือน,  เมื่อยาหมดฤทธิ์ กล้ามเนื้อใบหน้าส่วนนั้นก็จะกลับมากระตุกอีก, ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาฉีดยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ

อนึ่ง: การฉีดยานี้ จะกระทำเมื่อแพทย์ได้อธิบายถึงโรคและแนวทางในการรักษา รวมทั้งผลดี ผลเสียในการรักษาแต่ละวิธีแก่ผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว และผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า ต้องการฉีดยาหรือไม่

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วย ควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด ในกรณี เช่น

  • มีอาการรุนแรงขึ้น
  • หรือมีผลแทรกซ้อนจากการรักษา (เช่น จากยาที่บริโภค) ที่รุนแรง หรือ
  • เมื่อกังวลใจ

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกสามารถหายขาดได้หรือไม่? ทำให้เป็นอัมพาตใบหน้าได้ไหม?

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดสมองเพียงวิธีเดียว มีโอกาสหายประมาณ 90%,  และโรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า

โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่หายขาด แต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต และเนื่องจากอาการมักเป็นมากขึ้น จึงอาจกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์

การรักษาด้วยยาทั้งยาฉีดและยารับประทาน เป็นการรักษาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น ผู้ป่วยไม่หายขาด การรักษาให้หายขาดได้มีเพียงการผ่าตัดสมองเท่านั้น

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ถ้าไม่รักษาจะเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคนี้เกิดขึ้นช้าๆ และอาการจะค่อยๆกระจายจากกล้ามเนื้อใบหน้ารอบตาไปที่กล้ามเนื้อใบหน้ารอบปากอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางรายอาจจะเป็นรวดเร็ว บางรายอาจเป็นรุนแรงในเวลาอันสั้น ความรุนแรงของโรคจะเป็นไปเรื่อยๆ และอาการจะทรุดลงหรือมีอาการกระตุกมากขึ้นตามลำดับ, ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ ลักษณะอาการ จึงควรพบแพทย์เสมอ

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวในโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?

เนื่องจากโรคนี้ ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างที่เคยปฏิบัติมา

ผู้ป่วยอาจช่วยลดการกระตุกของใบหน้าได้โดยการสังเกตว่าการกระตุกนี้เป็นมากขึ้นจากอะไร ถ้าพบปัจจัยกระตุ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงการกระทำนั้น เช่น ความเครียด การโมโห การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มสุรา เป็นต้น เพื่อให้การกระตุกนั้นลดลง

คำแนะนำผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยยาฉีดโบทูไลนุ่มทอกซิน

ยาโบทูไลนุ่มทอกซิน/โบทอกซ์ เป็นยาที่สกัดได้จากเชื้อ คลอสตริเดี่ยม โบทูไลนุม ออกฤทธิ์โดยการทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดคลายตัว และไม่กระตุก ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยาในประเทศไทย (อย.)

การออกฤทธิ์ : โดยทั่วไปยาชนิดนี้จะเริ่มออกฤทธิ์ประมาณวันที่ 4-7 หลังจากการฉีด และจะออกฤทธิ์อยู่ได้นานตั้งแต่ 2-9 เดือน แล้วแต่ผู้ป่วยเป็นรายๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการกระตุกดีขึ้นเรื่อยๆในช่วงแรกหลังจากการฉีดยา และต่อมาเมื่อยาเริ่มหมดฤทธิ์ อาการกระตุกจะเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนกับก่อนจะได้รับการฉีดยา

ผลข้างเคียง : ขึ้นกับกล้ามเนื้อที่ถูกฉีดยา เช่น ถ้าฉีดที่กล้ามเนื้อรอบตา รอบปาก อาจมีหนังตาตก น้ำเข้าตาได้ง่าย น้ำตาไหล มุมปากตก

โดยทั่วไปผลข้างเคียงเหล่านี้ พบได้น้อย และเป็นเพียงชั่วคราวในระยะแรกของการฉีดยา และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดยาไปใหม่ๆ ให้ผู้ป่วยระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่ออาบน้ำ หรือฟอกหน้าด้วยสบู่

ป้องกันโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกได้ไหม?

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าไม่เครียดอาการที่เกิดขึ้นก็มักไม่รุนแรง

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK526108/ [2022,Nov19]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3487151/ [2022,Nov19]