หน้ากระตุก หรือ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า (Abnormal Facial movements)

สารบัญ

บทนำ

ใบหน้าของมนุษย์เรานั้น เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญมากมาย เช่น หลับตา ลืมตา ยิ้ม พูด แสดงความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ และเป็นสิ่งแรกที่คนจะจำได้ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร ประทับใจแรกพบอย่างไร ดังนั้น ถ้ามีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือบางคนเรียกว่า “กระตุก” เกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ก็จะสร้างความกังวลใจอย่างมาก ว่าตนเองเป็นอะไร จะหายหรือไม่ จะเป็นอัมพาตหรือโรคเนื้องอกสมองหรือไม่ ปัญหาข้อสงสัยมีหลายประเด็น ลองติดตาม คำถาม-คำตอบ ที่พบบ่อยในบทความนี้ จะได้สบายใจหายกังวล

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าคืออะไร

ปกติแล้วใบหน้าของคนเรานั้นทำหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น หลับตา ลืมตา ยิ้ม แสดงอา รมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆบนใบหน้าเรานั้น จะสามารถควบคุมได้โดยระบบประสาทของเรา แต่ถ้ามีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นกับระบบประสาท โดยไม่ได้ตั้งใจ ควบคุมไม่ ได้ รวมเรียกการเคลื่อนไหวผิดปกติ/การกระตุกที่เกิดขึ้นบนทุกส่วนของใบหน้าว่า “อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า หรือเรียกทั่วไปว่า ใบหน้ากระตุก (Abnormal facial movement)”

ทั้งนี้ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า สามารถเกิดขึ้นกับใบหน้าได้ทั้งสองด้าน แต่อาจเป็นเพียงด้านเดียว หรือสองด้านก็ได้ และสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยพบในผู้ ใหญ่สูงกว่าในเด็ก อย่างไรก็ตาม เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า มีโรคอะไรบ้างที่พบบ่อย?

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าที่พบบ่อยๆ ได้แก่

  1. โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial spasm)
  2. โรคตากะปริบ/ตากระตุก/ตากะพริบถี่ๆ (Blepharospasm) ทั้งนี้ กระปริบแปลว่า กะ พริบถี่ๆ
  3. Tics การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าแบบซ้ำๆ หรือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก
  4. การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา (Tardive dyskinesia)
  5. ตาเขม่น (Benign eyelid twitching)
  6. การเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า (Facial synkinesia)

อนึ่ง บทความนี้ ครอบคลุมการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าเฉพาะในโรคข้อ 3-6 ส่วนโรคในข้อ 1 และ 2 แยกเขียนเป็นแต่ละบทความต่างหากในเว็บ haamor.com เช่นกัน

Tics

  • Tics คืออะไร?

Tics คือ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นทันทีอย่างรวดเร็ว เป็นซ้ำเดิม ไม่เป็นจังหวะ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานของกล้ามเนื้อ สามารถหยุดการกระตุกได้ถ้าตั้งใจบัง คับ แต่จะหยุดได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ก็จะต้องทำซ้ำอีก เพราะจะอึดอัดมาก เมื่อได้ทำแล้วจะหายเครียดทันที

  • อาการ Tics มีลักษณะใดบ้าง?

อาการTics มี 2 รูปแบบ คือ

  • การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ/กล้ามเนื้อกระตุก (Motor tics)
  • และเสียงผิดปกติ (Phonic tics) จากมีอากาศเคลื่อนที่ผ่านจมูก ปาก หรือลำคอ รวมทั้งเสียงสบถไม่สุภาพต่างๆ

Tics มักเป็นตั้งแต่เด็กๆ หรือเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อาจเป็นชั่วคราวแล้วหายเอง หรือเป็นเรื้อรังก็ได้ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น อาการอาจจะทุเลาลง อาการผิดปกติส่วนใหญ่ คือ การกระพริบตา หายใจแรงๆ ขยับปากเล็กน้อย ยักคิ้ว สะบัดศีรษะ อาการอาจเป็นน้อยๆ จนกระ ทั่งรุนแรง บางรายพบร่วมกับการสบถคำหยาบ และออกเสียงไม่สุภาพ

  • ใครมีโอกาสเกิด Tics ได้บ่อย?

ผู้ชายจะพบเกิด Tics บ่อยกว่าผู้หญิง อายุน้อยพบบ่อยกว่าผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคทางสมอง เช่น ไวรัสสมองอักเสบ เคยประสบอุบัติเหตุต่อสมอง ใช้ยาเสพติด (ยาบ้า, โค เคน) จะมีโอกาสเกิด Tics ได้บ่อยกว่า

  • สิ่งกระตุ้นให้เกิด Tics ได้แก่อะไรบ้าง?

สิ่งกระตุ้นให้เกิด Tics ได้แก่ ความเครียด ความโกรธ การตื่นเต้น การอ่อนเพลีย แต่ถ้าพักผ่อน หรือ นอนหลับ ได้เพียงพอ อาการจะดีขึ้น

  • อาการ Tics พบบ่อยหรือไม่?

อาการ Tics พบได้บ่อยประมาณ 1-5 คนต่อประชากร 10,000 คน

  • อาการ Tics มีสาเหตุจากอะไร?

อาการ Tics มีทั้งชนิดที่หาสาเหตุไม่พบ และที่ทราบสาเหตุ สาเหตุที่พบได้แก่ โรคทางสมอง เช่น ไข้สมองอักเสบ อุบัติเหตุต่อสมอง โรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่นขึ้นสมอง ผลข้าง เคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคจิตเภท ยากันชักคาร์บามาซิปีน (Carba mazepine) และสารเสพติด เช่น ยาบ้า และโคเคน

  • แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็น Tics?

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Tics โดยจะดูจากอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง

  • การรักษาTicsทำอย่างไร?

การรักษา Tics ส่วนใหญ่ใช้ยาทานเป็นหลัก เช่น ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperi dol), คลอนาซีแปม (Clonazepam), คลอนิดีน (Clonidine) และร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด และการทำสมาธิ

การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา

  • การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยาคืออะไร?

การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา (Tardive dyskinesia) คือ การเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณ ใบหน้า ปาก คอ ในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคจิตเภท โดยแพทย์ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุอื่นๆได้

  • การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยามีลักษณะอย่างไรบ้าง?

การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยามีลักษณะได้หลายรูปแบบ ได้แก่

  1. Chorea คือ การเคลื่อนไหวแบบเร็ว ไม่อยู่กับที่ ย้ายที่ได้ พบบริเวณปาก ลิ้น คาง ริมฝีปาก อาจมีลักษณะคล้ายเคี้ยวอาหาร ดูดริมฝีปาก แลบลิ้น ลิ้นเคลื่อนที่ไปมา อ้าปาก หุบปาก และอาจพบที่นิ้ว มือ แขน อาจผงกศีรษะ ส่ายศีรษะ ขยับขา คล้ายกับท่าทางฟ้อนรำ
  2. Dystonia คือ การเกร็งหดค้าง และอยู่ในท่าผิดรูปไปจากปกติของกล้ามเนื้อที่ลำตัว แขน ขา คอ
  3. Akathisia คือ ภาวะอยู่ไม่นิ่ง ขยับไปมา
  • ใครมีโอกาสเกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา?

การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา พบบ่อยในผู้ป่วยอายุน้อย ผู้หญิง ผู้ได้ยารักษาโรคจิตเภทเป็นเวลานานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป และในผู้ใช้สารเสพติด

  • การเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยารักษาอย่างไร?

การรักษาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้าสาเหตุจากยา ที่เป็นหลัก คือ การหยุดยาที่ทานอยู่ เพราะเป็นสาเหตุของการเกิดอาการผิดปกติ อาการส่วนใหญ่จะดีขึ้นอย่างมากหลังหยุดยา แต่อาจไม่หายขาดทั้งหมด

อาการตาเขม่น

  • อาการตาเขม่นคืออะไร?

อาการตาเขม่น คือ อาการกระตุกไม่แรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆตา โดยกระตุกเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่หายได้เอง อาการตาเขม่นนี้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคย เพราะในคำพังเพยของไทยยังมีกล่าวไว้ว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่เป็นความจริง ไม่เกี่ยวกับโชคชะตา หรือใครนินทาเราทั้งนั้น

  • อาการตาเขม่นมีอันตรายหรือไม่?

อาการตาเขม่น เป็นอาการผิดปกติเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีอันตรายใดๆ ส่วนใหญ่หายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย แต่อาจทำให้มีความกังวลใจว่าเป็นอะไร

  • อาการตาเขม่นเกิดจากอะไร?

อาการตาเขม่น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองไม่มีสาเหตุ ส่วนน้อยเป็นอาการนำของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก หรือเกิดตามหลังการผ่าตัดสมอง

  • ใครมีโอกาสเกิดอาการตาเขม่น?

พบอาการตาเขม่นในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย และผู้ที่มีความเครียด เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่พอ ไม่สบาย ใช้สายตามาก นอนไม่หลับ จะมีโอกาสเกิดตาเขม่นได้ง่ายกว่าคนทั่ว ไป

  • อาการตาเขม่นต้องรักษาหรือไม่?

โดยทั่วไปแล้วอาการตาเขม่นหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องรักษา นอกจากมีอาการกระตุกรุนแรง หรือเป็นบ่อย จนรำคาญหรือกังวลใจมาก แพทย์จะให้ทานยาคลอนาซีแปม (Clo nazepam) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม ทานครึ่งถึงหนึ่งเม็ดก่อนนอน อาการมักดีขึ้น แต่ถ้าอาการไม่หายไปและ/หรือเกิดอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายเดือน อาจเป็นอาการนำของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกได้

อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า

  • อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้าคืออะไร?

อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า คือ ภาวะเกร็งกระตุกหรือเคลื่อน ไหวพร้อมกันอย่างผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าในหลายตำแหน่ง ซึ่งในภาวะปกติ กล้ามเนื้อเหล่านั้นจะเคลื่อนไหวไม่พร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อปากกับกล้ามเนื้อตาจะเคลื่อนไหวไม่พร้อมกัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นภาวะนี้ กล้ามเนื้อทั้งสอง จะเคลื่อนไหวพร้อมกัน เช่น เมื่อกระพริบตา (กล้ามเนื้อตา) ปาก (กล้ามเนื้อปาก) ก็จะเกิดการกระตุกทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ

  • อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า มีการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบไหนบ้าง?

การเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า มีหลายแบบ เช่น ปากกระตุกเวลากระพริบตา ตาปิดเวลาพูดหรือเคี้ยวอาหาร และ/หรือ น้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร (น้ำตาจระเข้) เป็นต้น

  • ใครมีโอกาสเกิดอาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า?

อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้า สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอัมพาตเบลล์ (Bell’s palsy) หรือผู้ป่วยซึ่งเคยมีอุบัติเหตุที่ใบหน้า

  • อาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดจากอะไร?

สมมติฐานการเกิด อธิบายจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial nerve) งอกเจริญผิดทิศทาง โดยพบหลังจากส่วนต้นของเส้นประสาทมีรอยโรคเกิดขึ้น จึงเกิดการงอกใหม่ที่ผิดทิศทางของเส้นประสาท คือ ส่วนที่ต้องไปเลี้ยงตา ก็มีการงอกไปที่ปาก ที่แก้ม เช่นเดียวกับเส้นประสาทส่วนปากก็ไปเลี้ยงส่วนตา และ/หรือ ต่อมน้ำตาด้วย จึงเกิดอาการผิดปกติขึ้น เปรียบให้เห็นชัดเจน คือ การที่กิ่งไม้ถูกตัดออก และหลังจากนั้นมีการงอกใหม่ของกิ่งไม้ ที่แตกกิ่งก้านสาขามากกว่าเดิม

  • การรักษาอาการเคลื่อนไหวด้วยกันของกล้ามเนื้อใบหน้าควรทำอย่างไร?

การรักษา ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าอาการรุนแรง หรือ กังวลรำคาญ ก็อาจใช้ยาทานคลอนาซีแปม (Clonazepam) หรือฉีดยาโบทูไลนุม ทอกซิน (Botuli num toxin หรือ Botox)

ภาพรวมทุกอาการ ทุกโรคของใบหน้ากระตุก/อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า

  • เมื่อมีอาการกระตุกของใบหน้า เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เสมอ เมื่อมีอาการผิดปกติที่รุนแรง หรือกังวลใจ แต่ถ้า

  • มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ใบหน้าร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ปวด ใบหน้า
  • หรือมีความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น ควรต้องรีบพบแพทย์เสมอ
  • แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการกระตุกของใบหน้าอย่างไร?

แพทย์จะวินิจฉัยโดย ดูจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจตำแหน่งที่เกิดอาการ และในบางรายที่มีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ทำให้สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมอง ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และ/หรือ สนาม แม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง เป็นต้น

  • อาการใบหน้ากระตุกทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง? เป็นสาเหตุให้เกิดอัม พาตใบหน้าไหม?

กรณีใบหน้ากระตุกเพียงอาการเดียว โดยทั่วไปไม่มีอันตราย มีแต่ความรำคาญที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีการกระตุก ร่วมกับมีความผิดปกติอื่นๆ และ/หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การพบแพทย์) ที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ (ขึ้น กับสาเหตุ) และอาจก่อให้เกิดอัมพาตใบหน้าได้

  • เมื่อมีใบหน้ากระตุก ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ดูแลตนเองนั้น ไม่ยุ่งยาก คือ พยายามพักผ่อน ผ่อนคลาย นวดบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตา หรือ ตำแหน่งที่กระตุกเบาๆ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆเพิ่มเติม และ/หรืออาการรุน แรงขึ้นมากกว่าเดิม ก็ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ

  • ป้องกันใบหน้ากระตุกได้ไหม?

อาการใบหน้ากระตุกเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนั้น จึงแนะนำให้ผ่อนคลายความเครียด และรักษาอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ

สรุป

ผมหวังว่า ผู้อ่านคงสบายใจขึ้นนะครับ เพราะอาการเคลื่อนไหวผิดปกติชองใบหน้า/ใบ หน้ากระตุกที่พบบ่อยๆนั้น ไม่มีอันตรายใดๆ และที่สำคัญมักไม่เกี่ยวข้องกับโรคอัมพาตหรือเนื้องอกสมอง