ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) เป็นยาที่นำมาบำบัดรักษาโรคลมชัก, รักษาอาการถอนพิษจากสุรา, รักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า, โรคปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย) ซึ่งมักมีอาการ ปวดกราม ปวดคอ หู ลิ้น และกล่องเสียง, ปวดจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน, รักษาโรคเบาจืด, รักษาอาการคลุ้มคลั่ง, ป้องกันภาวะอารมณ์ซึมเศร้า, และโรคอารมณ์แปรปรวน นับว่ามนุษย์ได้ยาที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต อีกทั้งราคาไม่แพง เพียงแต่รู้วิธีใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัยก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

หลังจากผู้ป่วยรับประทานยาคาร์บามาซีปีนเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะจับกับโปรตีนถึง 75% อวัยวะตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 26 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยาคาร์บามาซีปีน 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาคาร์บามาซีปีนนี้จัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย มีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้รวมกันหลายประการ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้แนะนำและสั่งการใช้ยาที่ปลอดภัยกับผู้ป่วยแต่ละราย

ยาคาร์บามาซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาคาร์บามาซีปีน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาคาร์บามาซีปีน เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการของโรคลมชัก
  • รักษาอาการถอนพิษจากสุรา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอลกอฮอล์และระบบประสาท)
  • บรรเทาอาการโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า, ปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย)
  • บรรเทาอาการปวดปลายประสาทอันมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน)
  • รักษาและบำบัดอาการของโรคเบาจืด
  • ระงับ อาการคลุ้มคลั่ง, อารมณ์แปรปรวน, อารมณ์ซึมเศร้า

ยาคาร์บามาซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์บามาซีปีน คือ ตัวยาจะลดการตอบสนองของปลายประ สาทจากตัวกระตุ้น และทำให้เส้นประสาทหยุดตอบสนองถึงแม้จะถูกกระตุ้นซ้ำๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า) และคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย) ซึ่งด้วยกลไกดังกล่าว ยานี้จึงแสดงฤทธิ์ยับยั้งอาการของโรคลม ชัก, ลดอาการปวดจากปลายประสาทบางคู่ที่มาจากสมอง (เช่น คู่ที่ 5, และคู่ที่ 9 ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น) ไม่เพียงเท่านี้ คาร์บามาซีปีนยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนชื่อ วาโสเพรสซิน (Vasopressin) จากต่อมใต้สมอง (พิทูอิทารี: Pituitary gland) ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวช่วยทำให้อวัยวะไต ดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงถูกนำมารักษาโรคเบาจืด

ยาคาร์บามาซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์บามาซีปีน มีจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาคาร์บามาซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคาร์บามาซีปีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 100 - 1,600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น ขนาดรับประทานให้คำนวณจากน้ำหนักตัวเด็ก โดยรับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ขนาดและระยะเวลาของการรับประทานยานี้ของผู้ใหญ่และของเด็กขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาคาร์บามาซิปีน ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับน้ำผลไม้ เพราะอาจส่งผลให้ปริมาณยาในเลือดสูงขึ้น จึงอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยานี้ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์บามาซีปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บามาซีปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์บามาซีปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาคาร์บามาซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์บามาซีปีน มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง/ โรคซีดชนิด Aplastic anemia คือ การผลิตเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงลดลง กดการทำงานของไขกระดูก ปริมาณของเกล็ดเลือดลดต่ำกว่าปกติ, หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลมากผิดปกติ, และ/หรือเกิดความผิดปกติของสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ยานี้สามารถทำให้เกิด ผื่นคัน ลมพิษ มีภาวะ Steven Johnson syndrome ผื่นผิวหนังอักเสบ และผื่นแพ้แสงแดง
  • ผลต่อหลอดเลือดหัวใจ: เช่น อาจเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการบวมที่เท้า ความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ (เช่น วิงเวียน ง่วงซึม) ใจสั่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทำงานผิดปกติ หลอดเลือดดำอักเสบ เกิดภาวะลิ่มเลือดจับตัวในหลอดเลือด
  • ผลต่อตับอ่อน: เช่น เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออกโดยเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น สามารถทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกกังวล สับสน อ่อนเพลีย การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ประสาทหลอน การพูดไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้- อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปากคอแห้ง รวมถึงกระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบการทำงานของกล้ามเนื้อลาย: เช่น ปวดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นตะคริวที่ขา
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เป็นไข้ และหนาวสั่น

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บามาซีปีนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาคาร์บามาซีปีน เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยา คาร์บามาซีปีน
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยานี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
  • ไม่ควรใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาคาร์บามาซีปีนสามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้
  • ระวังการใช้ยาคาร์บามาซีปีนในผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์บามาซีปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาร์บามาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์บามาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางกลุ่ม จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของยาเหล่านั้นในกระแสเลือดลดต่ำลง ส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลงไปเช่นกัน ตัวอย่างของยาบางกลุ่มที่กล่าวถึง เช่น

  • ยาแก้ปวด: เช่นยา Acetaminophen, Tramadol
  • ยาฆ่าพยาธิ: เช่นยา Albendazole
  • ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด: เช่นยา Alprazolam, Clonazepam, Midazolam
  • ยาต้านเศร้า: เช่นยา Amitriptyline, Nortriptyline
  • ยาสเตียรอยด์: เช่นยา Prednisolone, Dexamethasone
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่นยา Dicumarol, Warfarin
  • ยาฮอร์โมนต่างๆ: เช่นยา ยาเม็ดคุมกำเนิด, Levothyroxine

ข. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางกลุ่ม กลับส่งผลให้ปริมาณความเข้มข้นของยาคาร์บามาซีปีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาคาร์บามาซีปีนติดตามมามากขึ้น ยาบางกลุ่มเหล่านั้น เช่น

  • ยาลดกรด: เช่นยา Cimetidine, Omeprazole
  • ยาปฏิชีวนะ: เช่นยา Ciprofloxacin, Clarithromycin
  • ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา Ketoconazole, Fluconazole
  • ยาแก้แพ้: เช่นยา Loratadine, Terfenadine

ค. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางตัวที่ใช้รักษาวัณโรค สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ (ตับอักเสบ)ได้ ยารักษาวัณโรคดังกล่าว เช่นยา Isoniazid

ง. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัว สามารถทำให้ปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่นยา Furosemide และ Hydrochlorothiazide

ควรเก็บรักษายาคาร์บามาซีปีนอย่างไร

สามารถเก็บยาคาร์บามาซีปีน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาคาร์บามาซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บามาซีปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Antafit (แอนตาฟิท) Polipharm
Carbazene (คาร์บาซีน) Medifive
Carmapine (คาร์มาปีน) Pharmasant Lab
Carpine (คาร์ปีน) Atlantic Lab
Carzepine (คาร์ซีปีน) Condrugs
Mapezine (มาปีซีน) Siam Bheasach
Pantol (แพนทอล) Pharmaland
Tegretol (ทีเกรทอล) Novartis
Zeptol CR (เซพทอล ซีอาร์) Sun Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.rxlist.com/tegretol-drug.htm [2020,Nov21]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fTegretol%2f%3fq%3dCarbamazepine%2520Tablet%26type%3dbrief [2020,Nov21]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcarbamazepine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov21]
  4. https://academic.oup.com/ndt/article/25/12/3840/1864942 [2020,Nov21]
  5. https://www.drugs.com/carbamazepine.html [2020,Nov21]