โรคไต (Kidney disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ : คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคไตมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคไตมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไตได้อย่างไร?
- รักษาโรคไตอย่างไร?
- โรคไตรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- เมื่อเป็นโรคไตดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- มีการตรวจคัดกรองโรคไตไหม?
- ป้องกันโรคไตได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคไต (Kidney disease)
- ไตอักเสบ (Nephritis)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- โรคไตอักเสบในเด็ก (Pediatric nephritis)
- อาหารในโรคไต (Kidney disease diet)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- มะเร็งไต (Kidney cancer)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- โรคถุงน้ำหลายถุงในไต (Polycystic kidney disease)
- โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome)
บทนำ : คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคไต หรือ โรคของไต (Kidney disease) คือ โรคต่างๆที่เกิดจากไตทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดของเสียและ/หรือสารอาหารและ/หรือธาตุอาหารส่วนเกินซึ่งในภาวะปกติร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะโดยผ่านการกรองของไต แต่เมื่อเกิดโรคไต ไตจะทำงานลดลง จึงก่อให้เกิดการคั่งของสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ/ของเสียเหล่านั้น ส่งผลถึงการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆจนถึงเกิดเป็นภาวะไตวาย ซึ่งการที่ร่างกายกำจัดของเสียไม่ได้ เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆก็จะไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ จนในที่สุดอาจเป็นสาเหตุของการตายจากภาวะไตวายถ้าไม่ได้รับการล้างไตหรือไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โรคไต/โรคของไต แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- โรคไตเฉียบพลัน: คือโรคไตที่เกิดจากสาเหตุเฉียบพลัน ซึ่งพบได้น้อยและมักสามารถรักษาได้หายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ไตขาดเลือดจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
- และโรคไตเรื้อรัง: ที่พบได้สูงและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในปัจจุบันของทุกประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรังคือโรคต่างๆในกลุ่มโรคเอนซีดี ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด, ดังนั้นสถิติเกิดโรคไตเรื้อรังจึงขึ้นกับสถิติของโรคอื่นๆดังกล่าวด้วย, นอกจากนั้นโรคไตเรื้อรัง จะพบสูงมากขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเพราะประชากรวัยนี้มักเป็นโรคต่างๆในกลุ่มโรคเอนซีดีที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรังดังกล่าว
โรคไต/ โรคของไต พบบ่อยทั่วโลกโดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ทั่วโลกพบโรคไตเรื้อรังสูงประมาณ 10%ของประชากรทั่วโลกและเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของเกือบทุกประเทศ แต่ยังไม่มีสถิติเกิดโรคไตเฉียบพลันเพราะพบน้อยกว่าโรคไตเรื้อรังมากและมักไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข
อนึ่ง:
- โรคไตเรื้อรัง: เป็นโรคไต/โรคของไตที่พบบ่อย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง ‘โรคไต/โรคของไต’ ทั่วไปจึงมักหมายถึง ‘โรคไตเรื้อรัง’ ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบและ/หรือการขาดเลือดของเซลล์ไตอย่างถาวร
- โรคไตเรื้อรัง: มักมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากโรคเอนซีดีดังได้กล่าวแล้ว แต่ก็สามารถเกิดจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่พบได้น้อยกว่ามาก เช่น โรคนิ่วในไต, โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ, โรคไตรั่ว, โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, โรคถุงน้ำหลายๆถุง ในไต(Polycystic kidney disease), และโรคมะเร็งไต
- ส่วนโรคไตเฉียบพลัน: พบได้น้อย เช่นจาก ไตติดเชื้อแบคทีเรีย(กรวยไตอักเสบ), ไตขาดเลือดทันที (เช่น การเสียเลือดมาก), ภาวะขาดน้ำ, อุบัติเหตุที่ไต, จากแพ้ยาบางชนิด (เช่น จากยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือ การแพ้สารทึบแสง/สีที่ฉีดในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือเอมอาร์ไอ)
โรคไตมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงโรคไต/โรคของไต ได้แก่
ก. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคไตเฉียบพลัน: ซึ่งเป็นโรคพบน้อย เช่น
- ไตขาดเลือดจากร่างกายเสียเลือดมาก
- ไตได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุ
- ภาวะขาดน้ำรุนแรง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารทึบแสง/สีที่ฉีดในการวินิจฉัยโรคด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), หรือเอมอาร์ไอ, ยาสมุนไพรบางชนิด
ข.สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง: มีได้หลากหลาย ที่พบบ่อย คือ จาก
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
ค. อื่นๆ: สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบน้อยกว่า: เช่น
- โรคนิ่วในไต
- ไตติดเชื้อแบคทีเรีย (ไตอักเสบ)
- โรคออโตอิมมูน /โรคภูมิต้านตนเอง
- กินอาหารเค็มจัดต่อเนื่อง: จากเกลือโซเดียมในเลือดสูงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- โรคมะเร็ง: มักเกิดจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆลุกลาม/แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือเข้าเนื้อเยื่อต่างๆในช่องท้องและช่องท้องน้อย แล้วต่อมน้ำเหลือง/เซลล์มะเร็งที่ลุกลามฯเหล่านี้กดเบียดทับ/บีบรัดท่อไต ส่งผลให้ท่อไตอุดตันจึงเพิ่มความดันในไต ไตบวม และเซลล์ไตเสียการทำงานในที่สุด เช่น จากมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรง
- โรคทางพันธุกรรม: เช่น โรคถุงน้ำหลายถุงในไต ซึ่งส่งผลให้ไตมีการทำงานลดต่ำลงจนกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด
โรคไตมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้ในโรคไต/โรคของไต ได้แก่
ก. โรคไตเฉียบพลัน: อาการสำคัญ คือ อาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน ที่พบบ่อยเช่น
- ปัสสาวะน้อยกว่าปกติมาก
- ไม่มีปัสสาวะ
ข. โรคไตเรื้อรัง: เมื่อเริ่มเป็น จะไม่มีอาการ จะมีอาการต่อเมื่อโรคเป็นมากแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เมื่อผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จึงมักป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่รุนแรงแล้ว โดยอาการที่พบบ่อยจากโรคไตเรื้อรัง เช่น
- ปัสสาวะผิดปกติ: อาจปริมาณมาก, ปริมาณน้อย, ไม่มีปัสสาวะ, ปัสสาวะอาจขุ่น หรือใสเหมือนน้ำ, อาจสีเข้ม, เป็นฟองมาก, มีเลือดปน, และ/หรือ มีกลิ่นผิด ปกติ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- เบื่ออาหาร รสชาติอาหารแปลกไป ทั้งนี้จากผลของ ของเสียที่สะสมในร่างกายส่งผลต่อต่อมรับรสชาติและ/หรือประสาทรับรสชาติ
- คลื่นไส้-อาเจียน จากการสะสมของของเสียเช่นกันที่มีผลต่อระบบประสาทที่ควบคุมอาการนี้รวมถึงมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร
- คันโดยไม่ขึ้นผื่น จากของเสียต่างๆในเลือดก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- ซีด: เพราะปกติเซลล์ไตจะสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก ดังนั้นเมื่อเซลล์ไตเสียไป ฮอร์โมนชนิดนี้ก็ถูกสร้างลดลงไปด้วย จึงส่งผลถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกให้ต่ำลงจนเกิดโรคซีด
- มีน้ำในร่างกายมาก เพราะไตขับออกไม่ได้ จึงเกิดอาการบวม มักเริ่มที่ เท้า และรอบตาก่อน
- เมื่อเป็นมาก จะเกิดอาการของไตวาย เช่น
- สับสน
- โคม่า
- และตายในที่สุด
แพทย์วินิจฉัยโรคไตได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไต/ โรคของไตได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น ประวัติอาการ โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา ใช้สมุนไพร ต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจปัสสาวะ ที่อาจรวมถึงการตรวจเชื้อและการตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
- ตรวจเลือด ดูการทำงานของไต เช่นดูค่า สารครีอะตินีน (ย่อว่า Cr), สารบียูเอ็น (BUN), อัตราการกรองของไต(GFR), และของเกลือแร่ต่างๆ เช่น โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม , และฟอสฟอรัส
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม โดยขึ้นกับ อาการผิดปกติของผู้ป่วย, สิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจภาพไตด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- การตัดชิ้นเนื้อจากไตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคไตอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไต/โรคของไต คือ การกำจัดของเสียที่สะสมในร่างกาย/ในเลือดเพื่อให้เหลืออยู่ในเกณฑ์ที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆสามารถทำงานได้อย่างใกล้เคียงปกติที่สุด, รักษาสาเหตุ, รักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ), และการผ่าตัดเปลี่ยนไต
ก. การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย: เช่น
- การล้างไต/การฟอกไต
- การควบคุมอาหารและของบริโภคต่างๆ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง’อาหารสำหรับโรคไต’) เพื่อลดอัตราการสะสมของของเสีย
ข.การรักษาควบคุมสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น
- รักษาควบคุมโรคเบาหวาน และ/หรือโรคความดันโลหิตสูง กรณีสาเหตุเกิดจากเบาหวาน และ/หรือความดันหิตสูง
- การสลายนิ่ว หรือ ผ่าตัดนิ่วในไต กรณีสาเหตุเกิดจากนิ่วในไต
ค.การรักษาตามอาการ: คือ การรักษาอาการของแต่ละผู้ป่วยที่จะแตกต่างกันไป เช่น
- ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน กรณีมีคลื่นไส้-อาเจียน
- ให้ยาแก้คัน กรณีมีอาการคัน
ง.การผ่าตัดเปลี่ยนไต: แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนไต เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว ซึ่งในระยะรอการเปลี่ยนไต ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้จากการล้างไต/ฟอกไตเท่านั้น
โรคไตรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โรคไต จัดเป็นโรครุนแรง/การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี ทั้งไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตาม หลายสาเหตุที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุที่ป้องกันหรือลดความรุนแรงโรคลงได้อย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะกลุ่มโรคเอนซีดี ที่สำคัญ คือ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆดังกล่าวเพิ่มเติมรวมถึงความรุนแรง/การพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงได้จากเว็บhaamor.com)
อนึ่ง: เมื่อตรวจพบโรคไต/โรคของไตตั้งแต่เนิ่นๆและได้รับการรักษาทันท่วงที
- ไตวายเฉียบพลันมักสามารถรักษาให้หายได้
- ส่วนไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยชะลอการตายของเซลล์ไต ซึ่งจะช่วยชะลอภาวะไตวายได้
เมื่อเป็นโรคไตดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ และเมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรคไต/โรคของไต การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- บริโภค อาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่มต่างๆ ตามแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษา แนะนำเสมอ (อาหารสำหรับโรคไต)
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพราะโรคไตมักเป็นโรคเรื้อรังเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และมักเป็นการติดเชื้อรุนแรง รวมทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต
- รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ให้ได้ดี
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- อาการต่างๆเลวลง
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ เช่น วิงเวียนศีรษะมาก เป็นต้น
- เมื่อกังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคไตไหม?
การตรวจคัดกรองโรคไต/โรคของไตตั้งแต่ยังไม่มีอาการ คือ การตรวจสุขภาพประจำปี โดยเริ่มได้ตั้ง แต่อายุ 15 ถึง 18 ปี ด้วยการตรวจร่างกายกับแพทย์, ตรวจวัดความดันโลหิต, การตรวจปัสสาวะ, และตรวจเลือดพื้นฐานดูค่าการทำงานของไต หรือการตรวจต่างๆตามแพทย์แนะนำ
ป้องกันโรคไตได้อย่างไร?
การป้องกันโรคไต/โรคของไต คือ การกินอาหารจืด, จำกัดการกินอาหารเค็ม, และการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆอื่นๆที่ป้องกันได้ที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ ป้องกัน และ/หรือ รักษาควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้ดี โดยโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไต/โรคของไตที่รวมถึงวิธีป้องกันได้จากเว็บ haamor.com)
บรรณานุกรม
- พนัส เฉลิมแสนยากร. ไต http://haamor.com/th/ไต/ [2020,Oct31]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/community-health-outreach/information-clearinghouses/nkdep?dkrd=lgdmw0002 [2020,Oct31]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease [2020,Oct31]
- https://www.healthline.com/health/kidney-disease [2020,Oct31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_kidney_disease [2020,Oct31]