โรคโพรงเลือดดำสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด และไมเกรน ผู้ป่วยส่วนน้อยที่เกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกสมอง และจากภาวะโพรงเลือดดำในสมองอุดตัน หรือภาวะโพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis ย่อว่า CVST หรือ Cerebral venous thrombosis ย่อว่า CVT)

ภาวะนี้คืออะไร มีอาการอย่างไร เกิดจากอะไร และอันตรายหรือไม่ ต้องติดตามบทความนี้ครับ

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันคืออะไร?

โรคโพรงเลือดดำสมองอุดตัน

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน คือ ภาวะที่โพรงหลอดเลือดดำหรือโพรงเลือดดำในสมอง (Cerebral venous sinus) เกิดการอุดตันจากเกิดลิ่มเลือดในโพรงนี้ ทำให้การไหลเวียนโลหิตของโพรงนี้เป็นไปไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ซึมลง ชัก เป็นต้น

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน นี้พบน้อยมาก แต่ไม่เคยมีการศึกษาถึงความชุก/อัตราเกิดโรคที่ชัดเจน จากการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลใหญ่ 8 แห่งในประเทศไทยในเวลา 12 ปี พบเพียง 200 รายเท่านั้น โดยภาวะนี้พบบ่อยในผู้ป่วยผู้ใหญ่ อายุที่พบบ่อย คือ อายุ 30-40 ปี ในเด็กก็พบได้แต่พบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสาเหตุที่พบบ่อยมักเกี่ยวข้องการตั้งครรภ์ และการใช้ยาคุมกำเนิด

อนึ่ง โพรงเลือดดำในสมอง คือ โพรงที่มีเลือดดำอยู่ โดยโพรงนี้อยู่ในเยื่อหุ้มสมองชั้นดู รา (Dura mater) ที่หุ้มรอบๆสมอง/ขมอง มีหน้าที่รับเลือดดำจากทั้งภายในสมองและภายนอกสมอง รวมทั้งรับน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF) เพื่อนำไหลกลับเข้าสู่ระบบการไหล เวียนเลือดของร่างกาย และของ CSF ทางหลอดเลือดดำขนาดใหญ่บริเวณคอ (Internal jugular vein)

สาเหตุของภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันคืออะไร?

สาเหตุที่พบบ่อยของภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน ประกอบด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ 1. ภาวะติดเชื้อ 2. ภาวะไม่ติดเชื้อ

1. ภาวะติดเชื้อ ได้แก่

  • อุบัติเหตุที่ศีรษะและสมองอย่างรุนแรง ร่วมกับการติดเชื้อจากบาดแผล ดังกล่าว
  • ภาวะติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) และ เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • ภาวะติดเชื้อในอวัยวะรอบข้างสมอง เช่น ในโพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ), ที่ใบหน้า(เช่น มีแผลอักเสบติดเชื้อที่ใบหน้า), ในช่องหูชั้นใน (หูอักติดเชื้อ)
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

2. ภาวะไม่ติดเชื้อ ได้แก่

  • อุบัติเหตุที่ศีรษะและสมอง
  • การผ่าตัดสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • เนื้องอกสมอง
  • การนอนนานๆ
  • ในผู้ป่วยผ่าตัดสมอง
  • โรคมะเร็ง
  • ภาวะเลือดข้นจากโรคเลือด
  • ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
  • ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิด
  • ยารักษาโรคมะเร็ง เช่น ยา L-asparaginase
  • การเจาะหลอดเลือดดำใหญ่ เช่น การให้ อาหาร ยา หรือสารน้ำ
  • ภาวะผิดปกติทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้หญิงที่ใช้ยาคุม กำเนิด, ระยะหลังคลอด, ผู้ประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ, และ ผู้ป่วยโรคเลือด

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้ในภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ชัก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • การรู้สึกตัวลดลง ซึม โคม่า
  • ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น (Increased intracranial pressure) เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน ตาพร่า/ตามัว จอตาบวม (Papilledema)

ทั้งนี้ อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดเป็นแบบฉับพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ บางรายอาจมีอาการที่พบไม่บ่อย เช่น เยื่อตาบวม (Chemosis) ตาโปน (Proptosis) และการกลอกตา/ลูกตาลำบาก (Opthalmoplegia) บางรายอาจมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงทันที มีคอแข็งตึงก็ได้ ที่คล้ายกับผู้ป่วยเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองใต้ชั้นอะราชนอยด์ (Sub arachnoid hemorrhage)

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้ออาการ เช่น ชักครั้งแรกร่วมกับอาการปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นร่วมกับตาพร่า/ตามัว อาเจียน แขนขาอ่อนแรงทันที

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันวินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน โดยจะพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ เช่น อาการผิดปกติต่างๆ ประวัติกินยาต่างๆรวมทั้งยาคุมกำเนิด ประวัติอุบัติเหตุ การตรวจร่าง กาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และร่วมกับผลการตรวจภาพสมอง/ศีรษะด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันรักษาอย่างไร ?

การรักษาภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน คือ การหาสาเหตุและแก้ไข รักษาหรือหยุดสา เหตุนั้นๆ เช่น เกิดจากการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด ก็ให้หยุดยาคุมกำเนิดนั้นๆ โดยใช้วิธีคุมกำ เนิดวิธีอื่นแทน (เช่น ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือ การใส่ห่วงคุมกำเนิด) ร่วมกับการให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งกรณีทราบสาเหตุ และแก้ไขรักษาสาเหตุได้ ก็ให้ยาฯรักษานานประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าเกิดจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ก็ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต เพราะเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขรักษาได้

นอกจากนี้ คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการชัก ก็ให้ยากันชัก เป็นต้น

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน คือ อาการชัก และ แขนขาอ่อนแรง ซึ่งเมื่อแก้ไขสาเหตุให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้ว อาการเหล่านี้ก็มักจะค่อยๆดีขึ้น

นอกจากนั้น คือ ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น เลือดออกง่ายในอวัยวะต่างๆ เช่น เหงือก ผิวหนัง ก็พบได้ แต่ไม่บ่อยนัก

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดดำสมองอุดตัน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากยาคุมกำ เนิด การพยากรณ์โรคจะดี รักษาได้หายหลังหยุดยาคุมกำเนิด ในกรณีการพยากรณ์/ผลการรัก ษาได้ผลดี อาจต้องใช้เวลารักษานาน 6 เดือนขึ้นไปถึงเป็นปีได้

แต่บางสาเหตุ เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง การพยากรณ์โรคก็จะไม่ค่อยดี โดยขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง และระยะของโรคมะเร็ง รวมทั้งการตอบสนองต่อการรักษาควบคุมโรคมะเร็งด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ประมาณ 5-10%

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด ?

การดูแลตนเองที่สำคัญของผู้ป่วยภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตัน คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ทานยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด
  • ไม่ทานยาอื่นๆเพิ่มเติมจากที่แพทย์สั่งโดยไม่จำเป็น ถ้าพบแพทย์ด้วยโรคอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่า ทานยาละลายลิ่มเลือดและยาอะไรอยู่ เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระ หว่างยา
  • ต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะที่ศีรษะ เพราะเลือดจะออกได้ง่ายจากการทานยาละลายลิ่มเลือด
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ ปวดศีรษะรุนแรงขึ้น ชักซ้ำ หรือมีเลือด ออกตามที่ต่างๆ เช่น ที่เหงือก เลือดออกใต้เยื่อตา

ป้องกันภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันอย่างไร?

ภาวะโพรงเลือดดำสมองอุดตันนี้ สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุ (ที่หลีก เลี่ยงได้) ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด/ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ (เช่น เกิน 5 ปี ) ถ้าจำเป็น ควรต้องใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนขนาดต่ำๆ (ควรปรึกษาแพทย์กรณีมีความจำเป็น)
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ไฟหลังคลอด (อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง) ถ้าจำเป็นก็ต้องดื่มน้ำมากๆ
  • หลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ เช่น ออกกำลังกายหักโหม ออกแดดจัด โดยไม่มีการดื่มน้ำชดเชยเหงื่อออกอย่างเพียงพอ
  • และระวังการติดเชื้อบริเวณ ใบหน้า ช่องหู และ/หรือโพรงไซนัส