โรคเลือด (Blood Diseases)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 16 มิถุนายน 2561
- Tweet
- โรคเลือดหมายถึงอะไร?
- เซลล์เม็ดเลือดต่างๆมีหน้าที่อย่างไร?
- เม็ดเลือดมาจากไหน?
- เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอยู่ที่ใด?
- ความผิดปกติของระบบเลือดมีอาการและสาเหตุอย่างไร?
- เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเลือดอย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคเลือดอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเลือด?
- โรคเลือดพบได้บ่อยไหม? ใครเป็นโรคเลือดได้บ้าง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคเลือด?
- โรคเลือดที่พบบ่อยมีโรคอะไรบ้าง?
- โรคเลือดรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
- เมื่อเป็นโรคเลือดควรกินอาหารอะไร? มีข้อห้ามอาหารอะไรไหม?
- โรคเลือดมีผลต่อ การงาน การออกกำลังกาย การเรียน ไหม?
- ผู้ป่วยโรคเลือดตั้งครรภ์ได้ไหม?
- บรรณานุกรม
- ซีด (Paleness)
- ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
โรคเลือดหมายถึงอะไร?
โรคเลือด (Blood disease) หมายถึงโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดต่างๆ มีความผิดปกติของสารหรือความผิดปกติของปัจจัยต่อการแข็งตัวของเลือด และรวมถึงโรคมะเร็งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือด
เนื่องจากเม็ดเลือดมีทั้ง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งเกิดความผิดปกได้ทั้งนั้น ทั้งความผิดปกติในปริมาณ คือ ทั้งจำนวนมาก หรือจำนวนน้อยเกินไป และความผิดปกติในด้านคุณภาพ คือ การทำงานผิดปกติซึ่งล้วนทำให้เกิดปัญหาได้ทั้งสิ้น
สาร หรือ ปัจจัยต่อการแข็งตัวของเลือดก็เช่นกัน มีความผิดปกติได้ทั้งปริมาณและการทำงาน ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาโรคเลือด
เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆทั่วร่างกาย ความผิดปกติของระบบเลือด (ระบบโลหิตวิทยา ระบบโรคเลือด) จึงทำให้มีผลต่อร่างกายโดยรวม ในทางกลับกันความผิดปกติจากโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อ โรคไต โรคตับ ต่างมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเลือดได้เช่นกัน
เซลล์เม็ดเลือดต่างๆ มีหน้าที่อย่างไร?
หน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือด คือ
เม็ดเลือดแดง (Red blood cells) มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย และรับคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนไปขับออกที่ปอด
เม็ดเลือดขาว (White blood cells) มีหน้าที่เก็บกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีหน้าที่สร้างสารคุ้มกันโรค/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ให้แก่ร่างกาย
เกล็ดเลือด (Platelets) มีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันเลือดออกไม่หยุด หรือหยุดยาก โดยทำหน้าที่ร่วมกับสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว (Coagulation factor)
เม็ดเลือดมาจากไหน?
เม็ดเลือดต่างๆ มีต้นกำเนิดร่วมกัน โดยมาจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cells) ซึ่งการที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะมีการแบ่งตัวและมีการเจริญเติบโตจนทำหน้าที่ต่างๆได้สมบูรณ์ ต้องมีการกระตุ้นจากปัจจัยเสริมซึ่งเรียกว่า Growth factors หรือ Cytokines ที่มีมากมายหลายชนิดทำงานประสานกัน ทำให้มีการเจริญไปเป็นเซลล์ต่างๆ ในสายของเม็ดเลือดแดง ของเม็ดเลือดขาว และของเกล็ดเลือด(เปรียบเทียบได้ว่า เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นข้าวเปลือก, Growth factors หรือ Cytokines ก็เป็นปุ๋ย)
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอยู่ที่ใด?
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในคนปกติอยู่ที่ไขกระดูก (เนื้อเยื่อที่อยู่ในโพรงในกระดูก) ที่เราอาจเห็นเปรียบเทียบกับกระดูกไก่หรือกระดูกหมู ข้างนอกเป็นกระดูกแข็ง ภายในเป็นเนื้อเยื่อสร้างเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาในระยะแรกเริ่ม เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะอยู่ที่ตับ และม้าม ต่อจากนั้นเมื่อทารกในครรภ์เจริญขึ้น เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงย้ายมาอยู่ที่ไขกระดูกเป็นส่วนใหญ่
ความผิดปกติของระบบเลือดมีอาการและสาเหตุอย่างไร?
- ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง (ค่าเม็ดเลือดแดงปกติ คือ 4-6 ล้านเซลล์ ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร)
ก. ถ้ามีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
อาการของภาวะโลหิตจางไม่จำเพาะ อาจมีเหนื่อยง่าย วิงเวียน หน้ามืด ปวดศีรษะ ในเด็กอาจไม่เล่น ไม่ร่าเริง ไม่รับประทานอาหาร
สาเหตุของภาวะโลหิตจาง อาจเกิดได้จากเหตุทางพันธุกรรมคือ เป็นโรคตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจเกิดภายหลังเมื่อโตขึ้นหรือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ
1. ไขกระดูกมีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง เช่น มีปัญหาไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) แบบที่เกิดภายหลัง (Acquired aplastic anemia) เนื่องจากยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง การได้รับสารกัมมันตรังสี (เช่น จากมีอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้าปรมณู) การติดเชื้อบางอย่าง (เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด) หรือไขกระดูกฝ่อตั้งแต่กำเนิด หรือ เกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก) เป็นต้น
2. มีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี หรือเม็ดเลือดแดงแตกจากภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยตนเอง (โรคออโตอิมมูน)
3. มีการเสียเลือดไปทางใดทางหนึ่ง หรืออาจเกิดเป็นสาเหตุร่วมกัน เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวไปกดเบียดเซลล์ปกติในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง และอาจร่วมกับเสียเลือดเนื่องจากเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ
ข. ถ้ามีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี เพราะจากมีเลือดข้นหรือหนืดกว่าปกติ
อาการของคนที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ คือ จะมีหน้าแดง ตัวแดง (Plethora) ซึ่งบางครั้ง เมื่อมีเม็ดเลือดแดงมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คือ มีอาการหายใจเร็ว หัวใจโต ตับโต ตัวบวม
ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น ในเด็กแรกเกิดช่วงหนีบ (Clamp) สายสะดือช้า ทำให้เลือดจากรกเข้าสู่ตัวเด็กมากขึ้น เด็กจะมีเลือดข้น ตัวแดง หากมีปริมาณเลือดเกินจำนวนมาก เด็กอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลว และต่อมาจะมีตัวเหลืองจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงที่มากเกินเหล่านั้น
ส่วนที่เกิดจากความผิดปกติในกรรมพันธุ์ ได้แก่ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin ย่อว่า Hb หรือ Hgb, คือโปรตีนสำคัญในเม็ดเลือดแดงที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักและมีหน้าที่ในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ) ผิดปกติ ทำให้เลือดจับกับออกซิมากกว่าปกติและไม่ปล่อยออกซิเจนให้เนื้อเยื่อเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ภาวะนี้จะไปกระตุ้นให้ไตสร้างสารที่ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น
ในคนที่สูบบุหรี่จัด จะมีความผิดปกติกับเนื้อเยื่อปอด ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ไตสร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้นเช่นกัน
ภาวะมีเม็ดเลือดแดงมากขึ้นนี้ บางครั้งส่งผลให้เลือดข้นมาก ทำให้มีการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆขาดเลือดได้ เช่น หัวใจ และสมอง เป็นต้น
- ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว (ค่าปกติของเม็ดเลือดขาว คือ 4000-15 000 เซลล์ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร)
ก. มีเม็ดเลือกขาวน้อยไป โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียก นิวโทรฟิล (Neutrophil) ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และหากเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และมีไข้ร่วมด้วย จะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงทั้งแบคทีเรีย เชื้อราและไวรัส หากรักษาไม่ทันท่วงทีหรือรักษาไม่เหมาะสม กำจัดเชื้อไม่ได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการมากถึงเสียชีวิตได้
เม็ดเลือดขาวน้อยอาจเกิดจากไขกระดูกฝ่อ ทำให้สร้างเม็ดเลือดทุกชนิดไม่ได้ หรืออาจผิดปกติเฉพาะการสร้างเม็ดเลือดขาวอย่างเดียว หรืออาจเป็นผลจากการมีโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคมะเร็งอื่นๆ แพร่กระจายไปที่ไขกระดูก และทำให้เม็ดเลือดขาวปกติสร้างไม่ได้
สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ/น้อยได้บ่อยๆ ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด เพราะยาจะไปกดไขกระดูก ทำให้ลดการสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดชนิดอื่นๆลดลงด้วย แต่เม็ดเลือดขาวมักลดลงเพียงชั่วคราว (มักเกิดหลัง 7 วัน ถึง 14 วันหลังได้ยาเคมีบำบัด) หรือ
- จากการให้ยาบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด หรือยารักษาโรคกันชักบางชนิด
- การติดเชื้อบางอย่าง เช่น ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกก็ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำและเกล็ดเลือดต่ำด้วย
อาการของการมีเม็ดเลือดขาวต่ำ คือ อ่อนเพลีย มีไข้ และติดเชื้อง่าย
ข. เม็ดเลือดขาวมากเกินไป เม็ดเลือดขาวมากเกินไป มีสาเหตุได้จาก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (มีได้ทั้งเม็ดเลือดขาวต่ำ และเม็ดเลือดขาวสูง) โดยเซลล์ต้นกำเนิดเจริญเติบโตมากเกินปกติ และร่างกายไม่มีกระบวนการยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดขาวได้ และเม็ดเลือดขาวเหล่านี้มักเป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน ทำหน้าที่ไม่ได้ ผลจากการมีเม็ดเลือดขาวสูงมากซึ่งบางคนสูงหลายแสนเซลล์ ทำให้เกิดการอุดกั้นหลอดเลือดต่างๆทั่วร่างกาย เช่น อุดกั้นหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลง หรืออุดกั้นหลอดเลือดที่ปอดทำให้มีอาการหอบ เป็นต้น
เม็ดเลือดขาว อาจสูงเกินปกติได้บ้างชั่วครั้งคราวในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือมีการอักเสบเพราะเป็นกลไกปกติของร่างกายที่ต้องการเม็ดเลือดขาว มาช่วยเก็บกินเชื้อโรคต่างๆ หรือสิ่งแปลกปลอม เมื่อการติดเชื้อหายแล้ว เม็ดเลือดขาวจะกลับคืนสู่สภาพปกติ
ในกลุ่มเม็ดเลือดขาวมาก ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ มีภาวะโลหิตจาง มีเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกง่าย และจากการที่มีเม็ดเลือดขาวจำนวนมากไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ จึงอาจตรวจพบว่ามีก้อนในท้องคือ ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีเหงือกบวม อาจมีอาการ ปวดกระดูกและข้อร่วมด้วย
เม็ดเลือดขาว นอกจากจะผิดปกติที่จำนวนแล้ว อาจมีความผิดปกติในการทำหน้าที่ เช่น มีปัญหาในเรื่องการจับกินเชื้อโรคไม่ได้ ผู้ป่วยก็จะมีไข้ ติดเชื้อง่าย หรือเม็ดเลือดขาวบางชนิด (เช่น ลิมโฟไซต์/ Lymphocyte) ซึ่งทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีปัญหาติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน
- ความผิดปกติของเกล็ดเลือด
เกล็ดเลือดอาจผิดปกติได้ทั้งจำนวนและคุณภาพ ซึ่งค่าเม็ดเลือดปกติ คือ 140,000-400,000 เซลล์ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
ก. เกล็ดเลือดน้อย/ต่ำ (Thrombocytopenia) เกิดจากการสร้างเกล็ดเลือดจากไขกระดูกได้น้อย ซึ่งอาจเกิดในโรคที่สร้างเม็ดเลือดทุกชนิดน้อยลง หรือสร้างน้อยลงเฉพาะเกล็ดเลือดก็ได้ และอาจเกิดได้ตั้งแต่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเมื่อโตขึ้น เช่น จากยาบางชนิด (เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอนเสดส์/NSAIDs) จากสารเคมีบางชนิด (เช่น แอลกอฮอล์) และจากการติดเชื้อต่างๆ (เช่น การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ทำให้เกล็ดเลือดลดลงมาก)
เกล็ดเลือดน้อยอาจเกิดจากการทำลายมากจากภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งที่การสร้างปกติ ซึ่งพบได้ใน โรค Immune thrombocytopenia (ITP)
อาการ เกล็ดเลือดต่ำทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่าย และลักษณะจะเป็นจุดสีแดงคล้ายจุดยุงกัดเรียกว่า Petechiae แต่เอามือกดแล้วสีแดงไม่จางหายไป ขณะที่ยุงกัดเมื่อกด สีแดงจะจางหายไปได้ แต่เกล็ดเลือดต่ำที่จะมีเลือดออก มักมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร
ข. เกล็ดเลือดสูง เมื่อเกล็ดเลือดสูงมาก จะเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เช่น
- ในกลุ่มโรคที่เรียกว่า Essential thrombocytosis ซึ่งมีการสร้างเกล็ดเลือดมากผิดปกติ
- ในผู้ป่วยที่ตัดม้ามแล้วจะมีเกล็ดเลือดสูงได้ บางคนอาจมีเกล็ดเลือดสูงเป็นล้านเซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เนื่องจากเมื่อมีม้ามอยู่ ม้ามจะเก็บกักเกล็ดเลือดไว้จำนวนหนึ่งในม้าม หลังตัดม้ามจึงไม่มีม้ามเก็บกักเกล็ดเลือดแล้วไว้ จึงพบมีเกล็ดเลือดสูงในกระแสเลือดสูงขึ้น บางครั้งอาจทำให้หลอดเลือดอุดตันได้เช่นกัน
ค. คุณภาพของเกล็ดเลือด นอกจากความผิดปกติที่จำนวนของเกล็ดเลือดแล้ว ยังอาจพบ มีความผิดปกติที่คุณภาพ คือ มีการทำงานผิดปกติทั้งๆที่ปริมาณอาจปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะมีปัญหาเลือดออกง่าย หยุดยาก มีจ้ำเหมือนพรายย้ำตามตัว
ง. อื่นๆ บางครั้งมีความผิดปกติร่วมกันทั้งจำนวนและคุณภาพของเกล็ดเลือด ซึ่ง สาเหตุที่ทำให้เกิด ก็มีทั้งสาเหตุที่เกิดจากพันธุกรรม และสาเหตุที่เกิดภายหลัง และบางโรค มีความผิดปกติในเรื่องภูมิคุ้มกันโรคด้วย เช่นโรค Wiskott Aldrich syndrome เป็นต้น
อนึ่ง อาการเลือดออกอันเนื่องจากเกล็ดเลือด มักเกิดในบริเวณเยื่อบุ เช่น ในช่องปาก และ/หรือในโพรงจมูก เป็นต้น และ/หรือ ในบริเวณผิวหนังตื้นๆ ซึ่งทำให้เห็นเป็นจุดเลือดออกแดงๆทั่วตัว (คล้ายในโรคไข้เลือดออก) และมีจ้ำห้อเลือดง่าย
- ความผิดปกติของสารหรือปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว
ความผิดปกติของสาร/ปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว มีทั้งปริมาณน้อยลง หรือสารแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แต่ส่งผลให้มีอาการเลือดออกเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ของสาเหตุนี้ จะเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) ที่มักมีเลือดออกตามข้อ และ/หรือกล้ามเนื้อ และโรคฟอน วิลลีแบรนด์ (von Willebrand disease) มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องเลือดออกตามเยื่อบุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลือดกำเดาไหล ซึ่งอาจวินิจฉัยพลาดว่าเป็นเพียงเลือดออกเฉพาะที่ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยที่ผนังกลางของจมูกเปราะแตกง่าย
ทั้งโรคฮีโมฟิเลียและโรค ฟอน วิลลีแบรนด์ เป็นโรคทางพันธุกรรม มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็น และมีเลือดออกเป็นๆหายๆเรื้อรัง
ความผิดปกติของสาร/ปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว อาจพบเกิดตามหลังการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมีการใช้ยารักษาเพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัวกรณีที่เกิดลิ่มเลือดทั่วตัวร่วมด้วย (Disseminated intravascular coagulation) หรือเกิดตามหลังโรคตับ เพราะตับเป็นอวัยวะสำคัญที่สร้างสารช่วยให้เลือดแข็งตัว
ในภาวะที่มีการทำงานของสารแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากผิดปกติ (Hypercoagulability) หรือปัจจัยที่ทำให้มีการสลายลิ่มเลือดตามธรรมชาติ (Natural anticoagulant) ลดลง ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือเกิดจากการสูญเสียสารที่จะช่วยสลายลิ่มเลือดออกไปกับปัสสาวะมากขึ้น เช่น ในโรคไต ชนิด เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic syndrome) ก็ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดมากเกินปกติได้
อนึ่ง อาการที่เกิดจากความผิดปกติของเกล็ดเลือดและของสาร/ปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว คือ
- เลือดออกง่าย และหยุดยาก ถ้ามีปริมาณ/จำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ หรือคุณภาพเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของสารหรือปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว
- หลอดเลือดดำอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) เมื่อมีปริมาณเกล็ดเลือดสูงเกินปกติ
สรุป อาการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคเลือด ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง เวียนศีรษะ หน้ามืด/เป็นลมง่าย ปวดศีรษะ ในเด็กจะมีอาการหงุดหงิด ไม่รับประทานอาหาร
อาจมีปัสสาวะสีโคล่า แสดงถึงการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด
อาจมีอาการเลือดออกตามที่ต่างๆ หรือมีจุดเลือดออกตามตัว มีจ้ำเลือด/ห้อเลือดตามผิวหนังง่ายทั้งๆที่ไม่ได้ถูกกระแทก อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด หรืออาจมีเลือดออกในสมอง (โรคหลอดเลือดสมอง)
นอกจากนี้ คือ คลำได้ก้อนในท้อง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ และ/หรือร่วมกับปวดกระดูก
เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
เมื่อมีอาการสำคัญ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
แพทย์วินิจฉัยโรคเลือดอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเลือดจาก การสอบถามประวัติอาการ ตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจว่าส่วนประกอบของเลือดส่วนใดผิดปกติ เช่น การตรวจเบื้อต้นด้วยการตรวจซีบีซี (CBC) ซึ่งจากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจซีบีซี จะเป็นแนวทางให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติมในสิ่งที่จำเป็นในการวินิจฉัย
แพทย์ มักจะตรวจดูสเมียร์ (Smear) เลือด คือ ใช้เลือดหยดใส่แผ่นสไลด์/Slide/แผ่นแก้วบางๆ เกลี่ยให้เลือดบาง แล้วย้อมสีพิเศษ ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจากลักษณะที่เห็น ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด จะช่วยแพทย์วินิจฉัยได้เพิ่มขึ้น
จากนั้น แพทย์อาจเจาะตรวจไขกระดูก หากสงสัยว่าความผิดปกตินั้นเกิดจากการสร้างเม็ดเลือดต่างๆของไขกระดูก หรือหากมีการทำลายเม็ดเลือดต่างๆมาก ไขกระดูกจะสร้างเซลล์ต่างๆมากขึ้นมาทดแทน การตรวจซีบีซี การตรวจสเมียร์เลือดและตรวจไขกระดูก จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องขึ้น และจากการตรวจไขกระดูกแพทย์อาจพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และ/หรือเซลล์ผิดปกติอื่นๆในไขกระดูก ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆได้
แพทย์ อาจตรวจเลือดอื่นๆเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค เช่นตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน หรือตรวจดีเอ็นเอ (DNA)ในกรณีที่สงสัยโรคธาลัสซีเมีย ตรวจเอนไซม์จีซิกพีดี หากสงสัยว่า ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี หรือแพทย์อาจตรวจดูระบบการแข็งตัวของเลือด และสาร/ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดหากมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
แพทย์รักษาโรคเลือดอย่างไร?
เนื่องจากโรคเลือดมีมากมายหลายโรค ดังนั้นหลังจากแพทย์วินิจฉัยได้หรืออาจก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยได้ แพทย์อาจให้การรักษาประคับประคองตามอาการล่วงหน้าไปก่อน เช่น หากมีภาวะโลหิตจาง แพทย์จะให้เลือด หากเกล็ดเลือดต่ำมากและมีเลือดออก แพทย์จะให้เกล็ดเลือด หรือหากมีความผิดปกติของสาร/ปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจให้สาร/ปัจจัยช่วยให้เลือดแข็งตัวที่ได้จากน้ำเหลืองของเลือด (Plasma) หรือที่ทำสำเร็จรูป เป็นต้น
และหากพบสาเหตุ แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น การหยุดยาต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเลือด?
เมื่อมีอาการที่สงสัยว่า เป็นโรคเลือด ควรรีบพบแพทย์ และหากแพทย์แนะนำการรักษา ควรปฏิบัติตาม หากมีข้อสงสัย ควรซักถามแพทย์ให้เข้าใจ และพบแพทย์ตามนัดเสมอ
หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นก่อนวันนัด ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ อย่าเกรงใจหรือกลัวว่าจะถูกดุ เพราะหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น การรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ
หากมีเลือดออกง่าย ต้องระวังเลือดออกมากขึ้น เช่น การใช้มีด หรืออุบัติเหตุต่างๆ และต้องระวังการทำหัตการต่างๆที่เสี่ยงต่อเลือดออก เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำหัตการนั้นๆเสมอ
โรคเลือดพบได้บ่อยไหม? ใครเป็นโรคเลือดได้บ้าง?
เนื่องจากโรคเลือดมีหลายชนิด และมีสาเหตุแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นสาเหตุทางพันธุกรรม หรือเป็นโรคที่เกิดภายหลัง ทุกคนจึงมีโอกาสจะเป็นโรคเลือดได้
โรคเลือดบางอย่างพบบ่อย เช่น โรคธาลัสซีเมีย พบผู้ที่เป็นโรคประมาณ 1% ของประชากรทั่วโลก แต่บางโรคพบนานๆครั้ง เช่น โรคฮีโมฟิเลีย
ส่วนภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นปัญหาของโลก โดยเฉพาะในประเทศยากจนที่มีคนขาดอาหารมาก ในประเทศไทยพบน้อยลงมากแต่ยังพบในคนที่เลือกกินอาหาร ไม่กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคเลือด?
ในโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเลือด หรืออาจไม่เป็นโรคแต่มีความผิดปกติแฝงอยู่ที่เรียกว่าพาหะโรค จะมีโอกาสเป็นโรคเลือดได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรค หรือเป็นพาหะ เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย (ภาวะโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง ท้องโตเพราะตับม้ามโต หน้าตาเปลี่ยน) พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- โรคฮีโมฟิเลีย (มีปัญหาเลือดออกง่ายหยุดยาก มักมีเลือดออกตามข้อ) ส่วนใหญ่พบในผู้ชาย
- โรค ฟอน วิลลีแบรนด์ (มีปัญหาเลือดออกผิดปกติ) พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
- ส่วนโรคเลือดที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่มีการไหลเวียนของเลือดไม่ดี เช่น ผู้ที่นั่งหรือนอนในท่าเดียวนานๆ เช่น หลังผ่าตัด หรือ นั่งเครื่องบินในที่แคบไม่ได้ขยับนานๆ พวกที่สูบบุหรี่ โรคอ้วน หรือผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ผู้ที่มีเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ หรือผู้ที่มีสารต้านการแข็งตัวของเลือดต่ำกว่าปกติที่เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แก่ขาดโปรตีน-ซี (Protein C) โปรตีน-เอส (Protein S)เป็นต้น
โรคเลือดที่พบบ่อยมีโรคอะไรบ้าง?
โรคเลือดที่พบบ่อยในกลุ่มโลหิตจาง ได้แก่ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคธาลัสซีเมีย ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
โรคเลือดที่พบบ่อยในกลุ่มเลือดออก ได้แก่
- ภาวะเลือดออกตามหลังการติดเชื้อต่างๆ
- ภาวะเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติที่ไม่ใช่เหตุทางกรรมพันธุ์ร่วมกับมีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง เรียกว่าโรคเอพีดีอี (APDE-Acquired platelet dysfunction with eosinophilia)
- โรคเกล็ดเลือดต่ำจากเหตุภูมิคุ้มกันที่เรียกไอทีพี( Immune thrombocytopenia)
- โรคมะเร็งทางโรคเลือด ที่พบบ่อย คือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคเลือดรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
โรคเลือด มีอาการแตกต่างกันตามชนิดของโรคเลือด ตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์มีมาก ผลการรักษาในปัจจุบันดีกว่าในอดีตมาก เช่น
ภาวะขาดธาตุเหล็ก รักษาไม่ยาก เช่น สาเหตุจากไม่ได้สารอาหารครบถ้วน ก็ให้ยาธาตุเหล็กเสริม แนะนำการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง สาเหตุจากการเสียเลือดเรื้อรัง หรือจากพยาธิ ก็รักษาสาเหตุ และให้ยาธาตุเหล็กเสริม เป็นต้น
โรคธาลัสซีเมีย ปัจจุบันการให้เลือดทำได้ดีขึ้น มีการพัฒนายาขับธาตุเหล็กดีขึ้นมากเนื่องจากภาวะธาตุเหล็กเกินทำให้อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ต่อมไร้ท่อผิดปกติ ในโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
- มีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดซึ่งมีการพัฒนาได้ผลดีขึ้นมาก
- และการรักษาโดยการเปลี่ยนยีน/จีน (Gene therapy) ในธาลัสซีเมียทำสำเร็จตั้งแต่ ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) ขณะนี้ทำไป 2 รายแล้ว และกำลังมีการวิจัยพัฒนาให้ได้ผลดีขึ้น
ขณะที่การควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ก็มีการพัฒนาเทคนิคให้การวินิจฉัยได้แม่นยำ และเป็นชนิดที่ไม่ทำให้ผู้ถูกตรวจเจ็บปวดมาก (Non invasive technique)
โรคเลือดออกผิดปกติต่างๆ ก็มีการพัฒนาการรักษาดีขึ้นมาก
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปัจจุบันมีโอกาสรักษาหายสูงขึ้นโดยการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับรังสีรักษา และยังมีการรักษาที่เรียก Targeted therapy (ยารักษาตรงเป้า)ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
นอกจากนี้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาโรคเลือดบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดขาวเอแอลแอล ก็มีการพัฒนาได้ผลดีขึ้นมาก
เมื่อเป็นโรคเลือดควรกินอาหารอะไร? มีข้อห้ามอาหารอะไรไหม?
โดยปกติโรคเลือดทั่วไป กินอาหารได้ปกติ ไม่มีข้อห้าม ยกเว้นโรคธาลัสซีเมียซึ่งมีธาตุเหล็กเกินจากการที่ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากทางเดินอาหารมากขึ้นและจากกการรักษาด้วยการให้เลือด ควรงดอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เลือดสัตว์ แต่คนที่ขาดธาตุเหล็กให้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ
ผู้ที่มีเลือดออกง่ายหยุดยาก เมื่อมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเยื่อบุใบปาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งมาก ที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ และมีเลือดออกง่าย
โรคเลือดมีผลต่อ การงาน การออกกำลังกาย การเรียนไหม?
ในโรคที่มี ภาวะซีดมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย ทำให้ทำงานหรือออกกำลังไม่ได้เท่าคนปกติ เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย แต่การรักษาโรคธาลัสซีเมียในปัจจุบันการให้เลือดทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี ทำงานได้เหมือนคนปกติ อาจต้องไปให้เลือดเดือนละครั้ง หากผู้จ้างงานอ่านพบเรื่องนี้กรุณาให้ความอนุเคราะห์ผู้ป่วยและบอกเพื่อนๆของท่านให้อนุเคราะห์ผู้ป่วยด้วย ท่านจะได้คนดีมาทำงานเพราะผู้ป่วยเขาจะซาบซึ้งในความกรุณาของท่านและตั้งใจทำงานมาก ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ผู้เขียนรักษาอยู่ปัจจุบันมีทั้ง เรียนแพทย์ วิศวกรรม เภสัชกรรม นิติศาสตร์ บัญชี วิทยาศาสตร์ผลการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนผู้ที่มีปัญหาเลือดออกง่าย ก็ทำงาน หรือออกกำลังที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่นไม่เล่นกีฬาพวกฟุตบอล รักบี้ หรือวิ่งแข่ง แต่ไปเล่นกีฬาว่ายน้ำแทน เครื่องเล่นตั้งแต่เล็กๆก็เลือกที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โต๊ะ ตู้ เฟอร์นิเจอร์ ควรลบเหลี่ยมคมออก เพราะช่วงเด็กหัดเดินอาจเดินชน
คุณครูที่โรงเรียนควรเข้าใจเรื่องโรคที่เด็กเป็น ให้กำลังใจเขา อย่าให้เพื่อนล้อ หากิจกรรมที่เหมาะสมให้เด็กทำขณะที่เพื่อนคนอื่นไปเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บสำหรับเขา ให้เขามีจุดยืนในสังคม ไม่แปลกแยก เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพมากคนหนึ่ง ส่วนเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในขณะที่มีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
อาจมีอาการ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กินอาหารน้อยลง/เบื่ออาหาร มีเม็ดเลือดขาวต่ำก็ให้พักอยู่บ้าน อย่าเพิ่งไปในที่ที่มีคนมากเพราะมีโอกาสได้รับเชื้อโรคและติดเชื้อง่าย หากอยู่ในช่วงที่ลดชนิดยา ก็ให้ไปโรงเรียนได้ แต่ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก/หน้ากากอนามัยเพื่อระวังการได้รับเชื้อจากคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ทางโรงเรียนทราบถึงโรคที่ลูกเป็น และอย่าเพิ่งเคี่ยวเข็ญกับเรื่องเรียนมากเกินไป ให้เข้าใจว่าการไปโรงเรียน เพียงเพื่อให้เด็กได้มีเพื่อน มีสังคม ช่วยในด้านจิตใจให้ดีขึ้น
ผู้ป่วยโรคเลือดตั้งครรภ์ได้ไหม?
ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคเลือดหลายโรคมีบุตรได้ เช่น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ที่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่รักษาหายแล้ว
แต่การจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพราะมีหลายประเด็นที่จะต้องคำนึงถึงว่าการตั้งครรภ์นั้นจะมีอันตรายต่อทั้งแม่และลูกไหม เช่น แม่ที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย จะต้องวางแผนการอย่างไร แม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียที่ได้รับยาขับธาตุเหล็กต้องหยุดยาก่อน แม่อาจมีภาวะโลหิตจางมากขึ้นช่วงตั้งครรภ์ อาจต้องได้รับเลือด แม่ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดต้องให้ยาชนิดใด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด ยังไม่ควรตั้งครรภ์
ดังนั้น ผู้ชายที่เป็นโรคเลือด สามารถมีบุตรได้ตามความแข็งแรงของสุขภาพ ส่วนในผู้หญิง เนื่องจากต้องมีการตั้งครรภ์ เมื่อต้องการมีบุตร จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อการวางแผนทางการรักษา ในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ และในการดูแลทารกในครรภ์ นอกจากนั้น ขณะตั้งครรภ์ ยังจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัดเสมอ
บรรณานุกรม
- Shaheen M, Broxmeyer HE. The humoral requlation of hematopoiesis. In: Hoffman R, Benz EJ, Shattil S, et al. esd. Hematology: Basic principles and practice. Philadelphia: Churchill Livingstone Elsevier. 2009. p.253-275.
- Papayannopoulou T, Migliaccio AR, Abkowitz JL, D’ Andrea AD. Biology of erytropoiesis, erythroid differentiation, and maturation. In: Hoffman R, Benz EJ, Shattil S, et al. esd. Hematology: Basic principles and practice. Philadelphia: Churchill Livingstone Elsevier. 2009. p.276-294.
- Khanna-Gupta A, Berliner N. Granulocytopoiesis and monocytopoiesis. In: Hoffman R, Benz EJ, Shattil S, et al. esds. Hematology: Basic principles and practice. Philadelphia: Churchill Livingstone Elsevier. 2009. p.295-304.
- Cantor AB. Thrombocytopoiesis. In: Hoffman R, Benz EJ, Shattil S, et al. esds. Hematology: Basic principles and practice. Philadelphia: Churchill Livingstone Elsevier. 2009. p.305-318.
- Common laboratory value http://www.aapd.org/media/Policies_Guidelines/RS_LabValues.pdf [2016,May26]
Updated 2018,May26