โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ หรือภาวะ/โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea หรือ Sleep - disordered breathing) ได้แก่ โรคที่เมื่อนอนหลับแล้วร่างกายจะเกิดความผิดปกติทาง การหายใจ หายใจได้เพียงตื้นๆหรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆตลอดทั้งคืน ก่อให้ร่างกาย/ อวัยวะต่างๆขาดออกซิเจนและเกิดการนอนไม่พอ จึงเกิดเป็นโรคหรือมีอาการผิดปกติต่างๆเกิด ขึ้นตามมาได้หลายโรค/อาการ

นอนหลับแล้วหยุดหายใจเป็นโรคพบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบได้ในผู้ชาย สูงกว่าในผู้หญิง โดยทั่วไปเป็นโรคพบในผู้ใหญ่ แต่สามารถพบในเด็กได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่ง ในสหรัฐอเมริกาในวัยกลางคนพบโรคนี้ในผู้ชายประมาณ 24% และในผู้หญิงประมาณ 9%

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจเกิดได้อย่างไร?

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ

แบ่งโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจตามสาเหตุได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. ชนิดเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea หรือเรียกย่อว่า โอเอสเอ /OSA)

2. ชนิดเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea หรือเรียกย่อว่า ซีเอสเอ/CSA)

3. และชนิดผสมโดยเป็นชนิดเกิดร่วมกันทั้งจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจและจากความ ผิดปกติของสมองส่วนกลาง เรียกว่า Complex sleep apnea หรือ Mixed sleep apnea

ก. โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea): เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือประมาณ 85% ของโรคนี้ โดยเกิดจากเมื่อนอนหลับจะมีการอุดกั้นทางเดินหายใจตอนบน (จมูก ช่องปากและ/หรือลำคอ) จากสาเหตุต่างๆส่ง ผลให้ทางเดินลมหายใจตอนบนตีบแคบ จึงส่งผลให้ร่างกายขาดอากาศ สมองก็ขาดอากาศด้วย จึงทำงานลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหายใจลดหรือหยุดการทำงาน เกิดการหายใจได้เพียงตื้นๆ หรือเกิดการหยุดหายใจ แต่เมื่อหยุดหายใจแล้วจะเกิดภาวะคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน ร่างกาย ซึ่งภาวะนี้จะย้อนกลับไปกระตุ้นสมองให้กลับมาสั่งงานอีก ผู้ป่วยจึงสะดุ้งตื่นและกลับ มาหายใจอีก วนเวียนซ้ำๆเป็นพักๆไปตลอดทั้งคืน ก่อให้เกิดการนอนหลับไม่สนิท มีการไอกระ โชกตื่นเป็นระยะๆ ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาในการหยุดหายใจอาจนานเป็นเพียงวินาทีหรือเป็นนาที รวมทั้งจำนวนครั้งที่เกิดการสะดุ้งตื่นจะถี่หรือห่างขึ้นกับความรุนแรงของสาเหตุ โดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่ 5 ครั้งไปจนถึง 30 ครั้งหรือมากกว่าต่อชั่วโมง

ข. โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea): เป็นชนิดพบได้น้อยมากประมาณ 0.4% โดยเกิดจากโรคของสมองส่วนกลาง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, หรือโรคเนื้องอกสมอง, หรือโรคมะเร็งสมอง, หรือจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่กดสมองส่วนกลาง /ยากดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ สมองจึงไม่สามารถสั่งงานได้ตามปกติโดยเฉพาะช่วงนอนหลับ รวมทั้งในการสั่งการทำงานของกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ ดังนั้นจึงเกิดภาวะผิดปกติในการหายใจ หายใจได้ตื้นๆหรือหยุดหายใจเป็นพักๆในช่วงนอนหลับ และเนื่องจากพบโรคจากสาเหตุนี้ได้น้อยมาก บทความนี้จึงจะไม่กล่าวถึงโรคจากสาเหตุนี้

ค. โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดผสม (Complex sleep apnea): พบได้ประมาณ 15% ของโรค ซึ่งอาการและการรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุของโรคเช่นเดียวกับทั้งในชนิดโรคเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจและโรคเกิดจากสมองส่วนกลาง ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในรายละเอียดในบท ความนี้เช่นกัน

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีสาเหตุ/ ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุและ/หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ได้แก่

  • อายุ: โรคนี้พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งเพศชาย และเพศหญิง จากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆทั้งของสมองและของทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงเมื่อนอนหลับ
  • เพศ: พบโรคในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง อาจเพราะลำคอของผู้ชายหนาและสั้นกว่า เมื่อเกิดการหย่อนยานของผนังลำคอ ช่องลำคอจึงตีบแคบกว่า จึงอุดกั้นทางเดินหายใจได้มากกว่า
  • น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน: เพราะเกิดไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ผนังลำคอจึงหนาและลำคอหดสั้นมากขึ้น ช่องลำคอจึงแคบลงเกิดการอุดกั้นช่องลำคอได้ง่ายขึ้น
  • คนที่คอสั้นและมีผนังลำคอหนา
  • มีความผิดปกติในรูปร่างของอวัยวะในช่องจมูกหรือในช่องปากที่ทำให้เกิดทางเดินหายใจตีบแคบผิดปกติเช่น ผนังจมูกคด มีลิ้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างและลักษณะขา กรรไกรหรือเพดานปากผิดปกติ
  • โรคเรื้อรังของโพรงจมูก: เช่น โรคภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เพราะทำให้โพรงจมูกบวมจึงอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • มีต่อมทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจจากโรคต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
  • นอนกรน
  • การสูบบุหรี่ เพราะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของลำคอ จึงมีเสมหะมากเหนียวข้น โดยเฉพาะช่วงนอนหลับ จึงอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การดื่มสุรา หรือกินยาคลายเครียด/ยานอนหลับก่อนนอน เพราะเป็นสาเหตุให้กล้าม เนื้อลำคอหย่อนยาน ช่องลำคอจึงตีบแคบลง
  • อาจจากการนั่งทั้งวันขาดการเคลื่อนไหว จึงเกิดภาวะน้ำคั่งในบริเวณขา เมื่อนอนหลับ น้ำที่คั่งเหล่านี้จะซึมกลับเข้าร่างกาย ก่ออาการบวมของทางเดินหายใจ ส่ง ผลให้ช่องลำคอตีบแคบได้
  • อาจจากโรคความดันโลหิตสูง: ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดโรคนี้จากการมีความดันโลหิตสูง ยังไม่ทราบชัดเจน
  • จากพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ คือ

  • นอนกรนเสมอและมักเป็นการกรนเสียงดัง (บางคนส่วนน้อยคนอาจไม่มีอาการนอน กรนได้)
  • นอนสะดุ้งตื่นบ่อยๆ แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว แต่รู้ได้จากคนที่นอนด้วย
  • กลางวันง่วงนอนมากโดยหาสาเหตุไม่ได้ หลับโดยไม่รู้ตัวได้เสมอ

อนึ่ง อาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น

  • ปวดศีรษะในตอนเช้าจากตอนกลางคืนขาดอากาศหายใจ
  • ปากแห้งมากเมื่อตื่นนอน จากการอ้าปากหายใจในขณะหลับเพื่อช่วยการหายใจ
  • อาจมีปัสสาวะรดที่นอน
  • อาจมีความจำสั้น ขาดสมาธิ สมาธิสั้น
  • สับสนง่าย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย และ
  • อาจซึมเศร้าง่าย

แพทย์วินิจฉัยโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การบอกเล่าอาการผู้ป่วยจากคนที่นอนด้วย
  • การตรวจร่างกาย และ
  • ที่แน่นอนคือ การตรวจด้วยเครื่องตรวจเฉพาะการวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งคือการตรวจการทำงานของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการหายใจในช่วงนอนหลับ เช่น
    • การตรวจวัดลักษณะการหายใจ
    • การทำงานของสมอง
    • การเคลื่อนไหวของลูกตา
    • การเต้นของหัวใจ
    • ความดันโลหิต
    • ปริมาณอากาศในการหายใจเข้าออก และ
    • ปริมาณออกซิเจนในเลือด
  • นอกจากนี้ อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การเอกซเรย์ดูโรคของไซนัส หรือของผนังกั้นโพรงจมูก

รักษาโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจขึ้นกับ สาเหตุและความรุนแรงของโรค

ก. ในโรคระดับที่ไม่รุนแรง: การรักษาอาจเพียง

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการนอน เช่น
    • การลดน้ำหนักตัว
    • การฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย และ
    • การนอนในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง (เอนตัว)
  • การผ่าตัดต่อมทอนซิล เมื่อโรคเกิดจากต่อมทอนซิลโต หรือผ่าตัดรักษาผนังกั้นจมูกคด เมื่อโรคเกิดจากผนังจมูกคด เป็นต้น

ข. เมื่ออาการมีระดับความรุนแรงปานกลาง: อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องเฉพาะเพื่อช่วยเพิ่มความดันอากาศช่วงนอนหลับ เพื่อช่วยให้หายใจเอาอากาศเข้าได้ในปริมาณสูงขึ้น ซึ่งลักษณะเครื่องคล้ายกับการสวมหน้ากากป้องกันควันพิษ ซึ่งอาจเป็นที่ครอบจมูกและปากหรือสวมเข้าในโพรงจมูกโดยตรง

ค. เมื่ออาการรุนแรงหรือใช้วิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล การรักษาอาจเป็นการผ่าตัดเพดานแข็งและเพดานอ่อน หรือผ่าตัดกระดูกกราม หรือการเจาะคอเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ

อนึ่ง การจะเลือกวิธีรักษาอย่างไรขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะประเมินจากสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ การล้มเหลวจากการใช้วิธีการรักษาต่างๆ และความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษาที่ผ่านมา

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีผลข้างเคียงอย่างไร? เป็นโรครุนแรงไหม?

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจจัดเป็นโรครุนแรง ถ้าช่วงระยะเวลาที่หยุดหายใจนานอาจทำ ให้เสียชีวิตได้ และการง่วงนอนมากจนนอนหลับไม่รู้ตัวในช่วงกลางวัน ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ เมื่อกำลังขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ

นอกจากนั้น ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) ที่เป็นโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น

  • โรคความดันโลหิตสูง (เป็นได้ทั้งปัจจัยเสี่ยงและผลข้างเคียง)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์/อัมพาต)

โดยผลข้างเคียงเหล่านี้ เกิดจากเมื่อร่างกายขาดออกซิเจน ร่างกายจะเกิดภาวะเครียด (Stress) ซึ่งจะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนกลุ่มที่เรียก ว่า ‘ฮอร์โมนสนองต่อความเครียด (Stress hormones)’ เช่น คอร์ติโซล (Cortisol) และนอร์เอปิเนฟรีน (Norepinephrine) ซึ่งจะส่งผลให้

  • เกิดหลอดเลือดบีบตัวเกิดความดันโลหิตสูง
  • หัวใจอาจเกิดการเต้นผิดปกติ
  • อาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในการใช้น้ำตาล (เกิดโรคเบาหวาน)
  • อาจกระตุ้นการทำงานของสมองผิดปกติ (เกิดอาการซึมเศร้า) และ
  • อาจส่งผลต่อรังไข่หรือ อัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศลดลง (ความรู้สึกทางเพศลดลง รวมทั้งมีประจำเดือนผิดปกติในผู้หญิง)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’โดยเฉพาะเมื่อง่วงนอนมากตอนกลางวัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่สังเกตเห็นการนอนหลับผิดปกติของผู้ป่วย ควรรีบแจ้งผู้ป่วยและช่วยแนะนำผู้ป่วยรีบพบแพทย์

หลังจากพบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ รวมทั้งในการพบแพทย์ตามนัดและในการดูแลตนเอง โดยการควบคุมน้ำหนักและการปรับเปลี่ยนท่านอนดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเมื่อยังควบคุมโรคไม่ได้ ยังนอนหลับกลางวันโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ควรขับรถ และถ้าทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรควรปรับเปลี่ยนงาน

ป้องกันโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจอย่างไร?

การป้องกันโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน

ที่สำคัญอีกประการ เมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้แล้ว ควรต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงแทรกซ้อนโดย

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • การควบคุมน้ำหนักตัว
  • การออกกำลังกาย
  • การลดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งคือ อาหารหวาน อาหารเค็ม และไขมัน

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Victor, L. (2004). Treatment of obstructive sleep apnea in primary care. Am Fam Physician. 69, 561-569.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Sleep_apnea [2019,July13]
  4. https://www.helpguide.org/articles/sleep/sleep-apnea.htm/ [2019,July13]